หลังจากดำเนินกิจการด้านกระจกก่อสร้างอาคารมานาน และพบว่าในแต่ละเดือนมีเศษกระจกเหลือทิ้งหลายสิบตัน ทายาทธุรกิจจึงเกิดแนวคิดสร้างมูลค่าจากของเหลือ จนกลายเป็นหินประดับสวนที่มีกลิ่นหอมไล่ยุง
พลัฏฐ์ เลียวกิจสิริ เผยว่าเขาเป็นทายาทรุ่น 2 ของ บริษัท ไทยเทคโนกลาส จำกัด ซึ่งมีธุรกิจผลิตกระจกสำหรับอาคาร โดยแต่ละเดือนต้องซื้อกระจกมาผลิตถึง 400 ตัน และมีเศษกระจกเหลือทิ้งที่ต้องขายคืนโรงหล่อกระจกมากถึง 40 ตัน
ในฐานะผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมของบริษัท พลัฏฐ์จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากเศษกระจกดังกล่าว และแก้ปัญหาให้แก่บริษัท และพบว่ามีงานวิจัยที่นำเศษกระจกไปทำเป็นแก้วรูพรุน หรือ หินฟองน้ำสำหรับใช้ประดับสวนได้
“แก้วรูพรุนที่ได้มีความคงตัว ไม่ยุบเพราะเผาที่อุณหภูมิสูง และสีไม่ซีดเพราะผสมผงสีลงในกระจแล้วเผา แต่นอกจากใช้เป็นหินประดับแล้ว น่าจะเพิ่มฟังก์ชันอื่นๆ ที่ไม่ขัดกับสินค้า เนื่องจากเป็นหินประดับสวน หากเติมกลิ่นไล่แมลงได้ด้วยน่าจะเป็นประโยชน์” พลัฏฐ์กล่าว
ทั้งนี้ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลัฏฐ์ได้ลองฉีดกลิ่นตะไคร้หอมลงหินรูพรุน แต่กลิ่นอยู่ได้เพียง 2 สัปดาห์ จึงอยากได้วิธีที่รักษากลิ่นได้ยาวนาน ซึ่งพบว่าศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) มีเทคโนโลยีที่ช่วยกักกลิ่นได้นาน 2 เดือน จึงได้ประสานงานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจตลาดโดยให้กลุ่มร้านอาหารทดลอง พบว่าบางส่วนไม่ชอบกลิ่นตะไคร้หอม จึงเป็นโจทย์ว่าต้องพัฒนากลิ่นอื่นเติมลงไป แต่หลังจากได้ร่วมเดินทางไปแสดงนิทรรศการผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีกับนาโนเทคที่ญี่ปุ่น พบว่ากลุ่มลูกค้าต่างประเทศชื่นชอบกลิ่นตะไคร้ จึงอาจทำตลาดในต่างประเทศที่มีความต้อง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์