การแบ่งปันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันในสังคม สัตว์หลายชนิดไซ้ขน และแบ่งปันอาหารเพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ สังคมมนุษย์เราแชร์อารมณ์เศร้าเพื่อร่วมบำบัดแผลในใจให้กัน ทั้งหมดนี้เกิดจากแรงขับของฮอร์โมน “ออกซิโตซิน”
เมื่อพูดถึง “ฮอร์โมนออกซิโตซิน” หลายคนมักนึกถึงฮอร์โมนแห่งความผูกพันระหว่างแม่และลูก เพราะถือเป็นฮอร์โมนสำคัญในกระบวนการบีบรัดตัวของมดลูกระหว่างคลอด และกระตุ้นต่อมน้ำนมของคุณแม่ให้หลั่งริน เริ่มต้นความสัมพันธ์อันอบอุ่นที่สุดรูปแบบหนึ่ง แม้แต่หนูทดลองเพศเมียที่ได้รับออกซิโตซินในปริมาณมาก ก็ยังแสดงพฤติกรรมความเป็นแม่อย่างชัดเจนทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งท้อง
แต่ออกซิโตซินยังมีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์อีกหลายอย่างซึ่งล้วนแต่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ และความผูกพันธ์ระหว่างกัน เช่น ออกซิโตซินจะหลั่งแบบพรั่งพรูเมื่อคนเราเริ่มตกหลุมรัก หรือคู่รักมีกิจกรรมทางเพศ ช่วยลำเลียงอสุจิให้ถึงจุดหมาย และมีส่วนในการสร้างความรักปักใจ จนเกิดเป็นความลึกซึ้งระหว่างคู่ครอง ถือเป็นแรงขับภายในที่มีส่วนสร้างระบบความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียว แต่พฤติกรรมที่นักวิทยาศาสตร์สนใจ และพยายามประยุกต์ใช้ในการสร้างสังคมในอุดมคติ คือ “การสร้างความสัมพันธ์ในสังคม” ซึ่งเชื่อว่าออกซิโตซินมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทั้งในสัตว์สังคมและมนุษย์
การศึกษาฮอร์โมนในสัตว์สังคมที่มีวิวัฒนาการใกล้เคียงกับมนุษย์เป็นโมเดลที่น่าสนใจ เพราะสามารถเทียบเคียงพฤติกรรมและระบบความสัมพันธ์ของคนในยุคเริ่มแรก ซึ่งยังไม่มีกรอบของกฎหมาย บรรทัดฐาน วัฒนธรรม และประเพณี เข้ามามีส่วนกำหนดพฤติกรรมที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน การติดตามศึกษาในฝูงลิงชิมแพนซีแห่งป่าบูดองโก ในประเทศอูกันดา โดยสถาบันแมกซ์ แพลงค์เพื่อการศึกษามนุษวิทยาด้านวิวัฒนาการ (Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology) พบว่า พฤติกรรมการปันอาหาร และการไซ้ขนเกิดจากแรงขับเคลื่อนของฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งมีผลสร้างความสัมพันธ์ และความไว้เนื้อเชื่อใจในระหว่างฝูงลิง
ความน่าสนใจของการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์สังคมเกิดขึ้นได้อย่างลึกซึ้งแม้ไม่ได้มีสายสัมพันธ์ทางสายเลือด (kin-relation) หรือถูกกระตุ้นด้วยพฤติกรรมทางเพศ แม้ว่านักชีววิทยาจะรู้กันมานานว่าลิงชิมแพนซี และลิงป่าหลายชนิดซึ่งมีความก้าวร้าวสูง สามารถสร้างความสัมพันธ์กันในฝูงได้ด้วยการไซ้ขนและการแบ่งปันอาหาร แต่ยังไม่มีการศึกษากลไลที่ชี้ชัดมาก่อน ว่าเกิดจากแรงขับเคลื่อนใดบ้าง
ทีมวิจัยจึงทดลองเทียบเปรียบความเข้มข้นของระดับฮอร์โมนออกซิโตซินใน “ฉี่” ของลิงชิมแพนซีป่าในพฤติกรรมแบบต่างๆ จนพบว่า หลังจากการฉีกแบ่งอาหารที่ล่าได้ หรือไซ้ขนให้กัน ระดับออกซิโตซินในฉี่ของลิงเหล่านั้นจะสูงกว่าปกติ เช่นเดียวกับลิงที่เกิด “ความฟิน” หลังจากไซ้ขนให้กัน โดยระดับของออกซิโตซินที่วัดผลจากฉี่นี้ พบว่าไม่ขึ้นกับความสัมพันธ์ทางสายเลือดและเพศของลิงแต่อย่างใด เพียงแต่ลิงคู่ไหนที่มีความสัมพันธ์กันลึกซึ้ง สนิทสนมกันมากก็จะมีระดับฮอร์โมนที่สูงกว่าคู่ที่สนิทกันน้อย จากรายงานล่าสุดยังพบว่าหลังจากลิงชิมแพนซีแบ่งปันอาหารให้ลิงป่าฝูงอื่นที่หากินในเขตเดียวกันก็มีระดับออกซิโตซินในฉี่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
