xs
xsm
sm
md
lg

พลิกชีวิต บ้านซับผุด ตามรอยพระบาท ก่อเกิดชุมชนหัวใจสีเขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย้อนหลังไปเมื่อ 3 ปี ก่อนหน้านี้ “หมู่บ้านซับผุด” ต.ยางสาว อำเภอวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ หมู่บ้านเล็กๆ บริเวณพื้นที่ชายขอบรอยต่อระหว่าง จ.เพชรบูรณ์ และ จ.ชัยภูมิ เรียกได้ว่า “เป็นดินแดนแห้งแล้ง” เนื่องจากสภาพดินที่ไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ แม้จะอยู่ใกล้น้ำตก แต่ก็ไม่รู้หนทางนำน้ำมาใช้
ยิ่งช่วงหน้าแล้ง พื้นดินยิ่งแห้งแตกระแหง ชาวบ้านจึงได้แต่ฝากความหวังและอนาคตไว้กับการมาของหน้าฝนเท่านั้น เพราะหลังจากหมดหน้าฝนแล้ว ชาวบ้านจะไม่สามารถเพาะปลูกพืชใดๆ ได้เลย ทำให้ต้องไปตระเวนหางานทำที่อื่น แต่รายได้ก็ไม่พอเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นี่จึงค่อนข้างขัดสนแร้นแค้น
การที่ต้องรอฟ้ารอฝนบันดาลความชุ่มชื้นให้กับผืนดินไร่นา นี่ก็คือ “ปัญหารากเหง้าแห่งความยากจนของชาวชนบทไทย”
รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์
“สมัยแรก ตอนที่พวกผมย้ายถิ่นฐานมาปักหลักที่นี่ เราจนมาก ผมอยากหาที่ทางทำมาหากิน เพราะผมเชื่อว่า ถ้ามีที่เพาะปลูก มันต้องมีทางทำกิน มาถึงที่นี่เห็นมีตาน้ำผุด คิดว่าก็ยังดี ยังไงก็มีน้ำ ก็ลงหลักปักฐานที่นี่ ยังไม่ตายก็ต้องไม่ยอมแพ้ เพราะถ้ามีน้ำทำการเกษตรได้ แต่ในช่วงหน้าแล้งก็ลำบากกันทั่ว ใครมีแรงขุดบ่อไว้บ้างก็พอมีน้ำใช้ คนที่ไม่มีแรงก็ทำอะไรไม่ได้” ประสิทธิ์ อินทรรักษ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านซับผุดคนแรกที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรที่ดำรงชีวิตโดยใช้เกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นคนแรกในหมู่บ้านเล่าถึงสภาพในอดีต

เมื่อ “โมเดล CSR พอเพียง” มาจุดประกาย
ทว่าภายในเวลา 3 ปี นับจากปี 2553 จนถึงปี 2556 ชาวบ้านที่นี่มีความบากบั่น มานะพยายาม และมุ่งมั่นกับการเดินตามรอยเท้าของในหลวง ด้วยการนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและประโยชน์ของส่วนรวมมาเป็นหลักยึด ตามคำแนะนำของ รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ ประธานเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่นำ "โมเดล CSR พอเพียง" และ "โครงการประปาภูเขา" เพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เข้ามายังหมู่บ้าน ในปี พ.ศ.2553 ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และรู้จักนำมาประยุกต์ใช้ จึงทำให้สิ่งดีๆ มากมายเริ่มเกิดขึ้น
“วิถีชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ มีความเปลี่ยนแปลงที่ดี เกิดขึ้นหลายอย่าง โดยเฉพาะรายได้ที่มากขึ้น รายจ่ายที่ไม่จำเป็นน้อยลง ที่สำคัญความสามัคคีและความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนที่หายไปกับกระแสทุนนิยม เริ่มกลับคืนมา กลายเป็นความแน่นเหนียวและเป็นภูมิคุ้มกันให้ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ” รศ.ทองทิพภากล่าว
โมเดล CSR พอเพียง : ซับผุดโมเดล”มีที่มาจากการขยายผลปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยมีวัตถุประสงค์ให้การปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืน มุ่งให้เกิดการพึ่งพาตนเอง เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดังนั้น เมื่อตัดสินใจว่า จะเลือกพื้นที่หมู่บ้านซับผุดเป็นต้นแบบ จึงมีการนำหลักการพัฒนาชุมชนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระราชทานไว้มาปฏิบัติ ทั้งในเรื่องการลงพื้นที่เพื่อศึกษาและสำรวจข้อมูลที่เป็นจริง ใช้หลักวิชาการ ดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมกลุ่มชาวบ้าน ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และจัดระบบการทำงานเชิงบูรณาการ หลังการลงพื้นที่สอบถามความต้องการของคนในชุมชนทำให้ได้พบว่า ชุมชนต้องการน้ำเพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน จึงมีการประสานขอความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องมาช่วยกัน
“การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนตามโมเดล CSR พอเพียง จะไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง เพราะโจทย์ของเราคือ ต้องการให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ มีความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้ให้ปลา แต่สอนให้ทุกคนหาปลา จะได้เลี้ยงตัวเองได้ตลอดทั้งชีวิต”
“และที่สำคัญ เมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้วจะต้องรู้จักเอื้อเฟื้อแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ทำให้ชาวบ้านเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ นี่คือ วิธีการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนในทุกมิติแห่งการพัฒนาอย่างแท้จริงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ปรารถนาจะให้ลูกๆ ของท่านทุกคนได้รับประโยชน์สุขและความสุข เหมือนอย่างที่บ้านซับผุดเป็นอยู่ในวันนี้”
ท่อประปาภูเขา  เพื่อการเกษตร
“ความเปลี่ยนแปลง” ณ หมู่บ้านซับผุด
ความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านซับผุดเกิดขึ้นอย่างชัดเจน หลังจากที่ชาวบ้านมีน้ำใช้ตลอดทั้งปีจาก “โครงการประปาภูเขาเพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน” ซึ่งในการดำเนินโครงการฯ มีการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยคนในชุมชนเป็นแกนหลักในการปฏิบัติงาน มีการวางแผนการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในหมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์จากน้ำประปาภูเขาอย่างทั่วถึง ด้วยพลังสมองและสองมือ พร้อมทั้งความร่วมแรงร่วมใจที่สืบต่อกันมา
หลังจากได้ร่วมออกแรง ออกเหงื่อ ช่วยกันวางท่อทำประปาภูเขาจนสำเร็จ วันนี้ชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้านซับผุดได้รับดอกผลจากการร่วมแรงร่วมใจกัน ท่อประปาภูเขาจึงเป็นดั่ง “ท่อผุดทรัพย์” ให้ชาวบ้านได้มีกินมีใช้ มีความสุขเมื่อยามหน้าแล้งมาถึง ในวันวานจากสายตาที่ทอดรอเฝ้าฝากความหวังไว้กับดินฟ้าอากาศ ในวันนี้เปลี่ยนเป็นประกายตาที่เต็มไปด้วยความสุขและความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหมู่บ้านให้ดียิ่งขึ้น
พืชผลที่สมบูรณ์ ผลผลิตของหมู่บ้าน
“อาจารย์ทองทิพภาถามว่าเราต้องการอะไร ชาวบ้านก็บอกไม่มีน้ำ ปลูกอะไรก็ไม่ได้ ทีมอาจารย์ก็มาร่วมสำรวจหาแหล่งน้ำใกล้หมู่บ้านกับพวกเรา แล้วก็ถามอีกว่า ถ้ามีน้ำแล้วจะจัดการกันอย่างไร ชาวบ้านก็ตอบว่า จะช่วยกันทำเอง ไม่ต้องจ้างแรงงาน อาจารย์ก็บอกว่า จะหาวัสดุอุปกรณ์จากท่อตราช้างมาให้ บริษัทเขาก็ส่งช่างมาช่วยเราด้วย พวกเราก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ มีปัญหาก็ค่อยๆ แก้กันไป”
“อาจารย์บอกว่า นี่ไงทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจากการรู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์ และลงมือทำ แล้วมันก็เป็นความสำเร็จของทุกคน แต่คงไม่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หากขาดการชี้แนะแนวทาง ให้ความรู้ ความคิด แต่เพราะทั้งหมดนี้ พวกชาวบ้านลงมือทำกันเอง พวกเราก็เลยพร้อมใจกันเรียกท่อประปาภูเขานี้ว่า “ท่อผุดทรัพย์” เพราะมันช่วยผุดทรัพย์ให้ชาวบ้านมีกินมีใช้ มีความเป็นอยู่ดีขึ้น พวกเราอยากให้หมู่บ้านของเราพัฒนาขึ้นเหมือนกับที่อื่นๆ” สำลี แทงกันยา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 14 บ้านซับผุด กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

