xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์การได้ยิน ดีเมด “DMED HEARING” ขยายสาขา 14 ที่หาดใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - บริษัท ศูนย์การได้ยิน ดีเมด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องช่วยฟังแบรนด์ “Dorn” และตัวแทนจำหน่ายเครื่องช่วยฟัง Widex เดินหน้าขยายสาขาให้บริการ “DMED HEARING” รองรับกลุ่มผู้มีปัญหาด้านการได้ยิน แห่งที่ 14 ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขณะเดียวกัน เตรียมเปิดให้บริการศูนย์การได้ยินในเด็ก สาขาประจำหัวเมืองใหญ่เร็วๆนี้

วันนี้ (23 ก.ค.) ผศ.นพ.สมชาย พัฒนะอเนก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ศูนย์การได้ยิน ดีเมด จำกัด หรือ “DMED HEARING” ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องช่วยฟังแบรนด์ “Dorn” และตัวแทนจำหน่ายเครื่องช่วยฟัง Widex แบรนด์ชื่อดังระบบสากล กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้เปิดให้บริการศูนย์การได้ยิน ดีเมด สาขาที่ 14 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากก่อนหน้านี้ ได้เปิดให้บริการใน จ.ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช แต่ยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการกลุ่มผู้มีปัญหาด้านการได้ยินในภาคใต้

ทั้งนี้ จากจากสถิติพบว่าประมาณ 10% ของประชากรโลก คือ กลุ่มที่มีปัญหาด้านการได้ยิน ซึ่งในประเทศไทยสถิติการมีปัญหาของคนไข้กลุ่มนี้จัดอยู่ในรูปแบบที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มการตรวจพบมากขึ้น จากวิวัฒนาการสมัยใหม่ทางการแพทย์ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้คนยุคใหม่มีปัญหาด้านการได้ยิน คือ การใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการฟังเพลงเสียงดังเกินขีดความสามารถที่หูจะรับได้ ปัญหากรรมพันธุ์ การติดเชื้อของแม่ขณะตั้งครรภ์ และการกินยาบางชนิด รวมทั้งการตั้งครรภ์ในภาวะไม่ปกติ

ซึ่งการเปิดให้บริการศูนย์การได้ยิน ดีเมด หรือ “DMED HEARING” ในหัวเมืองใหญ่ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน ตะวันออก และภาคใต้ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วขึ้น โดยการเปิดสาขาที่ 14 ก็เพื่อตอบรับกลุ่มคนไข้ที่มีอยู่มาก สังเกตได้จากคนไข้ที่เข้ามาใช้เครื่องช่วยฟังที่จำหน่ายในร้านค้าปลีกที่เปิดไปก่อนหน้า ที่สำคัญในหาดใหญ่มีกลุ่มคนไข้ในโรงพยาบาลที่ใช้เครื่องช่วยฟังของบริษัทอยู่แล้ว หากมองในแง่การตลาดทำให้เห็นจุดคุ้มทุนได้ชัด เช่นเดียวกับการเปิดสาขาในเชียงใหม่ ภูเก็ต ที่กลุ่มคนไข้เป็นชาวต่างชาติ

ผศ.นพ.สมชาย กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะเปิดบริการศูนย์การได้ยินในเด็ก เพื่อช่วยให้ผู้ปกครอง สามารถเข้าถึงการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพราะเป็นหมอหู คอ จมูก มานานกว่า 30 ปี และภรรยาก็จบ ด็อกเตอร์ด้านการได้ยิน ทำให้รู้ว่าในทุกจังหวัดมีเด็กเล็กที่ได้รับการตรวจคัดกรองในเบื้องต้นเกี่ยวกับการได้ยินแล้วไม่ผ่าน ขณะที่จุดตรวจก็มีไม่มากนัก ผู้ปกครองจึงต้องพาลูกไปตรวจยังสถาบันต่างๆ แต่ยังไม่ครบวงจรทำให้ต้องเสียเวลาเดินทาง

ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะเปิดบริการศูนย์การได้ยินในเด็กแบบครบวงจร ในศูนย์ต่างๆ ที่อยู่ในหัวเมืองใหญ่ก่อน และจะเข้าไปดูแลเรื่องการรักษา ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นในลักษณะการนัดหมายล่วงหน้าเพื่อจัดสรรเวลาในการเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ อย่างทั่วถึง

ขณะที่แผนการประชาสัมพันธ์เพื่อให้กลุ่มคนไข้ทั้งชาวไทย และต่างชาติ ได้รู้จักศูนย์มากขึ้นนั้น จะลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ในนิตยสารที่เผยแพร่ในสายการบินต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนไข้มากยิ่งขึ้นด้วย

ผศ.นพ.สมชาย กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้ร่วมกับศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ ผลิตเครื่องช่วยฟังแบบทัดหู และรุ่นในรูหู รวมทั้งแบบกล่องแบรนด์ “Dorn” จนเป็นที่รู้จักของกลุ่มผู้มีปัญหาด้านการได้ยินในประเทศแล้ว เร็วๆ นี้จะผลิตเครื่องช่วยฟังในรูปแบบ mini pocket aids ที่มีราคาจำหน่ายเพียงเครื่องละ 5,000 บาท เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนไข้ที่มีรายได้น้อยอีกด้วย

โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา บริษัทถือเป็นผู้ผลิตที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมดีเด่น อันดับ 5 ประจำปี 2555 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้เครื่องช่วยฟังของบริษัทได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ใช้

ทั้งนี้ ตลาดเครื่องช่วยฟังในประเทศไทยปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท หรือคิดเป็นความต้องการใช้ประมาณ 4 หมื่นเครื่องต่อปี บริษัทสามารถผลิตเครื่องช่วยฟังแบบทัดหูป้อนตลาดได้มากกว่าหมื่นเครื่องต่อปี ไม่นับรวมยอดจำหน่ายที่เกิดจากแบรนด์ Widex ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ถือได้ว่าบริษัทครองส่วนแบ่งการตลาดในส่วนนี้ได้มากที่สุดในประเทศ หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 200 ล้านบาท







กำลังโหลดความคิดเห็น