เอพี - เจ้าหน้าที่พม่ารายงานว่า เกิดเหตุกลุ่มม็อบชาวพุทธสังหารหญิงชาวมุสลิมอายุ 94 ปี และจุดไฟเผาบ้านเรือนมากกว่า 70 หลัง ในความรุนแรงทางศาสนาที่ปะทุขึ้นอีกครั้งในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของพม่า แม้ประธานาธิบดีเต็งเส่ง จะมีกำหนดเดินทางเยือนในพื้นที่ก็ตาม
มีรายงานการโจมตีเกิดขึ้นในหลายหมู่บ้านที่อยู่บริเวณชานเมืองซันด์เว (Thandwe) หลังความตึงเครียดสั่งสมมาเป็นเวลาหลายวัน และคาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะเพิ่มสูงขึ้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งรายงานว่า ในช่วงบ่ายของวันอังคาร (1) ผู้ก่อความไม่สงบมากกว่า 700 คน ที่บ้างถือมีดกวัดแกว่งได้เดินไปตามถนนสายต่างๆ ในหมู่บ้านตะบิวชาย ห่างจากเมืองซันด์เว ไปทางเหนือราว 20 กม.
บ้าน 70- 80 หลัง ถูกวางเพลิงเสียหาย และพบว่ามีหญิงชราชาวมุสลิมเสียชีวิตจากแผลถูกแทงในการปะทะกันที่ตามมาหลังจากนั้น และที่หมู่บ้านชเว พบเห็นอาคารบ้านเรือนหลายหลังมีกลุ่มควันพวยพุ่ง และมีชาวพุทธยะไข่ได้รับบาดเจ็บหลายคน ส่วนที่หมู่บ้านลินติ มีรายงานว่า ถูกโจมตีโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 หมู่บ้านอยู่ห่างจากเมืองซันด์เว ราว 17 กม.
การเยือนของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ในภูมิภาคที่แตกแยกนี้ นับเป็นการเยือนครั้งแรกตั้งแต่ความรุนแรงทางศาสนาปะทุขึ้นเมื่อปีก่อน
ประธานาธิบดีเต็งเส่ง เดินทางถึงเมืองซิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ที่อยู่ภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ในเช้าวันอังคาร (1) และมีกำหนดเดินทางไปหลายเมือง รวมทั้งเมืองหม่องเดาะ ที่อยู่ทางเหนือ และเมืองซันด์เว ที่อยู่ทางใต้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานประธานาธิบดีกล่าว พร้อมระบุว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่ง เดินทางเยือนเพื่อช่วยหาทางแก้ไขในระยะยาวต่อปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยจะเข้าพบหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนในพื้นที่
แม้จะมีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา แต่ก็ล้มเหลวที่จะยับยั้งผู้โจมตี โดยผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ทหาร และตำรวจไม่ได้พยายามที่จะเข้ามารักษาความปลอดภัยในช่วงเวลาที่บังคับใช้เคอร์ฟิว
การปะทะกันทางศาสนาเริ่มต้นขึ้นในรัฐยะไข่ เมื่อเดือน มิ.ย.2555 และได้แปรเปลี่ยนเป็นการรณรงค์ต่อต้านชาวมุสลิมที่แพร่กระจายไปตามเมือง และหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ จนถึงตอนนี้ มีประชาชนถูกสังหารมากกว่า 240 คน และอีกมากกว่า 140,000 คน ต้องอพยพออกจากที่อยู่ของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม
เต็งเส่ง ที่ได้รับความชื่นชมจากการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อความล้มเหลวที่จะควบคุมเหตุไม่สงบ และปกป้องชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ถูกโจมตี ซึ่งเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกมองว่าเป็นผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
แต่ในเหตุความรุนแรงที่ปะทุขึ้นครั้งล่าสุดนี้ เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเป็นชาวกะมัน (Kaman) ซึ่งเป็นชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ได้รับการยอมรับ และได้สถานะพลเมือง
ปัญหาเริ่มขึ้นในวันเสาร์ (28 ก.ย.) เมื่อคนขับแท็กซี่ชาวพุทธกล่าวหาว่า ถูกเจ้าของร้านค้าชาวมุสลิมพูดจาล่วงละเมิดขณะพยายามจอดรถ และหลายชั่วโมงต่อมา ร้านค้าของชาวมุสลิมคนดังกล่าวโดนหินขว้างใส่ และในวันอาทิตย์ (29) ความโกรธแค้นได้ลุกลามบานปลาย เมื่อบ้าน 2 หลัง ที่มีชาวมุสลิมเป็นเจ้าของถูกเผาวอด
ปัญหาความรุนแรงกลายเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับรัฐบาลเต็งเส่ง ที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า รัฐดำเนินการเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการปราบปรามความขัดแย้งทางศาสนา และล้มเหลวที่จะประสานความแตกแยกที่ทำให้มีชาวมุสลิมหลายแสนคนไร้ความสำคัญ หลายคนติดอยู่ในค่ายพักแรมสำหรับผู้ไร้ที่อยู่ที่ดูคล้ายคุก
ในเบื้องต้น ความรุนแรงจำกัดขอบเขตอยู่แค่ในรัฐยะไข่ แต่การโจมตีทางศาสนาได้กระจายเป็นวงกว้างขึ้นในปีนี้ รวมทั้งในเมืองสำคัญหลายเมือง ในเวลาเดียวกัน การรณรงค์ที่นำโดยชาวพุทธ ในชื่อว่า “969” ได้เกิดขึ้นไปทั่วประเทศ ซึ่งผู้สนับสนุนแนวคิดนี้เรียกร้องให้ชาวพุทธจับจ่ายซื้อของกับร้านค้าของชาวพุทธเท่านั้น และหลีกเลี่ยงการสมรส จ้างงาน หรือขายบ้านหรือที่ดินให้แก่ชาวมุสลิม ขณะที่พระสงฆ์หัวรุนแรงได้ช่วยเติมเชื้อไฟในวิกฤตนี้ โดยกล่าวว่า ชาวมุสลิมเป็นภัยคุกคามต่อวัฒนธรรม และประเพณีทางพุทธศาสนา
นักวิจารณ์กล่าวว่า ผู้นำทางการเมือง ศาสนา และชุมชน จำเป็นต้องประณามคำพูดที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ไม่เช่นนั้นปัญหานี้จะกลายเป็นคำจำกัดความใหม่ของพม่า ทำลายภาพลักษณ์ในเวทีโลก และคุกคามความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านออกจากระบอบเผด็จการที่กินเวลานานหลายทศวรรษ.