xs
xsm
sm
md
lg

Hans Holbein ผู้บุตรกับภาพ The Ambassadors

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพ The Ambassadors
Hans Holbein ผู้บุตรเกิดที่เมือง Augsburg ในเยอรมนีเมื่อประมาณปี 1497 (ตรงกับรัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2) บิดาชื่อ Hans Holbein เช่นกัน เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างลูกกับพ่อจึงมีการเติมท้ายชื่อว่า the Younger และ the Elder ตามลำดับ บิดามีอาชีพเป็นครูสอนวิชาจิตรกรรมและการวาดภาพ จึงใช้โรงเรียนที่สอนเป็นสถานที่ฝึกงานให้ลูกสองคนที่ชื่อ Ambrosius และ Hans ด้วย

เมื่อธุรกิจต้องปิดเพราะไม่มีคนเรียน เด็กหนุ่มทั้งสองจึงต้องเดินทางไปสวิสเซอร์แลนด์เพื่อฝึกงานต่อที่ Basel และ Hans เริ่มมีชื่อเสียงเพราะได้วาดภาพประดับผนังหอประชุมแห่งเมือง Basel ฝีมือในการวาดภาพของ Hans ทำให้เจ้าของโรงพิมพ์ที่ Basel ได้มาจ้างให้ Hans วาดภาพประกอบหนังสือมากมาย เช่น คัมภีร์ไบเบิลของ Martin Luther และเจ้าของโรงพิมพ์ชื่อ Froben ได้นำ Hans ไปรู้จักปราชญ์ Eramus แห่ง Rotterdam ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังมาก

ในปี 1517 Hans วัย 20 ปี ได้งานวาดภาพประดับผนังที่บ้านของ Hertenstein แต่เมื่อได้ข่าวว่า พี่ชาย Ambroise เสียชีวิต จึงเดินทางกลับ Basel และตัดสินใจตั้งรกรากประกอบอาชีพวาดภาพอยู่ที่เมืองนี้ ต่อมาอีกไม่นาน ฝีมือที่เป็นที่ประทับใจก็ทำให้ Hans ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสมาคมจิตรกรรมแห่ง Basel ในวัย 24 ปี Hans ได้เข้าพิธีสมรสกับ Elizabeth Binzenstock แต่ชีวิตสมรสไม่มีความสุข ดังจะเห็นได้จากเวลา Hans เดินทางไปต่างประเทศ เขาไปคนเดียว

เมื่ออายุ 25 ปี ได้ไปอิตาลีเพื่อศึกษาศิลปะ Renaissance ของจิตรกรอิตาลี อาทิเช่น Leonardo da Vinci และ Michaelangelo จากนั้นได้ไปทำงานในฝรั่งเศส ขณะอยู่ที่ Lyons ได้วาดภาพ “The Dance of Death” ซึ่งมีภาพทั้งหมด 51 ภาพ และเป็นภาพที่ประชาชนฝรั่งเศสนิยมชมชื่นมาก เพราะแสดงให้เห็นอารมณ์ของทุกบุคคลในภาพ และเป้าหมายของภาพได้ชี้ให้เห็นว่า ทุกคนจะต้องตายอย่างเสมอภาคกันในที่สุด

นอกจากนี้ Hans ก็ยังได้วาดภาพคนเหมือนของ Eramus ด้านข้างอีกสามภาพด้วย ซึ่งต่างก็แสดงให้เห็นบุคลิกในสามท่าทางเวลาเขียนหนังสืออย่างตั้งใจ การจัดแสง และเงาอย่างกลมกลืน ทำให้ภาพ Eramus มีเอกลักษณ์โดดเด่นมาก

ในปี 1526 Hans ได้เดินทางไปลอนดอน เพื่อนำจดหมายแนะนำตัวพร้อมคำรับรองของ Eramus ไปให้ Sir Thomas More เพื่อขอให้ More รับ Hans เป็นจิตรกรส่วนตัว และ Hans ก็ได้ทำงานวาดภาพของ More เป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่ได้มีโอกาสวาดภาพของบรรดาพระราชวงศ์ในพระเจ้า Henry ที่ 8 เลย เพราะขณะนั้น เพื่อนของ More คือศัตรูของพระเจ้า Henry ที่ 8

เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสถาบันกษัตริย์กับเหล่าขุนนางชั้นสูงทวีความรุนแรงมากขึ้นๆ Hans จึงเดินทางกลับ Basel ซึ่งความขัดแย้งทางศาสนากำลังทวีความรุนแรง ดังนั้น Hans จึงตัดสินใจกลับลอนดอนอย่างถาวรในปี 1532 และรับงานวาดภาพคนเหมือนของบรรดาเศรษฐีที่ร่ำรวย เช่น George Gisze และภาพเหมือนของนักการเมืองที่มีอิทธพล เช่น Sir Thomas Cromwell ซึ่งเป็นคนโปรดในพระเจ้า Henrry ที่ 8 และ Cromwell ก็ได้นำ Hans ไปถวายตัวต่อพระเจ้า Henry ที่ 8 ซึ่งก็ได้โปรดเกล้าให้ Hans เป็นราชจิตรกร ประจำพระองค์ โดยมีสตูดิโออยู่ที่พระราชวัง Whitehall และได้เงินปีละ 20 ปอนด์

หน้าที่ของ Hans ในบทบาทนี้ คือ นอกจากจะออกแบบทองรูปพรรณ ชุดแต่งกาย และเครื่องใช้ในพระราชวังแล้ว ยังต้องทำหน้าที่พ่อสื่อให้พระเจ้า Henry ที่ 8 ในการนำ Jane Seymour มาเป็นพระสนมด้วย โดยสัญญาว่าจะวาดภาพเหมือนของเธอ

เมื่อมีชื่อเสียงมากขึ้น งานวาดภาพเหมือนก็มากตาม Hans ทำงานหนักมาก จนเสียชีวิตในปี 1543 ด้วยกาฬโรค หลังจากที่ได้วาดภาพเหมือนประมาณ 150 ภาพ ตลอดเวลาที่พำนักอยู่ในอังกฤษตั้งแต่ปี 1532 จนกระทั่งตาย

ภาพที่มีชื่อเสียงมากภาพหนึ่งของ Hans คือ ภาพ “The Ambassadors” ที่ Hans วาดในปี 1533 ซึ่งมีขนาด 207 x 209 เซนติเมตร และขณะนี้อยู่ที่ National Gallery ในกรุงลอนดอน

มันเป็นภาพของคนสองคนที่เป็นทูตดูมีวัยกลางคน (ในความเป็นจริงคนซ้ายอายุ 29 ปี และคนขวาอายุ 25 ปี) ลักษณะใบหน้าท่าทางดูจริงจังและเคร่งขรึม แม้จะเป็นทูต แต่ทั้งสองแต่งตัวแตกต่างกัน คนซ้ายสวมเสื้อคลุมสั้น มีเครื่องประดับอิสริยยศเต็มพิกัดในตำแหน่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำอังกฤษ ส่วนคนขวาเป็นสังฆนายก (bishop) ที่สวมเสื้อคลุมยาว และแทบไม่มีเครื่องประดับอะไรเลย
Hans Holbein the Younger
ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 นั้น ตำแหน่งทูตเป็นงานที่มีเกียรติและเป็นงานที่ได้ใกล้ชิดองค์กษัตริย์มาก เพราะพระองค์จะทรงโปรดให้ครอบครองที่ดิน และประทานคนใช้ แต่ทูตจะไม่มีความสุขสมบูรณ์มากเพราะเวลาถูกส่งไปต่างประเทศ ทูตจะต้องออกเงินเอง เสียค่าเดินทางและค่ากินอยู่เอง นอกจากนี้ก็มักถูกตั้งข้อสงสัยว่า เป็นพวกสอดแนมหรือสายลับด้วย ทำให้ไม่เป็นที่ไว้วางใจของคนในประเทศเลย เช่น ในปี 1482 เมืองเวนิสมีกฎหมายห้ามไม่ให้ประชาชนสนทนากับทูตต่างแดน และในอังกฤษก็มีบทบัญญัติห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสนทนากับทูตต่างชาติ เพราะถ้าละเมิดกฎนี้เขาก็สูญเสียสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ทันที อาจด้วยข้อกล่าวหาว่า ได้แพร่งพรายความลับของชาติ (ในสมัยนั้นหนังสือ สื่อสารมวลชน และอินเทอร์เน็ตยังไม่มี ดังนั้นการจะรู้ ล่วงรู้อะไร ก็จะได้จากการสนทนาประการเดียว)

