xs
xsm
sm
md
lg

แผนสร้างท่าเรือชายฝั่งลดปัญหาจราจรทางบกของ ทลฉ.ใกล้เป็นจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
ศูนย์ข่าวศรีราชา - แผนการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งมูลค่า 1.8 พันล้านบาท ของท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ลดปัญหาการขนส่งสินค้าทางบกที่ส่งผลกระทบต่อการจราจรใกล้เป็นจริง หลังกระทรวงคมนาคมเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. หากผ่านจะใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี 8 เดือน ลดปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางรถยนต์ได้อย่างมหาศาล

วันนี้ (15 ส.ค.) ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างท่าเรือชายฝั่ง บริเวณก้นแอ่งจอดเรือที่ 1 ระหว่างท่าเรือโดยสาร A1 และท่าเทียบเรือชายฝั่งและอเนกประสงค์ A0 พื้นที่ประมาณ 43 ไร่ เพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ และส่งเสริมการขนส่งทางน้ำว่า ใกล้เป็นจริงแล้ว โดยคาดว่ากระทรวงคมนาคม จะนำโครงการเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกันยายน และก่อนการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จะมีการประชุมเตรียมความพร้อมอีกครั้ง

ทั้งนี้ หากโครงการได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ท่าเรือแหลมฉบังจะจัดจ้างก่อสร้างโครงการในทันที คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า

ร.อ.สุทธินันท์ กล่าวว่า ขณะนี้แผนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในท่าเรือแหลมฉบัง มีความคืบหน้าชัดเจนใน 2 โครงการ คือ การเปิดใช้งานประตูตรวจสอบสินค้าที่ 4 เพื่อบรรเทาปัญหาด้านการจราจรที่ติดขัดอย่างหนักในท่าเรือ โดยหลังเปิดประตูพบว่า นอกจากจะแก้ปัญหาการจราจรได้แล้ว จำนวนตู้สินค้าที่ขนถ่ายต่อวันยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือชายฝั่ง ก็กำลังจะถูกนำเข้าคณะรัฐมนตรี เมื่อผ่านความเห็นชอบจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี 8 เดือน

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือชายฝั่ง มีเป้าหมายสำคัญที่การลดปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางรถยนต์ จากเดิมที่มีประมาณ 90% ให้เหลือ 0% โดยชูจุดขายด้านความสะดวกสบาย และลดปัญหาการจราจร ซึ่งขณะนี้ท่าเรือแหลมฉบัง สามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำได้ปีละ 4-5% คาดว่าหากโครงการนี้แล้วเสร็จจะสามารถสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และจะทำให้ตัวเลขการใช้เส้นทางขนส่งสินค้าทางถนนลดลงได้มากกว่า 50%

โดยท่าเรือชายฝั่ง จะมีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าได้ไม่น้อยกว่า 3 แสนทีอียูต่อปี และในอนาคตหากมีการพัฒนาเครื่องมือยกตู้สินค้าได้ดี ขีดความสามารถในการขนถ่ายตู้สินค้าก็จะเพิ่มมากขึ้น และยังกระตุ้นการรักษาสิ่งแวดล้อม และการลดใช้พลังงานน้ำมันด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น