xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กเบา” ตู้คอนเทนเนอร์น้ำหนักเบาฝีมือคนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภายในโรงงานผลิตตู้คอนเทนเนอร์ของ บริษัท ช.ทวี ดอลลาเชียน จำกัด (มหาชน) ที่ จ.ขอนแก่น
ปกติตู้คอนเทนเนอร์มีน้ำหนักมากเป็นสิบตันขึ้นไป แต่ด้วยนวัตกรรมสร้างผนังตู้ที่ไม่ใช้โครงเหล็กทำให้ “บิ๊กเบา” มีน้ำหนักน้อยกว่า และยังขยายขนาดเพื่อรองรับการบรรทุกที่มากขึ้นตามมาตรฐานใหม่ก่อนเปิดอาเซียน

จากการปรับเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับตู้คอนเทนเนอร์ของกรมขนส่งเพื่อเตรีมเข้าสู่ข้อตกลงเสรีการค้าในประชาคมอาเซียน ทำให้มีการอนุญาตใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่มีความยาวมากกว่าเดิมจาก 12.5 เมตร เป็น 13.6 เมตร และบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้นจาก 45 ตัน เป็น 50.5 ตัน

อย่างไรก็ตาม การนำตู้คอนเทนเนอร์เก่ามาเพิ่มความยาวเพื่อได้ความยาวตามมาตรฐานโลก ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์มีรอยต่อ ซึ่งการใช้งานในระยะยาวจะทำให้ตู้คอนเทนเนอร์แตกได้ เนื่องจากในการขนส่งผนังตู้คอนเทนเนอร์จะถูกเขย่าตลอดเวลา

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.ทวี ดอลลาเชียน จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตตู้คอนเทนเนอร์และตู้สินค้ากล่าวว่า ทางบริษัทจึงได้พัฒนาตู้คอนเทนเนอร์ที่มีน้ำหนักเบากว่าแบบเดิมที่ใช้โครงเหล็กเป็นส่วนประกอบ

ตู้คอนเทนเนอร์ที่ออกแบบใหม่นั้นทมีชื่อว่า “บิ๊กเบา” (Big Bao) สร้างขึ้นด้วยระบบผลิตผนังแซนด์วิช โดยใช้วัสดุไฟเบอร์กลาสและโฟมเชื่อมด้วยเรซินและอัดด้วยสุญญากาศ ทำให้ได้ผนังที่มีความแข็งแรงและทนแรงกระแทกได้ 1.5 ตันต่อตารางเมตร

ตู้คอนเทนเนอร์ทั่วไปมีน้ำหนักประมาณ 10 ตัน และมากขึ้นเป็น 13 ตัน เมื่อติดตั้งระบบทำความเย็น แต่ตู้คอนเทนเนอร์ของ ช.ทวี มีน้ำหนักเหลือเพียง 7.5 ตัน ซึ่งนายสุรเดช กล่าวว่า ทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มน้ำหนักสินค้าได้มากขึ้น เทียบเท่าการขนส่งด้วยรถ 6 ล้อ

“ผนังของตู้คอนเทนเนอร์สร้างขึ้นแบบไร้รอยต่อ มีฉนวนกันความร้อนเพื่อรักษาอุณหภูมิภายใน และป้องกันอุณหภูมิจากภายนอกเข้าสู่ภายในตู้ ทำให้นำบิ๊กเบาไปใช้ได้ในทุกสภาพอากาศ” สุรเดช กล่าว พร้อมเผยด้วยว่า สายการบินในตะวันออกกลางได้เลือกใช้ตู้คอนเทนเนอร์ของทางบริษัทด้วย

ทั้งนี้ ตู้คอนเทนเนอร์น้ำหนักเบาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ภายใต้โครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุนจำนวนเงิน 650,000 บาท และเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมอันดับ 3 ประจำปี 2556 จาก สนช.








แบบหล่อผนังคอนเทนเนอร์ขนาด 15 เมตร
ขั้นตอนการหล่อผนังคอนเทนเนอร์
ขั้นตอนการอัดผนังคอนเทนเนอร์ด้วยสุญญากาศ
ผนังตู้คอนเทนเนอร์เตรียมประกอบ
 นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น