xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” สั่ง ขบ.เข้ม กม.คุมรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ เร่ง ร.ฟ.ท.ประมูลสัมปทาน ICD ทบทวนค่าระวาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ชัชชาติ” ล้อมคอกเหตุตู้คอนเทนเนอร์หล่นทับรถตู้ สั่ง ขบ.ร่วมมือตำรวจเข้มงวด หลังพบผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ล็อกตู้กับตัวรถตามกฎหมาย ลั่นเจอปรับหนัก 5 หมื่นบาท พร้อมสั่ง ร.ฟ.ท.เร่งประมูลสัมปทาน ICD ลาดกระบัง สั่งทบทวนอัตราค่าระวางไม่เน้นกำไร หวังจูงใจผู้ประกอบการใช้รถไฟมากขึ้น

วันนี้ (5 ก.พ.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจดูมาตรการความปลอดภัยในการบรรทุกตู้สินค้าที่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง (ICD ลาดกระบัง) หลังจากเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ทำตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกไม้ยางหล่นทับรถตู้ร่วมบริการ ขสมก.บริเวณทางต่างระดับรังสิต ซึ่งพบว่ารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์คันดังกล่าวไม่ได้ยึดตู้สินค้ากับอุปกรณ์สำหรับยึดกับรถบรรทุกตามกฎหมายกำหนด โดยนายชัชชาติกล่าวว่า ที่ผ่านมาการบังคับกฎหมายยังไม่เข้มงวดเท่าที่ควร จึงทำให้มีผู้ประกอบการส่วนใหญ่ละเลยด้านความปลอดภัย จึงให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบรถหัวลากคอนเทนเนอร์ และกำชับให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าต้องปฎิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด กรณีตรวจพบว่าไม่ยึดคอนเทนเนอร์ผู้ประกอบการจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. ขนส่งฯ พ.ศ. 2522 ปรับไม่เกิน 50,000 บาท 

นอกจากนี้ ได้ให้ ขบ.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการติดตั้งระบบ GPS บนรถบรรทุกสินค้าทุกคันเพื่อตรวจจับความเร็วให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ลดการเกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงให้รวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวเพื่อรายงานอีกครั้ง ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดกระทำผิดบ่อยครั้ง หรือเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจะมีผลต่อการพิจารณาต่อใบอนุญาต ขณะที่มีรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับ ขบ.ประมาณ 900,000 คัน แต่ติดตั้งระบบ GPS เพียง 100,000 คันเท่านั้น 

นายชัชชาติกล่าวว่า ปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ประมาณ 53% มีปริมาณตู้สินค้า 6 ล้านตู้ต่อปี เป็นตู้สินค้าที่ขนส่งจาก ICD ลาดกระบังไปเฉลี่ย 1.3 ล้านตู้ต่อปี โดยเป็นการขนส่งโดยทางรถไฟประมาณ 4.4 แสนตู้ต่อปีเท่านั้นที่เหลือขนส่งทางรถบรรทุก ขณะที่รถไฟขนส่ง 28 เที่ยวต่อวัน แต่ขีดความสามารถได้ถึง 34 เที่ยวต่อวัน ถือว่ายังไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงเร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประมูลหาผู้ประกอบการบริหารสถานี ICD ใหม่ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 โดยเร็ว จากที่ผู้ประกอบการ 6 รายเดิมหมดสัญญาไปตั้งแต่ปี 2554 โดยได้เคยให้นโยบายว่า ร.ฟ.ท.ไม่ควรเน้นกำไรจากการให้บริการ ICD เพราะถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกและจูงใจให้ผู้นำเข้าส่งออกมาใช้ระบบรางในการขนส่งสินค้าไปท่าเรือ ดังนั้นหากกำหนดว่าผู้ชนะประมูลคือผู้ที่เสนอผลตอบแทนสูงสุดก็จะทำให้ไปคิดค่าระวางเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการสูงจะไม่จูงใจ

“รถไฟต้องไม่คิดว่า ICD เป็นตัวทำกำไร โดยปัจจุบันรถไฟมีรายได้รวมประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการเดินรถสินค้า 500 ล้าน และจากสัมปทาน ICD อีก 500 ล้านบาท ตอนนี้เร่งให้ประมูลเร็วๆ เพราะเมื่อมีรายใหม่เข้ามาจะสามารถวางแผนลงทุนพัฒนา และหาลูกค้าจะชัดเจนขึ้น กำหนดอัตราค่าระวางที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มผู้ส่งออกมาใช้บริการทางรถไฟมากขึ้น ตั้งเป้าว่าเมื่อหัวรถจักรใหม่ที่สั่งซื้อเข้ามากลางปี 57 นี้ จะเพิ่มปริมาณขนส่งจาก 4.4 แสนตู้ต่อปี เป็น 8 แสนตู้ต่อปี และเป็น 1 ล้านตู้ต่อปีในอีก 2 ปีต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รถไฟกำลังปรับปรุงถนนโดยรอบ ICD งบกว่า 200 ล้านบาท เสร็จ พ.ค.นี้ จะทำให้สะดวกมากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น