ประจักษ์แจ้งบุญคุณ“สิ่งแวดล้อม”
ร่วมกันหวงแหน”ทรัพยากร”
ณ พื้นดินแห่งนี้ เมื่อได้แปรเปลี่ยนเป็นสีเขียว สำนึกเพื่อส่วนรวมและการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงหยั่งรากลึกในหัวใจของชาวบ้าน ด้วยความห่วงใยและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะ “น้ำตกซับผุด” อันเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิต
“จากน้ำตกที่ไม่มีใครเคยสนใจ ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่า เราต้องช่วยกันรักษา ทุกคนต่างมีจิตอาสา ช่วยกันดูแลความสะอาดของน้ำตก เพราะเราได้กิน ได้อยู่ ได้ใช้ ก็เพราะมีทรัพยากร จะทำอะไร เราก็เริ่มคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมว่าจะได้รับผลกระทบไหม”
สำลี แทงกันยา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 14 บ้านซับผุด
จากความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากร ที่จะต้องรักษาไว้เพื่อส่วนรวม “ชาวซับผุด” ยังเห็นตรงกันว่า “การพัฒนาหมู่บ้าน”ไม่ได้หมายถึงเพียงการมีเทคโนโลยีหรือความเจริญด้านวัตถุเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่หมายถึง“คุณภาพชีวิตที่ดีและความปลอดภัยของชีวิต” จึงเลือกที่จะลดการพึ่งพาสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรลง รวมถึงมีกิจกรรมร่วมแรงร่วมใจกัน พัฒนาหมู่บ้านให้มีความน่าอยู่ เช่น ความสะอาด มีการแยกขยะในหมู่บ้าน เป็นต้น
รัชนี เกิดชัยภูมิ หนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้หมู่บ้านซับผุดเล่าว่า “ตอนนี้ นอกจากเราจะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ทั้งปี เรายังพยายามจะลดการใช้สารเคมีลง มีการพัฒนาปุ๋ยชีวภาพและฮอร์โมนพืชที่มาจากธรรมชาติมาใช้ ทำให้เราเด็ดผักกินสดๆ ที่ปลูกตามรั้วบ้านมากินได้อย่างสบายใจ บ้านไหนทำเกษตรปลอดสารพิษ เราก็เรียกว่าบ้านน่ารัก ปลูกผักปลอดสารพิษ ใครๆ จึงอยากเป็นบ้านน่ารักทั้งนั้น”
“จากเดิมไม่มีอะไรปลูก เพราะไม่มีน้ำ วันนี้เรามีพืชผลหลายอย่าง เช่น พริก หัวหอม กระเทียม ฯลฯ มีเหลือเฟือ ก็ไปปรึกษาอาจารย์ทองทิพภาว่าอยากทำน้ำพริกเป็นรายได้อีกทาง ในที่สุดหมู่บ้านซับผุดของเรา ก็มีสินค้าชุมชน เป็นน้ำพริกนรก และน้ำพริกเผาซับผุด แต่ละครอบครัวก็สนุกกับการปลูกพืช ทั้งเพื่อการขายและเก็บไว้กิน ใครไม่มีอะไรเราก็แจกแบ่งปันกันในชุมชน เหลือก็นำไปขาย เรียกว่า มีกินมีใช้กันในครัวเรือนสบายๆ”
ไปดูจุดทำประปาภูเขา บนน้ำตก ซับผุด
ทองอินทร์ เดชชัยภูมิ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะนักเกษตรกรตัวจริง เล่าอย่างภูมิใจว่า มีส่วนร่วมในโครงการนี้มาตลอด 3 ปี ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปมาก ไม่เคยคิดว่าจะได้กำไรมากมายขนาดนี้จากการเพาะปลูก ก่อนหน้าที่จะมีประปาภูเขา ในช่วงหน้าแล้งปลูกพืชผักเพียง 1-2 ต้น ก็ลำบากมากแล้ว แต่หลังจากมีประปาภูเขาสามารถปลูกได้เป็นไร่ เพราะว่ามีน้ำ เมื่อเหลือจากกินก็แจกให้ชาวบ้าน เหลือจากแจกก็ยังนำไปขายได้อีกด้วย ที่สำคัญสำหรับชาวบ้านทุกคน เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้หนี้สินลดลง
“เมื่อก่อนอยู่กันตามอรรถภาพ การใช้น้ำอุปโภคบริโภคก็ค่อนข้างมีปัญหา อยู่ด้วยความยากลำบาก เพราะน้ำอยู่ที่สูง ต้องเดินไปตักมากักเก็บไว้ในตุ่ม ไว้หุงข้าว ไว้กิน ไว้ใช้ บางทีจะอาบน้ำก็ต้องมาอาบที่แหล่งน้ำเลย ซึ่งใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ แต่วันนี้เปิดก๊อกใช้ได้เลย เราจึงหวงแหนแหล่งน้ำของเรามาก” เขาเล่าด้วยรอยยิ้ม

การนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้คนที่นี่มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่เพียงผู้ใหญ่ที่เข้าใจในเรื่องนี้ เเต่เยาวชนต่างได้ซึมซับความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ้วนหน้า
ดังคำบอกเล่าของ ณิชชา สุขขี เด็กสาววัยกำลังโตที่กล่าวว่า “เศรษฐกิจพอเพียงของหนูคือ การที่พวกเราได้อยู่ร่วมกัน เวลาที่เราไม่มีอะไรเราขอคนอื่นได้ แบ่งปันกันได้ พอกินพอใช้ เพราะตอนนี้หมู่บ้านของหนูดีขึ้นมาก ดีใจที่พี่ๆ มาช่วยเหลือและอยากให้เขามากันอีก เมื่อก่อนที่นี่ไม่มีน้ำ แห้งแล้งมาก ถ้าหนูโตขึ้นจะบอกน้องๆ ว่าธรรมชาติมีคุณค่าต่อพวกเราไม่ให้ทำลายตอนนี้หนูมีความสุขมาก ที่หมู่บ้านหนูเป็นแบบนี้และอยากให้เป็นแบบนี้ไปตลอดค่ะ”
จากสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว สำลี แทงกันยา ผู้ใหญ่บ้านฯ เปรียบ“น้ำตกซับผุดและโครงการประปาภูเขา” ว่า เป็นดั่ง“แสงสว่าง” ทำให้ชาวบ้านที่ผจญปัญหาภัยเเล้งมาตลอด มีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะ“ตั้งแต่เรามีน้ำ เราก็มีเงิน”
หัวใจของโมเดล CSR พอเพียง
หัวใจของโมเดล CSR พอเพียง คือการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การสนับสนุนในสิ่งที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของชุมชน อาศัยทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องให้เงิน แต่ให้ความรู้และความรัก ความจริงใจแก่ทุกภาคส่วนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้เกิดความไว้วางใจ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขและยั่งยืน
รศ.ทองทิพภากล่าวทิ้งท้ายว่า “บ้านซับผุด”แห่งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า จากทฤษฎีสามารถนำมาสู่ภาคปฏิบัติได้ อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้น เป็นเพราะการมีส่วนร่วมของทุกคน ความเข้มแข็งของคนในชุมชน และผู้นำชุมชน ทุกส่วนมีความมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อหมู่บ้านอย่างแท้จริง ความรู้รักสามัคคี ตลอดจนการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ทุกคนได้เริ่มไว้ในวันนี้จะเป็นคุณค่า และความภาคภูมิใจที่ถ่ายทอดและส่งผ่านสิ่งดีๆ ให้กับลูกหลานในอนาคตเพื่อความยั่งยืนต่อไป
หัวใจที่เริ่มเต็มไปด้วยสำนึกอนุรักษ์ ยังทำให้ชาวซับผุดหันมาส่งเสริมการเรียนรู้จากภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน ดังเช่น พ่อใหญ่สวาท หรือพ่อใหญ่หวาด ที่มีภูมิความรู้ในเรื่องจักสาน และการทำเครื่องมือจับสัตว์ โดยเริ่มมีการถ่ายทอดความรู้ในการนำไม้ไผ่ วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อลดการใช้จ่ายภายในครัวเรือน รวมถึงส่งต่อเทคนิคการปลูกพืช เช่น การเก็บเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ไว้ปลูกหมุนเวียน ทำให้มีพันธุ์พืชดีๆ และพันธุ์พืชพื้นบ้านมากมาย อีกทั้ง การบ่มเพาะแนวคิดในการใช้ชีวิตให้คนรุ่นใหม่ เพื่อว่านอกจากจะมีจิตใจเข็มแข็ง และเอื้อเฟื้อต่อกัน ยังต้องรู้จักการอนุรักษ์ธรรมชาติและดูแลสิ่งแวดล้อม
ณ วันนี้ ด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของผืนดิน ภาพความเขียวขจีของพืชพันธุ์ในช่วงหน้าแล้งจากโครงการน้ำประปาภูเขา การรู้จักพัฒนาหมู่บ้านให้น่าอยู่ด้วยการให้ความสำคัญกับความสะอาด และการส่งเสริมเกษตรปลอดสารพิษ คือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าของทุกคนในชุมชน ส่งผลให้ “หมู่บ้านซับผุด”แห่งนี้ ถูกกล่าวถึงในหลากหลายเวทีและกลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบแห่งหนึ่งที่ดึงดูดให้ผู้คนมากมายหลั่งไหลมาเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้
กำลังโหลดความคิดเห็น