xs
xsm
sm
md
lg

ปรับตัวสู้โลกร้อน “หมีขั้วโลก” ล่าห่าน-กวางแทนแมวน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมีขั้วโลกนั่งอยู่ข้างซากกวางแคริบู (เครดิตภาพ Robert Rockwell / American Museum of Natural History)
พบหมีขั้วโลกมีพฤติกรรมเปลี่ยน จากล่าแมวน้ำเป็นอาหาร หันมากินห่าน กวาง และผลไม้ เชื่อเหตุจากภาวะโลกร้อนน้ำแข็งละลาย นักวิจัยชี้เป็นสัญญาณการปรับตัวของสัตว์นักล่าแห่งขั้วโลก หวั่นอาจซื้อเวลาให้ราชาแห่งอาร์กติกได้อีกเพียงไม่นาน

ทีมวิจัยสหรัฐฯเผยผลการศึกษาพฤติกรรมหมีขั้วโลกบริเวณอ่าวฮัดสัน (Hudson Bay) ทางตอนเหนือของแคนาดา พบนักล่าแห่งขั้วโลกมีการล่าเหยื่อบนบกมากขึ้น ทั้งห่านและกวางแคริบู สอดคล้องกับผลการศึกษาเศษซากในมูลสัตว์ใหญ่ดังกล่าวที่ชี้ว่ามีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปจากในอดีตที่ยังไม่ถูกคุกคามจากภาวะโลกร้อนมากเท่ากับในปัจจุบัน

“เราพบว่าพวกหมีขั้่วโลกกินทุกอย่างที่พวกมันหาได้บนแผ่นดิน ทั้งห่านหิมะ, ไข่ และแม้กระทั่งกวางแคริบู” ข้อมูลจากลินดา กอร์เมซาโน (Linda Gormezano) นักชีววิทยาด้านสัตว์มีกระดูกสันหลัง จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน ในนิวยอร์ก (American Museum of Natural History in New York) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมวิจัย

ถึงกระนั้นก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากลยุทธ์ในการหาอาหารของหมีขั้วโลกในลักษณะนี้จะสามารถชดเชยผลกระทบในทางลบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังที่เคยมีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรของหมีขั้วโลก

ข้อมูลจากโพลาแบร์อินเตอร์เนชั่นแนล (Polar Bears International) ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์หมีขั้วโลกโดยไม่แสวงหาผลกำไรได้ให้ข้อมูลว่า หมีขั้วโลกดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติได้จากการล่าแมวน้ำและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลชนิดอื่นๆ เป็นอาหาร โดยที่หมีขั้วโลกจะรอคอยเหยื่ออยู่บริเวณช่องหรือรอยแยกของแผ่นน้ำแข็งในทะเล และคอยจู่โจมเหยื่อที่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อธารน้ำแข็งละลายลง หมีขั้วโลกต้องอาศัยอยู่บนฝั่งและกินอาหารหลากหลาย รวมทั้งเห็ดและผลเบอร์รี หรือแม้กระทั่งห่านหิมะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น

ทว่าภาวะโลกร้อนส่งผลให้ธารน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นช่วงที่หมีขั้วโลกต้องเร่งหาอาหารและสะสมไขมันก่อนที่จะต้องย้ายไปอยู่บนแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบัญญัติคุ้มครองสัตว์และพืชใกล้สูญพันธุ์ของสหรัฐอเมริกา (U.S. Endangered Species Act) จึงได้บรรจุรายชื่อสัตว์ที่สง่างามและน่าเกรงขามอย่างหมีขั้วโลกให้อยู่ในกลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคาม (threatened species) เช่นเดียวกับที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) ได้จัดให้หมีขั้วโลกเป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

ทีมวิจัยได้บันทึกภาพหมีขั้วโลกที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของอ่าวฮัดสันที่อยู่เหนือแคนาดาขึ้นไป โดยสามารถจับภาพหมีขั้วโลกขณะกำลังวิ่งไล่ ล่า และกินห่านหิมะเป็นอาหาร โดยได้มีการเผยแพร่งานศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวในวารสารโพลาร์อีโคโลจี (Polar Ecology) เมื่อปี 2013

