xs
xsm
sm
md
lg

สนช.-TBIA-ปตท. หนุนศักยภาพ “อุตฯ พลาสติกชีวภาพไทย” เป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สนช.-สมาคมพลาสติกชีวภาพไทย-ปตท. ร่วมสนับสนุน ภายใต้แนวคิด Think Bioplastics Think Thailand
“งานประชุมสัมมนาและงานแสดงนิทรรศการนานาชาติด้านพลาสติกชีวภาพ : InnoBioPlast 2013” ที่จะจัดระหว่างวันที่ 24 - 26 มกราคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระดับนานาชาติที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมไปถึงมุมมองทางด้านการตลาด และการลงทุนของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก พร้อมนำไปสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ภายใต้คำกล่าวที่ว่า Think Bioplastics Think Thailand
ทั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) และกลุ่ม ปตท.
“กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ของประเทศไทย โดย สนช. จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ในการกำกับดูแล และประเมินผลการดำเนินงานภายใต้แผนที่นำทางแห่งชาติ “การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ” ระยะที่ 1 และ 2 (พ.ศ. 2551-2558)” รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ กล่าว และว่า
“ผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานใน 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ กลยุทธ์แรก การสร้างความพร้อมด้านวัตถุดิบ เป็นการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังไม่ต่ำกว่า 5 ตันต่อไร่ กลยุทธ์ที่ 2 การเร่งรัดและสร้างเทคโนโลยี สนับสนุนทุนวิจัย 100 ล้านบาท (80 โครงการ) กลยุทธ์ที่ 3 การสร้างอุตสาหกรรมและธุรกิจนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ ตลอดจนผลักดันผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพออกสู่ตลาด โดย สนช. ได้ให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมจำนวน 37 โครงการ (วงเงิน 25 ล้านบาท) และ กลยุทธ์ที่ 4 การสร้างโครงการสร้างพื้นฐาน เพื่อผลักดันให้เกิดศูนย์ทดสอบสมบัติการสลายตัวได้และแตกสลายทางชีวภาพได้ รวมถึงการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และมาตรการส่งเสริมเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความความพร้อมด้านศักยภาพที่จะเป็นผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพในภูมิภาค”
ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่จะนำมาแสดงในงานครั้งนี้
ทางด้าน ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เปิดเผยว่า งาน “InnoBioPlast 2013” แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนงานประชุมสัมมนานานาชาติ ที่ครอบคลุมภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในระดับโลก ทั้งความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เทคโนโลยีการผลิตและการประยุกต์ในธุรกิจพลาสติกชีวภาพ แนวโน้ม ปัญหาทางการตลาด และการลงทุน รวมถึง การเสวนาของตัวแทนจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ทั้งนี้ มีวิทยากรชื่อเสียง ระดับโลก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ประมาณ 40 ท่าน ซึ่งคาดว่าจะมีนักธุรกิจนักลงทุน และผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมพลาสติก ประมาณกว่า 400 ราย จาก 20 ประเทศทั่วโลกสนใจเข้าร่วมประชุมและสัมมนา
“สำหรับส่วน “นิทรรศการ” ประกอบด้วยการจัดแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพของบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ กว่า 29 บริษัท เช่น รถต้นแบบที่มีโครงสร้างเป็นพลาสติก Green-ABS ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม ปตท. ชุดกิโมโน และเลนส์คลอบนาฬิกาของวิทยุจากประเทศญี่ปุ่น ฐานหลอดไฟพลาสติกชีวภาพจากประเทศเกาหลีใต้ และคีย์บอร์ดจากเยอรมนี ฯลฯ และผู้เข้าร่วมงานสัมมนาจะได้รับบัตรและหน่วยความจำแบบพกพา ที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพฝีมือคนไทย โดย สนช. หวังว่าการจัดงานครั้งนี้ จะเป็นอีกทางหนึ่งในการกระตุ้น และเปิดโอกาสให้นักลงทุน นักวิจัย ผู้สนใจมองและเล็งเห็นความสำคัญของประเทศไทยในฐานะประเทศที่เป็นแหล่งวัตถุดิบและมีนโยบายส่งเสริมที่เอื้อต่อการลงทุนด้านอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในอนาคต”
