ศูนย์ข่าวศรีราชา - ศูนย์การได้ยินดีเมดพร้อมขยายศูนย์รองรับกลุ่มคนไข้ในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ หลังทำงานควบคู่กับหมอหู คอ จมูก ด้วยการให้บริการจำหน่ายเครื่องช่วยฟังในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนแล้วกว่า 10 แห่ง และยังเปิดศูนย์ในจังหวัดต่างๆ 13 แห่ง
วันนี้ (28 ม.ค.) ผศ.นพ.สมชาย พัฒนะอเนก ผู้บริหารศูนย์แพทย์หู คอ จมูก ชลบุรี และผู้บริหารบริษัท ศูนย์การได้ยินดีเมด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องช่วยฟังแบรนด์ “Dorn” และตัวแทนจำหน่ายเครื่องช่วยฟัง Widex กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของบริษัทในปี 2556 ว่า หลังจากปี 2555 เครื่องช่วยฟังแบรนด์ Dorn แบบทัดหูได้รับคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมดีเด่น อันดับ 5 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้เครื่องช่วยฟังของบริษัทได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ใช้เครื่องมือแพทย์ เพราะคนไข้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด
“ตลาดเครื่องช่วยฟังในประเทศไทยปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท หรือต้องการใช้ประมาณ 4 หมื่นเครื่องต่อปี บริษัทผลิตได้กว่าหมื่นเครื่อง ไม่นับรวมยอดจำหน่าย Widex ที่นำเข้า ถือว่าบริษัทครองส่วนแบ่งตลาดได้มากที่สุดในประเทศ หรือประมาณ 200 ล้านบาท”
ผศ.นพ.สมชายกล่าวว่า สำหรับปี 2556 บริษัทต้องการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น และจะขยายศูนย์การได้ยินดีเมดในหัวเมืองใหญ่ ทั้ง จ.อุบลราชธานี จ.อุดรธานี และ จ.เชียงราย หลังจากที่ผ่านมาได้เปิดศูนจำหน่ายเครื่องช่วยฟังในหัวเมืองใหญ่ 13 จุด และยังเปิดศูนย์ทำงานคู่กับแพทย์หู คอ จมูก ในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนกว่า 10 แห่ง เนื่องจากในประเทศไทยสถิติการมีปัญหาของคนไข้กลุ่มนี้มีแนวโน้มตรวจพบมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้คนยุคใหม่มีปัญหาด้านการได้ยิน คือ การใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งฟังเพลงเสียงดัง สังสรรค์ในที่ซึ่งมีเสียงดังเกินขีดความสามารถของหูจะรับได้เป็นเวลานาน รวมทั้งกรรมพันธุ์ การติดเชื้อของแม่ขณะตั้งครรภ์ และการที่แม่กินยาบางชนิด หรือการตั้งครรภ์ในภาวะไม่ปกติ
“สิ่งที่ผู้มีปัญหาด้านการได้ยินไม่เคยรู้จนทำให้การรักษาต้องใช้เวลานาน หรือยากต่อการแก้ไข คือไม่รู้ว่ารัฐบาลให้สิทธิเบิกค่าซื้อเครื่องช่วยฟังเป็นเงิน 1.35 หมื่นบาท ซึ่งคนไข้นำบิลไปเบิกได้ที่สำนักงานประกันสังคม แต่ด้วยความไม่รู้ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่กล้าซื้อเครื่องช่วยฟังเนื่องจากเห็นว่ามีราคาแพง ซึ่งเครื่องช่วยฟังที่บริษัทผลิตก็จำหน่ายอยู่ในราคานี้ เพื่อให้ผู้ป่วยนำไปเบิกกับรัฐบาลได้”
ผศ.นพ.สมชายกล่าวว่า ในอนาคตบริษัทมีแผนขยายโรงงานผลิตเครื่องช่วยฟังภายในพื้นที่ของศูนย์แพทย์หู คอ จมูก ชลบุรี ซึ่งขณะนี้บริษัทได้รับใบอนุญาตโรงงานขนาดย่อม ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO และได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ขั้นตอนต่อไปคือ ขอใบอนุญาตประกอบและสร้างเครื่องมือแพทย์ ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติจาก อย. คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้