xs
xsm
sm
md
lg

รมช.คมนาคม เร่ง ทลฉ.แก้ปัญหาจราจร โดยเฉพาะจุดคอขวด หวั่นกระทบยาวถึงขนส่งทางน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - รมช.คมนาคม ลงพื้นที่รับฟังปัญหาการบริหารงานภายในท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี พบเรื่องเร่งด่วนต้องแก้ไข คือ ปัญหาการจราจรภายในท่าเรือโดยเฉพาะจุดคอขวด พร้อมให้เร่งโครงการกระจายสินค้าจากท่าเรือโดยทางรถไฟ และขยายช่องด่านตรวจสินค้า Gate 1 และ Gate 3

วันนี้ (28 ส.ค.) นายพ้อง ชีวานันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมกิจการท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมผู้บริหารให้การต้อนรับ บรรยายสรุปการดำเนินงาน และปัญหาสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการท่าเทียบเรือเอกชนให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา และอุปสรรคการขนส่งสินค้า

จากนั้นลงพื้นที่ชมการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการท่าเทียบเรือเอกชน เยี่ยมชมพื้นที่โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) เยี่ยมชมพื้นที่โครงการก่อสร้างศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) และเยี่ยมชมการปฏิบัติงานท่าเทียบเรือ C1 และ C2 บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด

นายพ้อง กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำและทางรถไฟ เพื่อให้เกิดความสมดุลกับการใช้ระบบถนน และลดต้นทุนการขนส่ง รวมทั้งสนับสนุนนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และยกระดับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง ถือเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งสินค้าทางน้ำใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่ขณะนี้กลับประสบปัญหา “คอขวด” ในเส้นทางบางจุด จนก่อให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งตู้สินค้าทางถนน จนอาจเป็นสาเหตุขัดขวางการขนส่งสินค้าทางน้ำของประเทศ

ซึ่งได้สั่งให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัด เร่งขยายพื้นที่คอขวด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงการให้บริการ และจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการท่าเรือแหลมฉบังให้สามารถรองรับปริมาณการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น

“ที่ดีใจคือเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาในหลายด้านของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งท่าเรือมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม”

นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายเร่งด่วนทั้งการขยายช่องจราจร เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในหลายจุด ขยายช่องด่านตรวจสินค้า Gate 1 และ Gate 3 รวมทั้งสนับสนุนการขนส่งเชื่อมโยงท่าเรือ การพัฒนาทางหลวงหมายเลข 7 การขยายความสามารถในการรองรับเรือชายฝั่ง ที่คาดว่าจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ถึง 3 แสนทีอียูแล้ว รวมทั้งพัฒนาโครงการกระจายสินค้าจากท่าเรือโดยทางรถไฟ โดยให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ บริเวณพื้นที่โซน 4 ในเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ เพื่อเพิ่มบทบาทการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และกระจายสินค้าจากท่าเรือเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคต่างๆ

รวมทั้งให้แก้ปัญหาด้านการปฏิบัติการด้วย พ.ร.บ.ร่วมทุน และการแก้ปัญหาด้านการปฏิบัติงานภายในท่าเรือ ส่วนแผนการก่อสร้างท่าเทียบเรือเฟส 3 ได้ให้ผู้บริหารฟังเสียงสะท้อนของประชาชน และสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างชุมชนโดยรอบ แม้ต้องใช้เวลาก็ต้องอดทน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากความไม่เข้าใจ ไม่เช่นนั้นโครงการดังกล่าวก็จะเดินหน้าไม่ได้




กำลังโหลดความคิดเห็น