คียบอร์ด ตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ ก็ใช้พลาสติกชีวภาพได้
ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ วีระถาวร นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย กล่าวเสริมว่า สำหรับส่วนของสมาคมฯ จะเน้นการประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้ในการรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัวได้ เป็นการส่งเสริมด้านการตลาด สร้างความเชื่อถือในมาตรฐานให้กับสินค้า รวมถึงการจัดสัมมนาให้เกิดการพบปะระหว่างนักวิจัย และบริษัท เพื่อให้เกิดการพัฒนาการวิจัยได้ตรงกับความต้องการของผู้ผลิตรวมถึงผู้บริโภค สร้างแนวทางและโอกาสจากความได้เปรียบของประเทศที่มีแหล่งวัตถุดิบ รวมถึงเทคโนโลยีในส่วนของปลายน้ำแล้ว เพื่อประเทศไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพในระดับเอเชียได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
“สมาคมฯ คาดหวังว่าจะทำให้เกิดการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือในการวิจัยและการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพรวมทั้งเป็นการสร้างตระหนักความสำคัญของพลาสติกชีวภาพแก่ประชาชนทั่วไป และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยด้านอุตสาหกรรม ซึ่งเรามีผู้ผลิตและขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ มีการทำงานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นการแสดงถึงความพร้อมของไทยในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านพลาสติกชีวภาพแห่งภูมิภาค”
ชวลิต ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แผนและบริหารบริษัทในเครือ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกลุ่ม ปตท. ได้มีส่วนร่วมงาน InnoBioplast 2013 เป็นครั้งที่ 2 ว่าให้การสนับสนุนทั้งด้านทุนดำเนินงาน การประชาสัมพันธ์ การจัดหาเชิญวิทยากร พร้อมร่วมจัดนิทรรศการ ซึ่งจะเป็นการนำเสนอการเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม และการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านค่าย คือ “Eco Industrial Park”
Eco Industrial Park อยู่บนหลักการของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างอุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นถ้วยกระดาษเคลือบ PBS ที่ย่อยสลายได้ 100% อย่าง Amazon Bio Cup ซึ่งจะมีใช้ในทุกสาขาของร้านคาเฟ่อเมซอน (ร้านกาแฟในปั๊ม ปตท.)ในปีนี้ ชุดโต๊ะเก้าอี้ wood composite ที่เป็นส่วนผสมของชิ้นไม้สับ (woodchip) กับพลาสติกอย่างลงตัว ลดการใช้วัสดุในการผลิตและให้ความรู้สึกเสมือนผลิตภัณฑ์จากไม้จริง และรถยนต์ต้นแบบที่มีโครงสร้างเป็นพลาสติก Green ABS”
ชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า “กลุ่ม ปตท. มีความพร้อมและศักยภาพในการเป็นหัวหอกผลักดันให้นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยฐานการผลิตเม็ดพลาสติกอย่างครบวงจรและมีเครือข่ายการตลาดของเม็ดพลาสติกครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ โดยพลาสติกชีวภาพ เป็นหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาทิ ที่บรรจุอยู่ใน Green Roadmap ที่มีเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกคาร์บอนไดออกไซด์ และการเป็นมิตรต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้สังคมไทยเป็น Low Carbon Society และเพื่อการก้าวกระโดดในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ กลุ่ม ปตท. จึงได้ร่วมกับพันธมิตรระดับโลกอย่างเช่น บริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล (ประเทศญี่ปุ่น) ลงทุนผลิตพลาสติก PBS จากน้ำตาล และบริษัท เนเจอร์เวิร์คส์ (ประเทศสหรัฐอเมริกา) สร้างโรงงานผลิตพลาสติก PLA ในประเทศไทยเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น Bio-hub ของเอเชีย”
กำลังโหลดความคิดเห็น