นอกจากนั้นในปีเดียวกัน ทีมวิจัยยังได้เผยผลการศึกษามูลของหมีขั้วโลกในยุคปัจจุบันในวารสารอีโคโลจี แอนด์ อีโวลูชัน (Ecology and Evolution) โดยมีการเปรียบเทียบกับผลการศึกษาเรื่องเดียวกันนี้ในช่วงปี 1968-1969 ซึ่งในเวลานั้นภาวะโลกร้อนยังไม่ได้ส่งผลต่อถิ่นที่อยู่อาศัยของหมีขั้วโลกรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน

นักวิจัยพบว่าในมูลของหมีขั้วโลกในอดีตมีเศษซากของห่านหิมาะน้อยกว่า ขณะที่มูลของหมีขั้วโลกในช่วงเวลาปัจจุบันเต็มไปด้วยเศษซากของกวางแคริบูและไข่ห่าน ซึ่งไม่พบในตัวอย่างที่ศึกษาก่อนหน้านี้ นั่นแสดงว่าหมีขั้วโลกมีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปจากเดิม

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการละลายของธารน้ำแข็ง ที่ทำให้หมีขั้วโลกต้องดำรงชีพอยู่บนฝั่งเร็วขึ้น เป็นผลให้หมีขั้วโลกมีช่วงเวลาที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินคาบเกี่ยวกับห่านหิมะน้อยลง และเพิ่มโอกาสในการกินไข่ห่านเป็นอาหารให้แก่หมีขาว ดังที่กอร์เมซาโนให้ข้อมูลแก่ไลฟ์ไซน์ว่า

“พวกเรายังบอกได้ไม่ชัดเจนนักว่าปริมาณแคลอรีในอาหารของหมีขั้วโลกเหล่านี้จะชดเชยให้แก่การสูญเสียโอกาสในการล่าแมวน้ำเป็นอาหารได้ แต่มันแสดงให้เห็นได้ว่าหมีขาวมีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่พวกมันกำลังเผชิญ และพวกมันก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้” กอร์เมซาโนเผย และยังบอกอีกว่าหมีขั้วโลกยังมีความได้เปรียบอยู่จากขุมทรัพย์กวางแคริบู ซึ่งจากการสำรวจในบริเวณพื้นที่ศึกษาวิจัยในช่วงทศวรรษที่ 60 พบว่ามีกวางแคริบูอยู่ประมาณ 100 ตัว ขณะที่ปัจจุบันนี้มีอยู่ราว 3,000-5,000 ตัว

แม้จะมีความได้เปรียบในเรื่องของปริมาณอาหารบนฝั่งที่มีมากกว่าในอดีต แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการหาอาหารก็ไม่น่าจะช่วยรักษาหมีขั้วโลกจากภาวะโลกร้อนและการหายไปของธารน้ำแข็งได้

“เพียงบางส่วนของสิ่งเหล่านี้สามารถที่จะซื้อเวลาอีกเพียงเล็กน้อยของหมีขั้วโลกได้เพียงบางตัวเท่านั้น ทว่าส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ไม่มีหลักฐานว่าอาหารสำรองใดๆจะมีผลดีต่อหมีขั้วโลกในระดับประชากร” สตีเฟน ซี อัมสตรัป (Steven C. Amstrup) นักวิจัยของโพลาร์แบร์อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยเรื่องดังกล่าว ให้สัมภาษณ์แก่ไลฟ์ไซน์

อัมสตรัปให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในตอนนี้สิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งมีอาหารเพียงพอสำหรับหมีกริซลีย์ (grizzly bears) ขนาดเล็กที่สุดที่ความหนาแน่นของประชากรที่ระดับต่ำ พร้อมกับตั้งคำถามว่า มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องยัดเยียดประชากรทั้งหมดของหมีที่ใหญ่ที่สุดในโลก(หมีกริซลีย์) ให้ไปรวมกันอยู่ในพื้นที่ที่มีอาหารเพียงพอแค่สำหรับหมีขนาดเล็กเพียงไม่กี่ตัว







สุนัขของทีมนักวิจัยนั่งเฝ้ามูลของหมีขั้วโลก ซึ่งจากการศึกษามูลของหมีขั้วโลกบ่งชี้ว่าสัตว์ดังกล่าวมีพฤติกรรมการกินเปลี่ยนไปจากเดิม (เครดิตภาพ Robert Rockwell / American Museum of Natural History)
กำลังโหลดความคิดเห็น