xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น “ฝุ่นละออง” ทำความเข้มแดดลดลง-พืชเกษตรไม่ออกผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพแสดงการลอยตัวขึ้ยสู่ชั้นบรรยากาศของฝุ่นละอองจากการเผาป่า
นักวิจัยภูมิอากาศเขตร้อน พบความเข้มแสงอาทิตย์ในไทยมีแนวโน้มลดลง เป็นผลจากฝุ่นละออง ระบุหากลดลงไปเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ อาจทำข้าวไม่ออกรวง พืชผลเกษตรไม่ออกผล

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการสร้างเครือข่ายวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศใน 3 โครงการคือ การพัฒนาศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านแบบจำลองภูมิอากาศระดับภูมิภาค การพัฒนาศูนย์วิจัยระบบพยากรณ์อากาศรายฤดูสำหรับประเทศไทย และการพัฒนาวิชาการด้านฟิสิกส์บรรยากาศเขตร้อน โดย สกว.ให้ทุนสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ 7.5 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้งหมด 30 ล้านบาท

สำหรับโครงการศึกษาฟิสิกส์บรรยากาศ ที่รับผิดชอบโดย ม.ศิลปากร และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่ง รศ.เสริม จันทร์ฉาย จากคณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร ระบุถึงความสำคัญในการศึกษาเรื่องดังกล่าวว่า บรรยากาศโลกเขตร้อนมีความสำคัญกว่าบรรยากาศในเขตอื่นๆ คือ มีพายุรุนแรง เช่น ไต้ฝุ่นที่ฟิลิปปินส์เผชิญปีละ 20 ลูก มีฝนตกมากถึง 2,000 มิลลิเมรรต่อปี และมีความเข้มของแสงอาทิตย์สูง

“ความพิเศษคือเป็นเขตที่มีการบุกรุกป่า ใช้พื้นที่เกษตรมาก มีการเผาป่าและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมมาก ส่งผลให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจึงต้องเข้าใจกลไกคือฟิสิกส์ของเขตร้อน” รศ.ดร.เสริมกล่าว

เรื่องหลักๆ ในการศึกษาฟิสิกส์ของบรรยากาศเขตร้อนคือความเข้มของแสงอาทิตย์ ซึ่งมีการเครื่องตรวจวัดแสงอาทิตย์ทั่วประเทศ และได้ขยายไปยังลาวและกัมพูชา และกำลังจะติดตั้งที่เวียดนาม โดยอนาคตตั้งเป้าติดตั้งให้ทั่วประเทศในอาเซียนทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีเรื่องฝุ่นละออง ซึ่ง รศ.ดร.เสริม ระบุว่า พฤติกรรมของคนในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมเผาป่าและเศษวัสดุการเกษตร ทำให้เกิดฝุ่นละออง (aerosol) ที่ดูดกลืนแสงอาทิตย์ และหากแสงอาทิตย์ลดลงเพียง 5-6% จะทำให้ผลผลิตการเกษตรเสียหาย

“ผมวัดมา 20 กว่าปี พบแนวโน้มว่าความเข้มแสงอาทิตย์ลดลง 1-2 % ซึ่งเมื่อคำนวณย้อนกลับพบว่าเป็นผลจากฝุ่นละออง หากมีมากๆ จะไปกันแสงไม่ให้ลงมา หากลดลงเพียง 5-6% อาจส่งผลให้ข้าวไม่ออกรวง” รศ.ดร.เสริม กล่าว

พร้อมกันนี้ อาจารย์จาก ม.ศิลปากร ยังชี้ถึงปัญหาฝุ่นละอองว่า ภาคเหนือของไทยเจอฝุ่นละอองทุกปีจากการเผาของคนในพื้นที่เอง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านช่วยเผา ทำให้ภาคเหนือเผชิญปัญหาในช่วงเดือน ก.พ.ส่วนภาคใต้จะได้รับฝุ่นละอองในช่วง ส.ค. จากไฟป่าอินโดนีเซียที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งฝุ่นละอองจากไฟป่าดังกล่าวลอยไปไกลถึงเวียดนาม ทะเลจีนใต้ และไต้หวัน

“ส่วนปัญหาไฟไหม้บ่อขยะที่บางนา น่าจะเป็นปัญหาระยะสั้นและส่งกระทบทางด้านสาธารณสุข ที่น่าห่วงคือการเผาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี อย่างไฟป่าอินโดนีเซียและภาคเหนือของไทย กลัวว่าฝุ่นละอองจะลอยขึ้นไปชั้นสตราโตสเฟียร์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะที่ชั้นดังกล่าวไม่มีเมฆแต่มีกระแสลมแรง คร่าวนี้พัดไกลทั่วโลก” รศ.ดร.เสริมระบุ

พร้อมกันนี้ รศ.ดร.เสริม ได้ยกตัวอย่างภูเขาไฟในอินโดนีเซียระเบิดเมื่อปี 1815 เกิดฝุ่นละอองที่ไปไกลถึงยุโรป และทำให้ยุโรปหนาวทั้งปี พืชผลเกษตรเสียหาย จนในปีถัดมามีผู้เสียชีวิตจากการขาดแคลนอาหาร

ทางด้าน ผศ.ดร.จิรสรณ์ สันติสิริสมบูรณ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งดูแลโครงการสร้างแบบจำลองภูมิอากาศระดับภูมิภาค กล่าวว่า แบบจำลองภูมิอากาศระดับภูมิภาคมีบทบาทในขั้นต้นต่อแบบจำลองภูมิอากาศระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมามีการสร้างแบบจำลองระดับภูมิภาคโดยนำแบบจำลองระดับโลกมาย่อส่วน

ส่วน ดร.ดุษฎี ศุขวัฒน์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มจธ.ตัวแทนผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศรายฤดูสำหรับไทยกล่าวว่า ระบบดังกล่าวจะคาดการณ์การอากาศเป็นรายฤดู โดยเฉพาะข้อมูลฝน และเผยแพร่ข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ

“มจธ.ยังมีความร่วมมือในการพัฒนาระบบคาดการณ์อากาศกับสถาบันฟิสิกส์บรรยากาศของจีนมายาวนาน และมีโครงการที่ดำเนินการอยู่ คือการสร้างโปรแกรมฝน การพยากรณ์รายฤดูจะพยากรณ์เป็นตัวเลข ที่ผ่านมาจะรายงานเป็นโอกาสให้ผู้ใช้ต้องตัดสินใจต่อข้อมูลเอง แต่เราจะทำให้ละเอียดกว่านั้น เช่น หากมีปริมาณฝน 2 มิลลิลิตร จะมีโอกาสเป็นเท่าไร เป็นต้น” ดร.ดุษฎียกตัวอย่าง

ทางด้าน รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกว.กล่าวถึงการสนับสนุนทุนวิจัยแก่ทั้ง 3 โครงการว่า จะให้ผลงานที่สนับสนุนการพยากรณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และเสริมในสิ่งที่กรมอุตุฯ ไม่ทำ เช่น การช่วยเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูก เป็นต้น
ฟิสิกส์บรรยากาศเขตร้อน
รศ.ดร.เสริม จันทร์ฉาย






กำลังโหลดความคิดเห็น