ใครๆ ก็รู้ว่า “ปุ๋ยอินทรีย์” นั้นดีต่อดินแค่ไหน แต่กว่าจะให้ผลผลิตที่ดีต้องใช้เวลานาน ต่างจากปุ๋ยเคมีที่เห็นผลได้ชัดและเร็วกว่า หากก็ต้องยอมรับถึงต้นทุนที่สูงขึ้น และการสูญเสียปุ๋ยได้ง่ายตามสภาพแวดล้อม จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาปุ๋ยที่ผสมผสานข้อดีของปุ๋ยทั้งสองชนิดไว้ด้วยกัน
“เดิมชาวบ้านใช้ปุ๋ยเคมี 100% ซึ่งแพงมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว ใช้เพียงปุ๋ยเคมีแค่ 20% ผสมกับปุ๋ยคอกอีก 80% ก็เพียงพอ และ ประสิทธิภาพยังใกล้เคียงกัน แต่ลดค่าใช้จ่ายลงถึง 50%” ดร.สุริยา สาสนรักกิจ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และหัวหน้าโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงปุ๋ย
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาปุ๋ยที่เหมาะสมต่อพืชและดินในการเพาะปลูกนั้น ดร.สุริยา เล่าว่า เริ่มจากเห็นปัญหาดินเสื่อมจากการใช้ปุ๋ยเคมี และไทยยังปุ๋ยเคมีใช้เองไม่ได้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และต้นทุนยังแพงขึ้นทุกปี อีกทั้งยังมีงานวิจัยชี้ว่าปุ๋ยเคมีทำให้ดินแข็งและมีการสูญเสียอย่างรวดเร็วจนพืชนำไปใช้ไม่ทัน จึงมองหาทางแก้ดินเสื่อมและลดค่าใช้จ่าย
“สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือการนำสิ่งของเหลือใช้ในชุมชนมาผลิตปุ๋ย ทำให้ดินร่วนซุย จากนั้นพืชก็จะดูดซับอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งตามชุมชนเขาก็เลี้ยง เป็ด ไก่ วัว ควาย ซึ่งมูลที่ได้เขาก็รู้ว่าเอามาทำปุ๋ยได้ แต่ปัญหาถ้านำปุ๋ยคอกไปใช้เลยนั้นจะเกิดวัชพืช เพราะในมูลสัตว์มีเมล็ดวัชพืชอยู่ และยังมีพยาธิ มีเชื้อโรคอยู่ด้วย เราจึงนำความรู้ไปช่วยให้เขาทำปุ๋ยหมักจากปุ๋ยคอก” ดร.สุริยา กล่าว
เมื่อได้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกที่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้ว จึงนำไปผสมกับปุ๋ยเคมี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ปุ๋ยเคมี เมื่อปุ๋ยเคมีถูกใช้หรือละลายไปหมดแล้ว ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยปรับปรุงดินทำให้พืชดูดซึมอาหารได้ดีขึ้น โดยการผสมปุ๋ยนั้นจะตามสัดส่วนความต้องการของพืช รวมถึงสภาพดินในแต่ละพื้นที่ เรียกว่าเป็น “ปุ๋ยสั่งตัด” ที่นำสารอาหารไปให้พืชอย่างตรงตามความต้องการ
โครงการดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปี 2549 ด้วยงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 278 ล้านบาท และสร้างโรงปุ๋ยทั่วประเทศทั้งหมด 317 โรง ซึ่ง วว.จะสนับสนุนในเรื่องการฝึกอบรมและทดสอบประสิทธิภาพปุ๋ย ส่วนวัตถุดิบและแรงงานในการผสมปุ๋ยเป็นสิ่งที่ทางชุมชนต้องลงทุนเอง โดยปัจจุบันมีสูตรปุ๋ยพื้นฐานสำหรับพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมันและไม้ผลต่างๆ
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแก่ปุ๋ยสั่งตัด วว.จึงได้ร่วมมือกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) นำเทคโนโลยีการเคลือบมาใช้กับปุ๋ยยูเรีย เพื่อช่วยควบคุมในการปลดปล่อยปุ๋ยแก่พืช เนื่องจากปุ๋ยเคมีส่วนหนึ่งที่หว่านให้แก่พืชนั้นจะถูกชะล้างไปตามธรรมชาติ และพืชไม่สามารถดูดซึมได้ทัน ทำให้เกษตรต้องหว่านปุ๋ยบ่อยๆ และมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
ที่สุดจึงได้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีนาโน ที่รวมคุณสมบัติของปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์และนาโนเทคโนโลยีด้วยกัน ซึ่ง ดร.สุริยา กล่าวว่า เมื่อใช้ปุ๋ยนี้ไปเรื่อยๆ จนดินดีขึ้นแล้ว การปรับให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 100% ก็จะง่าย เพราะหากเปลี่ยนให้เกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เลยนั้น ไม่อาจประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
ด้าน นางพัชรี กุลปวีณ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เสริมว่าเทคโนโลยีการเคลือบเป็นองค์ความรู้ที่เนคเทคมีอยู่แล้ว แต่นำมาปรับใช้ปุ๋ยเคมี โดยเบื้องต้นเน้นที่ปุ๋ยยูเรียซึ่งมีการสูญเสียง่ายก่อน โดยสารเคลือบที่ใช้เป็นพอลิเมอร์ที่มีรูพรุนขนาดเล็ก ซึ่งจะห่อหุ้มปุ๋ยยูเรียและค่อยๆ ปลดปล่อย ซึ่งการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้นี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยสั่งตัดที่ วว.ได้ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรด้วย