จากกรณีนักวิจัยนกเงือกถูก “กระทิง” ขวิดจนมีอาการสาหัสนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสัตว์ระบุเป็นเรื่องผิดวิสัยของสัตว์ชนิดนี้ ซึ่งปกติจะหนีหรือหลบเลี่ยงคนเมื่อได้กลิ่น และไม่ตรงเข้าทำร้าย ยกเว้นกรณีกระทิงบาดเจ็บ รู้สึกเป็นอันตราย หรือถูกคนทำร้ายมาก่อน
จากกรณี นายกมล ป้องใหม่ ทีมวิจัยของ ศ.พิไล พูนสวัสดิ์ นักอนุรักษ์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกกระทิงขวิดจนบาดเจ็บสาหัส บริเวณพื้นที่ห่างจากหน่วยพิทักษ์เขาใหญ่ (ตะเคียนงาม) 3 กิโลเมตร ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.โป่งตากอง อ.ปากช่อง จ.นคารราชสีมา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านกระทิงได้ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่ากรณีดังกล่าวค่อนข้างผิดวิสัยของกระทิง
รศ.ดร.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โดยธรรมชาติของกระทิงแล้วเมื่อได้กลิ่นคนจะเป็นฝ่ายหนีไป และจะไม่ตรงเข้ามาทำร้ายคน ยกเว้นกรณีที่กระทิงตัวนั้นบาดเจ็บ หรือถูกคนทำร้ายและรู้สึกว่าตกอยู่ในอันตราย พร้อมทั้งเอ่ยถึงกรณีที่มีความพยายามเข้าช่วยเหลือกระทิงที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องดีแต่ก็เป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก
“คนเราอาจไม่รู้ตัว แต่กลิ่นสาบของเราที่ออกมานั้นมีสารพัดสัตว์ที่เรากินเข้าไป ทำให้เรามีกลิ่นของผู้ล่าที่เลวร้ายที่สุด บทความของคุณหมอบุญส่ง (นพ.บุญส่ง เลขะกุล) นักอนุรักษ์สัตว์ป่าก็เรียกมนุษย์อย่างเราว่า “สัตว์ร้ายสองขา” เพราะสายตากระทิงจะมองเห็นเราไม่ชัด แต่จะได้กลิ่นเราชัดเจน เมื่อได้กลิ่นจึงหนีไปไม่เข้ามาปะทะ” รศ.ดร.สมโภชน์กล่าว
ทั้งนี้ รศ.ดร.สมโภชน์ ผู้มีประสบการณ์ในการเฝ้าศึกษากระทิงในพื้นที่กล่าวว่าปกติกระทิงจะอยู่รวมฝูง และมีหลักฐานน้อยมากว่ากระทิงที่อยู่ตามธรรมชาติเข้าทำร้ายคน และโดยปกตินักวิจัยที่เฝ้าศึกษากระทิงจะไปไม่เข้าประชิดตัวกระทิง และจะระวังตัวเมื่อข่าวกระทิงเจ็บ เพราะกระทิงที่บาดเจ็บจะดุร้าย ซึ่งจากข้อมูลนักวิจัยนกเงือกที่ถูกกระทิงทำร้ายก็รู้สึกผิดสังเกต เพราะพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างห่างจาก “เขาแผงม้า” ซึ่งเป็นจุดศึกษากระทิงพอสมควร
ทางด้าน นพดล ประยงค์ นักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาชีววิทยา มหิดล ศึกษาทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องกระทิงและมีประสบการณ์ในการลงพื้นที่สำรวจกระทิง เล่าว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะกระทิงทำร้ายนักวิจัย แต่จากประสบการณ์เคยมีกระทิงบริเวณเข้าแผงม้า ที่บาดเจ็บเข้าทำร้ายคนจนเสียชีวิต 2 คน ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะกระทิงบาดเจ็บหรือตกใจ เนื่องจากทราบข้อมูลเบื้องต้นว่ามีเสียงโทรศัพท์ดัง
อย่างไรก็ดี โดยประสบการ์ณนพดลเคยเจอกระทิงในระยะใกล้บ่อยๆ แต่โดยลักษณะนิสัยของกระทิงแล้วจะชะงัก และมองดู ก่อนตัดสินใจถอยฉาก ยกเว้นกระทิงที่บาดเจ็บ และสันนิษฐานว่ากระทิงที่เข้าทำร้ายนักวิจัยนกเงือกน่าจะเป็นกระทิงโทนหรือกระทิงวัยรุ่นที่แยกตัวจากฝูง เพราะปกติเมื่อกระทิงอยู่รวมฝูงจะมีความรู้สึกปลอดภัยมากกว่ากระทิงโทนที่แยกอยู่ลำพัง
“กระทิงโทนคือกระทิงที่หากินตัวเดียว เมื่อกระทิงตัวผู้เริ่มเป็นวัยรุ่นก็จะแยกตัวออกจากฝูง จนโตใหญ่และเอาชนะผู้คุมฝูงได้ก็จะกลับเข้าฝูง ส่วนตัวเมียจะรวมอยู่เป็นฝูง กระทิงฝูงหนึ่งจะรวมตัวกันประมาณ 4-5 ตัว และจะมีตัวผู้ประมาณ 1-2 ตัว แต่บางทีก็รวมเป็นฝูงใหญ่ถ้ามีพื้นที่มากพอ” นพดล กล่าว พร้อมให้ข้อมูลอีกว่าสัตว์ป่าที่น่ากลัวและต้องคอยระวังมากที่สุดคือช้างและหมี เพราะเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยกลัวคน