xs
xsm
sm
md
lg

ปั้น “นิคมฯ สีเขียว” ทางออกโรงงานอุตสาหกรรม ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำร่องนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในหลายพื้นที่ อาทิ นิคมฯ มาบตาพุด บางปู อิสเทิร์นซีบอร์ด และอมตะ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมถึงโรงงานที่อยู่ภายนอกนิคมฯ
ที่ผ่านมายังมีความเห็นที่แตกต่างกันในส่วนของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยที่ภาครัฐอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า อุตสาหกรรมเชิงนิเวศนั้น หมายถึงการพัฒนาอย่างสมดุลโดยคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หากพูดถึงนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Town) ก็คือโรงงานและชุมชนต้องอยู่ร่วมกันได้ ส่วน Eco Industrial Estate นั้น เอกชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่สามารถดำเนินการไปได้เลย ขณะที่ Eco-Town เป็นเรื่องที่รัฐต้องมีบทบาท
วิฑูรย์ สิมะโชคดี
“หากไปกำหนดว่า อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ต้องหมายถึงการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ หรือกระบวนการผลิตที่ไม่ปล่อยของเสียเลยหรือ Zero Waste นั้นก็จะทำให้นิคมฯ หรือโรงงานเก่าไม่สามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้เลย แต่หากนิคมฯหรือโรงงานใดทำได้ถึงขั้นนั้น ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี”
สุกฤตย์ สุรบถโสภณ
สอดคล้องกับฝั่งฟากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม สุกฤตย์ สุรบถโสภณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่ว่านักลงทุนจะไปลงทุนที่ใดก็ตามจะต้องยึดแนวทางอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้อุตสาหกรรมก่อผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด
แนวทางของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้องทำให้ปฏิบัติได้จริง หมายถึงเป็นที่ตั้งของโรงงานที่มีกระบวนการผลิตที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดใช้พลังงานสูงสุด ทั้งปล่อยมลพิษออกมาให้น้อยที่สุด ที่สำคัญ คือใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด ส่วนจะให้ถึงขั้นเป็น Zero Waste นั้น อาจจะเป็นเรื่องยาก
ทำนองเดียวกัน เจริญชัย ประเทืองสุขศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ไอแอล 1996 จำกัด ในเอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งเป็นนิคมฯในเขตมาบตาพุด กล่าวว่า การทำให้เป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หมายถึงเป็นอุตสาหกรรมที่ดูแลพื้นที่สีเขียว และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำกลับมาใช้ใหม่
อย่างในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุดที่ตั้งไปแล้วนั้นทางผู้ประกอบการก็พยายามปรับปรุงและดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด ทั้งการลดมลพิษ และการปลูกต้นไม้
สะท้อนความไม่ลงตัวระหว่างโรงงานกับชุมชน
แต่กลุ่มชาวบ้านยังค้างคาใจ อาทิ ยุภา ประทุมชาติ แกนนำ ชาวบ้าน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง กังวลกับแนวทางนิคมฯอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเนื่องจากกำลังมีนิคมฯ ในรูปแบบนี้เกิดนำร่องที่ อ.บ้านค่าย
เธอบอกว่า พื้นที่เกือบทั้งหมดใน อ.บ้านค่ายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและชาวบ้านที่นี้ก็เป็นเกษตรกรรม เพราะสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวยแต่ระยะหลัง อ.บ้านค่ายก็หนีไม่พ้นการรุกคืบของอุตสาหกรรม โดยบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) กำลังจะก่อสร้างนิคมฯเชิงนิเวศ และมาบอกกับชาวบ้านว่า จะเกิดนิคมฯสีเขียว ของบริษัท ซึ่งที่ตั้งของนิคมฯอยู่กลางพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติ
“ที่เรากังวล คือ อ.บ้านค่าย มีลำคลองใหญ่ไหลผ่านกลางพื้นที่เป็นเส้นเลือดสำคัญหล่อเลี้ยงชาวระยองที่อยู่โดยรอบ โดยคนบ้านค่ายทั้งอำเภอก็บริโภคน้ำจากคลองนี้ และคลองนี้ก็ไหลลงทะเลที่อำเภอเมืองระยอง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีโรงงานปล่อยน้ำเสียลงคลองแห่งนี้มาตลอด นี่คือผลเสียที่ชาวบ้านได้รับ" ยุภา กล่าว

พร้อมบอกว่า "รัฐและผู้ลงทุนควรจะมาถามชาวบ้าน ว่าอยากได้ความเจริญหรือไม่ ไม่ใช่มายัดเยียดให้เหมือนที่ผ่านมา และ คำถามของชาวบ้านก็คือ สีเขียวที่เกิดจากอุตสาหกรรมมันจะดีกว่าสีเขียวที่มีอยู่ตามธรรมชาติได้อย่างไร และอยากถามว่าใครได้รับประโยชน์จากสีที่อ้างว่าเป็นสีเขียวแบบใหม่"

ข้อสงสัยของคนในพื้นที่ คือ จังหวัดระยองเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ทำไมระยองยังคงเป็นพื้นที่ลงทุนอุตสาหกรรมหลัก จนปัจจุบันพื้นที่เกินครึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม และ นิคมฯ กำลังรุกคืบเข้าไปในทุกๆ เขตของจังหวัดนี้ รวมทั้งในพื้นที่ เรือก สวน ไร่ นา ตอนนี้พื้นที่สีเขียวของระยองที่แท้จริง ถูกนิคมและแรงงานเข้าไปรุกล้ำโดยไม่เคยมีใครฟังเสียงร้องของของชาวบ้านที่มาอยู่ดั้งเดิมซึ่งต้องการชีวิตความเป็นอยู่ท่ามกลางสีเขียวตามธรรมชาติ เพราะเราไม่ต้องการเป็นแบบมาบตาพุด
นับเป็นอีกกรณีศึกษาเพื่อที่ทุกฝ่ายเกี่ยวข้องต้องหาข้อยุติเพื่อให้ นิคมฯสีเขียว ไม่ก่อผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนที่เป็นอยู่เดิมมากเกินไป
วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ตอนที่ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย กับ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นับเป็นนิคมฯ แห่งที่ 12 ที่ กนอ.ดำเนินการยกระดับเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
กนอ. เดินหน้าพัฒนา “ต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ”
แผนการยกระดับอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้งหมด ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในระยะแรกปี 2553-2557 จะเร่งดำเนินการให้ได้ 15 นิคม จากนั้นจะพัฒนาทุกนิคมให้เข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภายในปี 2562
ล่าสุด กนอ. ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย กับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนิคมแห่งที่ 12 ในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ที่ กนอ.ดำเนินการยกระดับเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยยึดตามกรอบข้อกำหนดคุณลักษณะมาตรฐานและเกณฑ์ชี้วัด 5 มิติ ได้แก่ มิติกายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และบริหารจัดการ

อุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-Industry) หมายถึง สถานประกอบการอุตสาหกรรมในระดับต่างๆ ที่มีระบบอำนวยให้หน่วยกิจกรรมต่างๆ ในองค์กรสามารถบรรลุถึงความสำเร็จอย่างยั่งยืน (sustainability) ร่วมกัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ (economy) และระบบนิเวศ (ecology) โดยอาศัยการสร้างระบบความสัมพันธ์แบบพึ่งพาในเชิงวัสดุและพลังงาน และจะต้องอาศัยการผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างกิจการที่มีความสอดคล้องกันในเชิงผลพลอยได้ของผลิตภัณฑ์

เป้าหมายร่วมของการดำเนินงานพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) คือ การให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก เช่นสภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีสาเหตุจากปรากฏการณ์เรือนกระจก (green house effect) และการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่เป็นกระแสหลักของประชาคมโลกปัจจุบัน
ดังนั้น เพื่อตอบสนองเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น จึงได้พัฒนานวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศใน 2 ด้าน ได้แก่ ด้านอุตสาหกรรมสะอาด (Clean Industry Platform) และด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Products Platform) นอกเหนือจากอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และธุรกิจนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ที่ได้ดำเนินการผลักดันจนเป็นโครงการนวัตกรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น