xs
xsm
sm
md
lg

เฟ้นหา “สมุนไพรชูโรง” โจทย์ใหญ่เวชสำอางไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างงานวิจัยเครื่องสำอางของนักวิจัยไทยจากมะขามป้อม ซึ่งสมุนไพรที่จะเป็นตัวชูโรงนั้น นอกจากมีสรรพคุณที่ดีเยี่ยม ยังต้องมี สตอรี เป็นจุดขายด้วย
เกาหลีมีโสม ออสเตรเลียมีทรีทีออยด์ พม่าบ้านใกล้เรือนเคียงมีทานาคาเป็นสมุนไพรชูโรงในเรื่องความงาม แล้วประเทศไทยที่อุดมสารพัดสมุนไพรในหม้อแกง จะดึงตัวไหนขึ้นมาเป็นตัวชูโรง เป็นโจทย์ใหญ่ที่คนในวงการกำลังเฟ้นหาคำตอบ แล้วเกณฑ์สำคัญในการคัดสรรคืออะไร

“มันต้องมีสตอรี อย่างใบบัวบกก็น่าสนใจเพราะสรรพคุณครอบจักรวาล ทั้งให้ความชุ่มชื้น ต่อต้านริ้วรอย รักษารอยไหม้ของผิวหนัง เอาไปแข่งกับบัวหิมะได้สบาย แต่จะเอาสตอรีอะไรไปขาย” รศ.ภญ.ดร.อุบลทิพย์ นิมมานนิตย์ ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนานาโนเทคโนโลยี ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) พร้อมทั้งทิ้งปมให้คิดว่า “ไหมไทย” ซึ่งมีสรรพคุณที่นำไปผลิตเป็นเครื่องสำอางได้นั้นก็น่าสนใจ และมีเรื่องราวให้บอกเล่าได้มากมาย

รศ.ภญ.ดร.อุบลทิพย์ เผยว่า ในระดับชุมชนมีการนำสารสกัดจากไหมที่เรียกว่า “กาวไหม” มาเป็นผลิตเป็นเครื่องสำอางอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ในเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย หรือสารสกัดจากน้ำมันรำข้าวก็เป็นสมุนไพรอีกอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งการนำสมุนำไพรต่างๆ เหล่านี้ไปพัฒนาเป็นเครื่องสำอาง จำเป็นต้องมีงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ช่วยสนับสนุน

ในขณะที่การเฟ้นหาสมุนไพรชูโรงในวงการเวชสำอางไทยยังดำเนินอยู่นั้น การเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพให้เครื่องสำอางด้วยนาโนเทคโนโลยีก็เกิดขึ้นมานานนับ 10 ปีแล้ว โดยผู้อำนวยการหน่วยพัฒนานาโนเทคโนโลยีระบุว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการนำสารสำคัญใส่ลงในแคปซูลระดับนาโน เพื่อให้สารสกัดจากธรรมชาติคงตัวอยู่ได้นานขึ้นและซึมสู่ผิวได้ดีขึ้น

การนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในเครื่องสำอางอาจทำให้หลายคนกังวลในเรื่องความปลอดภัย แต่ รศ.ภก.ดร.เนติ วระนุช   ผู้อำนวยการสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) อธิบายว่า อนุภาคนาโนในเครื่องสำอางมีตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อยนาโนเมตร หรือขนาด 10-9 นาโนเมตร ขณะที่ช่องว่างระหว่างผิวหนังของคนเรานั้นเล็กกว่าโดยมีขนาดระดับอังสตอม หรือ 10 -10 นาโนเมตร อนุภาคเหล่านั้นจึงไม่สามารถผ่านช่องว่างของผิวหนังลงไปได้

ในการพัฒนาเครื่องสำอางนั้นต้องได้รับการทดสอบ 2 อย่างที่สำคัญ คือ การทดสอบคุณภาพและการทดสอบการระคายเคือง ซึ่งในส่วนของการทดสอบการระคายเคืองหรือการทดสอบความปลอดภัยนั้น ทาง รศ.ภญ.ดร.อุบลทิพย์ ระบุจะทดสอบในเซลล์ทดลอง และไม่ทดสอบสัตว์เพราะไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศในแถบยุโรป เมื่อทดสอบระดับเซลล์แล้วจะทดสอบกับผิวคนโดยตรง ซึ่งผิวหนังจะมีปราการในการป้องกันสิ่งแปลกปลอมระดับหนึ่งอยู่แล้ว และเครื่องสำอางที่พัฒนาโดยมีงานวิจัยรองรับก็มีความปลอดภัยระดับหนึ่งเช่นกัน

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นเครื่องสำอางจากสมุนไพรหรือสารสกัดจากธรรมชาติ รศ.ภก.ดร.เนติ กล่าวว่า ผู้ใช้ก็มีโอกาสแพ้ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นบางคนแพ้ละอองเกสรดอกไม้ เป็นต้น ดังนั้นเครื่องสำอางทั้งจากสารเคมีและจากสารสกัดธรรมชาติจึงต้องได้รับการทดสอบเรื่องความปลอดภัย และเสริมอีกว่า เครื่องสำอางที่แม้สกัดจากธรรมชาติก็ยังต้องมีส่วนผสมของสารเคมี เนื่องจากบางอย่างไม่สามารถหาทดแทนได้
รศ.ภก.ดร.เนติ วระนุช
 รศ.ภญ.ดร.อุบลทิพย์ นิมมานนิตย์






กำลังโหลดความคิดเห็น