xs
xsm
sm
md
lg

ลาดกระบังแนะใช้ "ธูปฤาษี" แก้วิกฤตคราบน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สจล.- พระจอมเกล้าลาดกระบัง แนะใช้ดอกของต้นธูปฤาษี วัชพืชไทยมีคุณสมบัตินาโน เก็บน้ำมันได้ดีเยี่ยม

วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เสนอแนวทางแก้ปัญหาวิฤตการณ์ท่อส่งน้ำมันรั่วกลางทะเลด้วยองค์ความรู้นาโนเทคโนโลยีธรรมชาติ อันได้แก่ ฟางข้าว กากมะพร้าวกักน้ำมันเคลือบสารนาโน โดยวัสดุทางธรรมชาติ 2 ชนิดนี้ เมื่อดูดซับน้ำมันมาแล้ว จะสามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีกครั้ง

อีกคำแนะนำที่สำคัญคือดอกของต้นธูปฤาษีที่สามารถกำจัดคราบน้ำมันได้มากกว่า 1 ลิตร ด้วยดอกธูปฤาษี 100 กรัม ซึ่งปัจจุบัน ต้นธูปฤาษี เป็นวัชพีชที่มีเป็นจำนวนมากในประเทศไทย จะขึ้นตามที่รกร้าง

"คาดว่าถ้านำ 3 วัสดุนาโนทางธรรมชาติ มาผสมผสานวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการอยู่ในตอนนี้ จะสามารถช่วยให้การฟื้นฟูชายฝั่งทะเล ตลอดจน คราบน้ำมันในท้องทะเลได้อย่างรวดเร็ว โดยแนวทางดังกล่าวเป็นองค์ความรู้นาโนโนเทคโนโลยีทางธรรมชาติซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระต่อใดๆสิ่งแวดล้อม ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถหาวัสดุนาโนทางธรรมชาติดังกล่าวได้อย่างง่าย" ศ.จิติ หนูแก้ว คณบดีวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังกล่าว

ศ.จิติกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านหรือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยใช้วัสดุและอุปกรณ์นาโนเทคโนโลยี ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1.กากมะพร้าวกักน้ำมัน และ ฟางข้าวกักน้ำมันเคลือบสารนาโน

เป็นการนำฟางข้าวหรือวัสดุประเภทกากมะพร้าว นำมาผ่านกระบวนการนาโน และเคลือบสารคาร์บอน เพื่อให้ฟางข้าวสามารถกักเก็บหรือดูดซับน้ำมันได้ดียิ่งขึ้นกว่าคุณสมบัติดั้งเดิมของตัวมันเอง ทั้งนี้ฟางข้าวกักน้ำมัน เมื่อดูดซับน้ำมันมาแล้ว จะสามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีกครั้ง โดยการนำฟางข้าวหรือกากมะพร้าวที่ดูดซับน้ำมันมาแล้ว ไปตากแห้งและไปเข้าเตาเผา เพื่อแปรสภาพให้คล้ายกับถ่านหุงต้ม

2.ดอกของต้นธูปฤาษี ในการกำจัดคราบน้ำมันดิบ
ใช้ดอกธูปฤาษีปริมาณ 1 กรัม สามารถกำจัดคราบน้ำมันปริมาตร 10 มิลลิลิตร ได้อย่างหมดจดและมีประสิทธิภาพสูงมาก โดยหลังจากการใช้ดอกต้นธูปฤาษีในการกำจัด พบว่าคราบน้ำมันจะจับกันเป็นก้อนสีดำและลอยอยู่เหนือน้ำ

อย่างไรก็ตาม ยังมีวัสดุนาโนทางธรรมชาติอีกหลายชนิด ที่มีความสามารถในการดูดซับน้ำมันได้ โดยมี หลักการเลือกวัสดุในธรรมชาติเพื่อกำจัดคราบน้ำมัน ดังนี้ 1.มีขนหรือหนามเล็กๆ หรือเป็นเส้นใยฝอย ทำให้มีพื้นที่ผิวมาก 2.ไม่เปียกน้ำหรือนํ้าไม่เกาะ ทำให้ดูดซับน้ำมันได้ดี 3.มีนํ้าหนักเบาทำให้ลอยนํ้าอยู่ได้เพื่อตักไปกำจัดทิ้ง

สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์0-2329-8400 ถึง 8411 ต่อ 285, 286







กำลังโหลดความคิดเห็น