สำหรับบุคลิกของทูตเองก็ต้องเป็นคนที่มีทักษะด้านการสนทนา มีโวหารไพเราะ มีความเชี่ยวชาญในภาษาละติน (ทุกคนพูดละติน) รอบรู้และสามารถสนทนาได้ทุกเรื่อง กับคนทุกระดับมีความสุภาพอ่อนโยน และความกระหายที่จะเรียนรู้ทุกเรื่อง สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีไม่แสดงออก เวลาได้รับข่าว (ไม่ว่าจะร้ายหรือดี) มีศิลปะในการต่อรอง ในด้านชีวิตส่วนตัวก็ต้องไม่มีราคีให้เป็นที่กล่าวขวัญในทางเสื่อมเสีย ภรรยาของทูตต้องอยู่บ้าน เพราะถ้าให้ออกจากบ้าน เธออาจแพร่งพรายข้อมูลของทูต ทูตควรมีแม่ครัวที่มีความสามารถ เพราะอาหารที่ดีอาจทำให้ได้ข่าว หรือความลับที่สำคัญก็ได้ และท้ายที่สุดเวลาออกงาน ทูตต้องมีชุดแต่งกายเต็มยศ สวมใส่เสื้อผ้าแพงๆ เพื่อให้ดูดีและทำให้ผู้คนคิดว่า ถ้าทูตแต่งตัวขนาดนี้ กษัตริย์ของประเทศจะอู้ฟู่ขนาดไหน

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 วัฒนธรรมทางการทูตต่างๆ เพิ่งอุบัติ ดังนั้นสถานทูตในต่างแดนจึงยังไม่มี การเจรจามักใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือหนึ่งเดือน เมื่อสิ้นสุดการเจรจา ทูตก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ต่อ ความสำเร็จระยะสั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการเมืองในประเทศเปลี่ยนแปลงเร็ว และความผูกพันระหว่างประเทศก็แปรปรวนเร็วด้วย เช่น ตามสถานภาพ การหมั้น การสมรสและการหย่าร้างระหว่างเจ้าหญิงกับเจ้าชายต่างชาติที่เกิดขึ้นบ่อย

ในรัชสมัยของพระเจ้า Henry ที่ 8 หลังจากที่พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง Catherine แห่ง Aragon ซึ่งเป็นพระมาตุจฉา (น้า) ในกษัตริย์ Charles ที่ 5 แห่งสเปนแล้ว พระเจ้า Henry ที่ 8 ทรงมีพระธิดาหนึ่งพระองค์คือ Mary Tudor ซึ่งพระเจ้า Henry ที่ 8 ทรงโปรดให้หมั้นกับพระเจ้า Charles ที่ 5 ตั้งแต่เจ้าหญิง Mary ยังทรงพระเยาว์

แต่เมื่อพระเจ้า Charles ที่ 5 ทรงเติบใหญ่ พระองค์ได้ทรงถอนหมั้นกับเจ้าหญิง Mary เพื่อจะได้สมรสกับเจ้าหญิง Isabella แห่งอาณาจักรโปรตุเกส เพราะพระองค์ทรงดำริว่า การเป็นทองแผ่นเดียวระหว่างสเปนกับโปรตุเกสจะทำให้ประเทศทั้งสองมีอิทธิพลมากขึ้นในสังคมโลก

ดังนั้น เมื่อพระเจ้า Henry ที่ 8 ทรงเห็นชัดว่า สเปนกำลังจะเป็นพันธมิตรกับโปรตุเกส และตัดความผูกพันกับอังกฤษ พระองค์จึงทรงประสงค์จะผูกสัมพันธ์กับฝรั่งเศสบ้าง (โดยอาจจะโดยการแต่งงานกับเจ้าหญิงฝรั่งเศส เพราะพระองค์ทรงเบื่อพระมเหสี Catherine)

แนวคิดเช่นนี้นำมาซึ่งความไม่พอใจในกษัตริย์ Henry ที่ 8 เพราะบรรดาอำมาตย์และประชาชนของพระองค์ไม่ประสงค์จะมีพระราชินีเป็นคนฝรั่งเศส แต่ต้องการจะมีพระราชินีเป็นคนอังกฤษมากกว่า

นอกจากนี้การสมรสใหม่ก็กระทำไม่ได้ด้วย เพราะพระเจ้า Henry ที่ 8 ทรงต้องขออนุญาตให้สันตะปาปาแห่งโรมมีบัญชาให้ การสมรสของพระองค์กับ Catherine แห่ง Aragon เป็นโมฆะก่อน แต่สันตะปาปาก็ยังยื้อไม่อนุญาต จนเวลาผ่านไปนาน เพราะสันตะปาปาเองทรงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพระเจ้า Charles ที่ 5 มาตั้งแต่ปี 1527 สถานการณ์ทางการเมืองในยุโรป ณ เวลานั้นจึงคับขันและซับซ้อนมาก

ด้วยภูมิหลังเช่นนี้ ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1533 (ที่ Hans Holbein วาดภาพ “The Ambassadors” และตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชา) Jean de Dinteville จึงถูกส่งตัวไปอังกฤษในฐานะทูตฝรั่งเศส ในกษัตริย์ Francis ที่ 1

de Dinteville เกิดเมื่อ ค.ศ.1504 ที่ Champaqne เขาเป็นคนมีความสามารถทางกฎหมายเป็นนักมานุษยวิทยาที่สนใจดนตรี จิตรกรรม และวิทยาศาสตร์ และเคยเป็นทูตไปอังกฤษครั้งแรก ในปี 1531 ถึงปี 1533 ก็ได้ถูกส่งไปอีกเป็นครั้งที่ 2 เพราะในเวลานั้นสมเด็จพระเจ้า Henry ที่ 8 ทรงสมรสกับ Anne Boleyn แล้ว และนางกำลังตั้งพระครรภ์อ่อนๆ ทั้งๆ ที่สันตะปาปายังไม่มีบัญชาให้การสมรสเดิมเป็นโมฆะเลย แต่พระเจ้า Henry ที่ 8 ได้ทรงขอร้องให้ Archbishop แห่ง Canterbury สั่งการแทน จึงเท่ากับเป็นการละเมิดอำนาจของสันตะปาปาอย่างไม่เกรงกลัว

เมื่อสันตะปาปาถูกล่วงละเมิดอำนาจ กษัตริย์ฝรั่งเศส Francis ที่ 1 จึงประสงค์จะพบปะกับสันตะปาปา Clement ที่ 7 เพื่อแก้ปัญหา และในวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ.1533 de Dinteville จึงทูลพระเจ้า Francis ที่ 1 โดยทางจดหมายว่า สันตะปาปายังไม่ทราบเรื่อง ที่พระเจ้า Henry ที่ 8 จะทรงสถาปนา Anne Boleyn ขึ้นเป็นพระราชินีในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.1533 แต่สันตะปาปาก็คงจะทรงทราบในอีกไม่นาน

de Dinteville จึงถูกส่งตัวไปอังกฤษ เพื่อเข้าร่วมในพิธีอภิเษกสมรสของพระเจ้า Henry ที่ 8 กับ Anne Boleyn และเมื่อพระราชาภิเษกที่ยิ่งใหญ่ยุติ de Dinteville ได้เดินทางออกจากลอนดอนเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 1533 กลับฝรั่งเศส (และเขาได้เดินทางมาอีก ในงานประหารชีวิตของ Anne Boleyn ด้วย)
Hans Holbein the Elder
ในภาพ “The Ambassadors” คนที่ยืนข้างซ้ายคือ de Dinteville เขาสวมสายสร้อยทองคำแสดงตำแหน่ง Order of St. Michael ซึ่งเป็นสร้อยพระราชทานจากกษัตริย์ และในเวลาหนึ่งๆ จะมีคนที่มีสิทธิ์สวมสร้อยเช่นนี้ไม่เกิน 100 คน

ส่วนคนที่ยืนทางข้างขวาในภาพ คือ ท่านสังฆนายก Georges de Selve ซึ่งมีบิดาเป็นประธานของรัฐสภาปารีส Parlement de Paris) เมื่ออายุ 20 ปี Georges ได้รับแต่งตั้งเป็น Bishop of Lavaur ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ทั้งๆ ที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์คือ 25 ปี แต่ความสนิทสนมส่วนตัวระหว่างกษัตริย์ Francis ที่ 1 กับสันตะปาปาทำให้ Georges ได้รับการยกเว้น

ในปี 1533 หลังจากที่ได้เดินทางไปลอนดอนเป็นการส่วนตัวแล้ว กษัตริย์ได้ทรงโปรดให้ท่านบิชอปเป็นทูตเวนิส โรม และ Madrid ตามลำดับ แต่บิชอปมีสุขภาพไม่ดี ดังนั้นจึงลาออกจากตำแหน่งทูตในปี 1540 และอีกหนึ่งปีต่อมา ในเดือนเมษายน 1541 บิชอปก็ถึงแก่กรรม

