xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องใหญ่! โลกกำลังสูญเสียสัตว์กินเนื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสือพูมา หรือ สิงโตภูเขาถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ไปจากอเมริกาตะวันออกแล้ว
งานศึกษาครั้งใหม่เผยสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ทั่วโลก ทั้งสิงโต หมาป่า และหมี ลดจำนวนลงถึง 3 ใน 4 และที่เหลือส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่แคบลงกว่าในอดีตกว่าครึ่งของถิ่นอาศัยเดิม

บีบีซีนิวส์อ้างถึงงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสารไซน์ (Science) นี้ว่า การสูญเสียถิ่นอาศัย การถูกล่าและรบกวนโดยมนุษย์ทำให้เกิดวิกฤตการลดจำนวนของสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ไปทั่วโลก

ทีมวิจัยระบุว่า การสูญเสียสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะทำลายระบบนิเวศของโลกอย่างหนัก ซึ่งในโลกที่พัฒนาแล้ว สัตว์กินเนื้อส่วนใหญ่ได้ตกอยู่ในภาวะสูญพันธุ์ไปเรียบร้อย

เมื่อพิจารณาสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ 31 ชนิด ทีมวิจัยพบว่าสัตว์เหล่านั้นตกอยู่ในภาวะกดดันอยู่ที่อะเมซอน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกาตะวันออก

ศ.วิลเลียม ริปเปิล (Prof William Ripple) จากมหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท (Oregon State University) สหรัฐฯ ระบุว่าโดยรวมแล้วเรากำลังสูญเสียสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ ถิ่นอาศัยของสัตว์เหล่านั้น ทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับโลก ซึ่งความเพิกเฉยของมนุษย์เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการอนุรักษ์สัตว์เหล่านี้

สำหรับงานของทีมวิจัยนั้นพุ่งเป้าไปที่การศึกษาบทบาทเชิงนิเวศของสัตว์กินเนื้อเหล่านั้น โดยเมื่อศึกษาหมาป่าและสิงโตภูเขาที่อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellowstone National Park) ในสหรัฐฯ พบว่าสัตว์กินเนื้อทั้งสองที่เหลืออยู่น้อยนิด ส่งผลให้สัตว์จำพวกกวางเพิ่มจำนวนขึ้น

นั่นดูเหมือนจะเป็นข่าวดีที่สัตว์แทะเล็มเหล่านั้นเพิ่มจำนวน แต่ทีมวิจัยกล่าวว่า นั่นเป็นข่าวร้ายสำหรับพืชและรบกวนการอาศัยของนกกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอื่นๆ นำไปสู่ผลกระทบร้ายแรงที่จะทับถมเข้ามา ซึ่งเป็นผลกระทบที่เห็นได้ทั่วโลก

อย่างในแอฟริกาการเพิ่มจำนวนของลิงบาบูนโอลีฟ (olive baboon) ก็สัมพันธ์กับการลดจำนวนของสิงโตและเสือดาว และตอนนี้บาบูนก็กลายเป็นผู้รุกรานพืชผลเกษตรและปศุสัตว์ที่สร้างปัญหามากกว่าช้างไปแล้ว และปัญหาดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากคิดเก่าที่ว่า นักล่าเป็นอันตรายและมีแต่คุกคามสัตว์ป่าอื่นๆ

ในรายงานวิจัยพวกเขาระบุว่า จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนไปสู่ความตระหนักว่า สัตว์กินเนื้อเหล่านี้มีบทบาทที่ซับซ้อนต่อระบบนิเวศ และมีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจมากแค่ไหน และหากคนคิดที่จะทำหน้าที่แทนสัตว์กินเนื้อเหล่านั้น ทีมวิจัยระบุว่าไม่ได้ผลแน่

“ความเพิกเฉยของมนุษย์ต่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ต่อการอนุรักษ์ เราบอกว่าสัตว์เหล่านี้มีสิทธิโดยธรรมชาติที่จะดำรงอยู่ แต่พวกมันก็ยังให้คุณในแง่เศรษฐกิจและเชิงนิเวศที่มนุษย์ได้ตอบแทนอีกด้วย” ศ.ริปเปิลกล่าว

นอกจากผลตอบแทนดังกล่าวแล้ว ยังมีการศึกษาอื่นๆ ถึงบทบาทของสัตว์กินเนื้อเหล่านี้ต่อการลดภาวะก๊าซเรือนกระจก ความหลากหลายทางชีวภาพ และการควบคุมโรค และจากการศึกษาพบว่าเมื่อสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ฟื้นคืนถิ่น เช่น อุทยานเยลโลว์สโตน พบว่าระบบนิเวศตอบสนองอย่างรวดเร็ว

ศ.ริปเปิล กล่าวว่าเขาประทับใจต่อการฟื้นตัวของระบบนิเวศในอุทยานเยลโลว์สโตน ซึ่งแม้ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างฉับพลันไปทุกที่ แต่ในบางพื้นที่ก็เห็นการฟื้นตัวเริ่มขึ้นแล้ว

ทีมวิจัยยังเรียกร้องให้ความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่ออนุรักษ์สัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่เหล่านี้ ให้อยู่ร่วมกันกับมนุษย์อย่างสันติ และเชื่อว่ากลุ่มอนุรักษ์สัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่เพื่อยุโรป (Large Carnivore Initiative for Europe) ที่ประสานงานกับสหพันธ์สากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for the Conservation of Nature : IUCN) จะเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์สิ่งีชีวิตเหล่านี้ในอนาคต







การฟื้นคืนของหมาป่าในอุทยานเยลโลว์สโตน ทำให้ระบบนิเวศฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น