มาถึงตรงนี้หลายท่านคงสงสัยว่าถ้ารู้ขนาดนี้น่าจะลองนำมาปรับใช้ในคน? มันจะเหลือหรือครับ... นักชีววิทยา และนักวิจัยด้านการแพทย์ เริ่มพัฒนา “ฮอร์โมนออกซิโตซินแบบสเปรย์” มาตั้งแต่ปี 2548 และพบว่าใช้งานได้จริง โดยมีการทดลองที่สนับสนุนประโยชน์ของการใช้มากมาย ยกตัวอย่าง เช่น การใช้บำบัดอาการซึมเศร้าจากประสบการณ์เลวร้ายในอดีต ในเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา มีรายงานการทดลองเกี่ยวกับ ชีววิทยาของการแลกเปลี่ยนทางอารมณ์ (biology of emotion sharing) กับอาสาสมัครวัยรุ่น และผู้ใหญ่จำนวน 60 คน
โดยอาสาสมัครทุกคนได้รับการพ่นฮอร์โมนออกซิโตซินแบบสเปรย์ผ่านทางจมูก หลังจากนั้นก็เปิดโอกาสให้อยู่ตามลำพัง เพื่อทบทวนประสบการณ์ร้ายๆ ในอดีตที่ยังฝังใจ ดูสารคดีเกี่ยวกับการแชร์ความรู้สึกระหว่างกัน และเขียนบอกเล่าประสบการณ์ร้ายๆ และระบายความรู้สึกแย่ๆ นั้นออกมาเป็นตัวอักษรในช่วงเวลา 45 นาที
แม้ผลการศึกษาจะไม่ได้สวยหรูตามที่วางไว้ เพราะแม้ว่าอาสาสมัครบางส่วนจะสามารถแก้ปมด้วยการเขียนระบายความรู้สึกออกมาได้ แต่อาสาสมัครหลายรายผู้มีแผลในใจบาดลึกจากประสบการณ์ด้านลบในอดีต ก็ยังไม่สามารถเขียนอธิบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผลดีที่นักจิตวิทยาพบก็คือ อาสาสมัครทุกคนมีความพร้อมที่จะแชร์ความรู้สึกแย่ๆ เหล่านี้กับคนอื่นๆ ในรูปแบบการบำบัดทางอารมณ์ร่วมกัน และมีผลลดการปิดกั้นตนเองให้น้อยลงด้วย
แม้ด้านมืดของการใช้สเปรย์ออกซิโตซินจะยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่ามีผลต่อการพัฒนาหรือการทำงานของสมองหรือไม่? หรือมีผลกับคนทุกคนเท่ากันหรือไม่ ? แต่มันก็ถูกใช้ในกลุ่มเด็กออทิสติกมาระยะหนึ่ง เพื่อพัฒนาบุคคลิกด้านสังคมและอารมณ์ให้ดีขึ้น เพราะในผู้ป่วยหลายรายมักมีพัฒนการทางอารมณ์และสังคมช้ากว่าปกติทำให้เข้าสังคมได้ลำบาก จนเกิดผลกระทบต่อการพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่น ทำให้พูดช้า ให้ภาษาได้ไม่คล่องแคล่ว กลัวคนแปลกหน้า กลัวการเริ่มต้นกิจกรรมใหม่ๆ เป็นต้น ในหลายประเทศ มีการวางขายฮอร์โมนออกซิโตซินแบบสเปรย์ในร้านขายยา เพื่อลดความประหม่า เสริมบุคคลิกในการเข้าสังคม และการเจรจาธุรกิจ
อ่านมาถึงตรงนี้ นายปรี๊ดคิดขำๆ ว่าหลายคนคงอยากเหมาสเปรย์ออกซิโตซินมาพ่นให้ทั่วบ้านทั่วเมืองเผื่อปัญหาความแตกแยกทางความคิดจะลดลง คนไทยจะรักกันมากขึ้น แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นเพียงการแก้ปัญหาปลายเหตุด้วยสารเคมี แต่การสังเคราะห์ออกซิโตซินในตัวเรา อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการให้ การแบ่งปัน การสร้างความเข้าใจต่อผู้อื่น ซึ่งไม่ต้องใช้เงิน แต่ต้องใช้ความจริงใจของทุกคนสร้างขึ้นมา... สร้างจิตสัมพันธ์ แบ่งปันให้ “ฟิน” กันไปทั่วหน้าเลยนะครับ :)
อ้างอิง
1.) R. M. Wittig, C. Crockford, T. Deschner, K. E. Langergraber, T. E. Ziegler, K. Zuberbuhler. Food sharing is linked to urinary oxytocin levels and bonding in related and unrelated wild chimpanzees. Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences, 2014; 281 (1778)
2.) Anthony Lane, Olivier Luminet, Bernard Rimé, James J. Gross, Philippe de Timary, Moïra Mikolajczak. Oxytocin increases willingness to socially share one's emotions.International Journal of Psychology, 2012
3.) Ilanit Gordon, Brent C. Vander Wyk, Randi H. Bennett, Cara Cordeaux, Molly V. Lucas, Jeffrey A. Eilbott, Orna Zagoory-Sharon, James F. Leckman, Ruth Feldman, and Kevin A. Pelphrey. Oxytocin enhances brain function in children with autism. PNAS, December 2, 2013 Ilanit Gordona,b,1, Brent C. Vander
เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว
ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์