ตามปกติเวลาวาดภาพคู่ คนในภาพมักยืนใกล้กัน แต่ในภาพนี้คนทั้งสองยืนห่างคนละข้างจนเกือบจะตกภาพ ใบหน้าของคนทั้งสองวางเฉย ไม่แสดงอารมณ์ใดๆ ไว้เคราเหมือนกัน แต่ลักษณะของตาแตกต่างกัน ตาของบิชอปมีขนาดเล็ก และทอดสายตาสบายๆ ส่วนตาของท่านทูตมีขนาดใหญ่กว่าและจ้องคนดูภาพอย่างตั้งใจ สำหรับเรื่องเสื้อผ้า ท่านทูตสวมเสื้อขนสัตว์เต็มยศ ดูเป็นคนกล้า และชอบออกสังคม ด้านท่านบิชอปเป็นคนค่อนข้างหลบสังคม และในมือมีถุงมือ

บริเวณระหว่างคนทั้งสองมีอุปกรณ์และสิ่งของต่างๆ มากมายวางอยู่บนชั้นสองชั้น โดยชั้นบนมีลูกโลก นาฬิกาแดดที่คนเลี้ยงแกะใช้จับเวลาอยู่เวร (shepard dial) นาฬิกาแดดรูปทรงหลายเหลี่ยม (polyhedral sundial) อุปกรณ์ quadrant และ torquetum ที่ใช้ดูดาว ส่วนชั้นล่างมีลูกโลก พิณน้ำเต้า เข็มทิศ และหนังสือที่วางเปิดอยู่ คือ Book of Hymns ของ Johann Walther ผู้เป็นคีตกวีชาวเยอรมัน หนังสือได้รับการตีพิมพ์ที่เมือง Wittenberg ในปี 1524 และในมือของทูตมีภาชนะทรงกระบอกซึ่งภายในอาจมีแผนที่

ภาพนี้มีประเด็นที่เป็นที่น่าสนใจมาก คือ ฉากที่ Holbein ใช้วาดประกอบ ท่านทูตและนักบวช มีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และอุปกรณ์คณิตศาสตร์มากมายวางอยู่ท่ามกลางเครื่องดนตรี อันเป็นการแสดงให้เห็นความเกี่ยวพันระหว่างคณิตศาสตร์ ดนตรี และธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก เพราะในยุคกลางคือในสมัยก่อนนั้น เหตุการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติสามารถอธิบายได้ด้วยศาสนา และแทบไม่มีใครสนใจคณิตศาสตร์เลย แต่ Holbein กลับคิดว่า เรขาคณิตคือพื้นฐานของเทคนิคการวาดภาพ

โดยทั่วไป เวลา Holbein วาดภาพ เขาจะวาดทุกสิ่งทุกอย่างในลักษณะเหมือนจริง ดังนั้นคนที่ดูภาพทุกคนจะดูออกว่า เขาวาดอะไร แต่ในภาพวาดนี้ มีส่วนหนึ่งที่ทำให้คนดูสงสัยว่าเป็นภาพของอะไร นั่นคือ ภาพวัตถุที่วางอยู่ที่ฉากหน้าของภาพและลอยอยู่เหนือพื้นในลักษณะเอียงจนดูไม่ออก

การวิเคราะห์อย่างละเอียดแสดงให้เห็นว่า มันเป็นภาพวาดของกะโหลกศีรษะซึ่งถูกวางเอียง และนี่เป็นสไตล์การวาดแนว anamorphoses ซึ่งเป็นที่นิยมทำกันมากในสมัยของ Holbein

ภาพกะโหลกที่ Holbein จงใจวาดลงไปนี้เสมือนจะชี้ให้ทุกคนตระหนักว่า ความตายคือจุดสุดท้ายของทุกสิ่งทุกอย่าง และทุกคนจะต้องไม่หลงในลาภ ยศ ตำแหน่ง และกิจกรรมที่ไร้แก่นสาร

อ่านเพิ่มเติมจาก Secret Knowledge: Rediscovering the Lost Techniques of the Old Masters โดย David Hockney จัดพิมพ์โดย Thames and Hudson, London ปี 2001

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น