xs
xsm
sm
md
lg

กอด : ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

หมายเหตุ : ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง “ยอดมนุษย์เงินเดือน” ฉายในปี 2555
เมื่อคราวที่ผมไปเชียงใหม่ครั้งล่าสุด พี่ที่ออฟฟิศท่านหนึ่งฝากซื้อหนังสือที่ชื่อ “ไม่รักไม่บอก” เล่ม 8 ผมจึงซื้อมาฝากหนึ่งเล่ม พร้อมกับซื้อให้ตัวเองอีกหนึ่งเล่ม เพราะเป็นหนังสือแนะนำที่กินในเชียงใหม่ที่ขายดีมาก ผู้อ่านให้การยอมรับ

แต่เนื้อหาภายในเล่มไม่ได้มีแค่เรื่องแนะนำที่กินเท่านั้น ยังมีเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย โดยเฉพาะเล่มล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องราวการรักษาใจกายให้ใกล้-ไกลมะเร็ง จากข้อคิดของหมอหลายแขนงวิชา

ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ เกี่ยวกับเวลาที่เรารู้ตัวว่าป่วยเป็นมะเร็ง มีข้อความหนึ่งที่รู้สึกสะดุดตามาก เลยขออนุญาตคัดลอกข้อความบางช่วงบางตอนดังนี้

“... มะเร็ง ป่วยคนเดียว แต่กระทบถึงทุกคนในครอบครัว สูญเสียความเป็นปกติหมดเลย มะเร็งมีผลต่ออารมณ์ผู้ป่วย อารมณ์ของผู้ป่วยมีผลต่ออารมณ์ของผู้เฝ้าไข้ ดังนั้นต้องรักษาอารมณ์ของผู้ป่วย และผู้เฝ้าไข้ด้วย ตรงนี้สำคัญมาก
ถ้าวันหนึ่งผมรู้ว่าเป็นมะเร็ง ผมไม่มีข้อลังเลที่จะไม่ผ่าตัด ไม่คีโมเลย นับว่าเป็นโชคดี ผมจะยินดีต้อนรับ เพราะผมจะได้นับเคาท์ดาวน์ได้ ปกติชีวิตเรา เราไม่รู้ว่าเราจะไปเริ่มนับเคาท์ดาวน์เมื่อไร การป่วยเป็นโรคนี้ ผมถือว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำความกระจ่างชัดกับเวลาของชีวิต เราจะประมาณได้ มีน้อยมากที่หมอประมาณการแล้วจะอยู่ได้นานกว่าที่หมอบอก
ผมเจอคนรู้จัก เขาป่วยเป็นมะเร็ง หมอบอกว่ามีเวลาเหลืออีกไม่ถึง 6 เดือน...ล่าสุดเขาอุตส่าห์มาพบผม และบอกว่า “มาเพียงเพื่อขอกอดอาจารย์อีกสักครั้ง” ผมกอดเขา ตอบไปว่า “จะมีเวลาอีกกี่วัน อย่าไปสนใจเลยครับ แต่เวลาที่มีอยู่ตอนนี้คือเวลาที่สำคัญที่สุด” ผมขอที่อยู่เพื่อส่งน้ำคาวตองไปให้ จากนั้นเขาส่งข่าวมาบอกว่า หมอวินิจฉัยผลเลือดดีขึ้น เขาก็บอกติดตลกว่า การกอดของอาจารย์มีผลมาก ผมเจอแกอีก แกก็แวะมากอด ผมบอกแกว่า “เป็นความสุขเหลือเกินที่เรายังมีเวลา วันนี้ที่ได้กอดกัน” ผมคิดว่า การที่เขามีอายุมากกว่าที่หมอวินิจฉัย น่าจะเป็นเพราะสภาพจิตแกดี ตอนหลังเขามาเป็นจิตอาสา ทุกครั้งที่เจอเขา เขาร่าเริงจนคนไม่เชื่อว่า เขาป่วย ...”


ผมบอกตามตรงว่าอ่านมาถึงท่อนนี้แล้ว คิดในใจไปว่าเป็นเรื่องที่โคตรโรแมนติกเลย

แต่เกิดขึ้นจริง...


ผมกลับนึกถึงละครหลังข่าวช่อง 3 เรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า “เกมร้ายเกมรัก” ซึ่งออกอากาศไปนานแล้ว จำไม่ได้ว่าใครแสดง ตอนหนึ่งพยาบาลกล่าวกับพระเอกว่า “เค้าบอกว่าการกอดเป็นยาที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอ้อมกอดจากคนที่เรารัก” จากนั้นเมื่อพระเอกลงมือกอดนางเอกแล้ว นางเอกก็ฟื้นขึ้นมา

แต่อันนั้นมันคือในละคร...

ชีวิตจริง การที่คนเป็นแฟนกัน เป็นสามีภรรยากัน จะกอดกันนี่เป็นเรื่องปกติมาก แต่สำหรับในกลุ่มเพื่อนนั้น มันมีข้อจำกัดหลายประการ อย่างน้อยเรื่องวัฒนธรรมรักนวลสงวนตัว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเราไม่กล้าที่จะกอดกัน แตกต่างจากในต่างประเทศที่การกอดคนรู้จักหรือสนิทกันเป็นธรรมเนียมในชีวิตประจำวัน

ผมเคยอ่านกระทู้ในพันทิป มีความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจมาก จากผู้ใช้นามแฝงว่า “พธูไทย” ระบุว่า เพื่อนชาวอเมริกันจะกอดกันทั้งชายและหญิง ลักษณะกอดจะเหมือนโอบมือเขาและเรา จะมีของใครคนใดคนหนึ่งโอบไปที่ไหล่ด้านหลัง แล้วก็มักจะมีการตบเบาๆ ด้วย เพราะตำแหน่งของร่างกายที่เซ็นซิทีฟ (อ่อนไหว) ต่อการสัมผัสมีหลายแห่ง

ส่วนที่สัมพันธ์กับการกอดแบบมิตรภาพ คือตรงไหล่ ถ้ามีใครสักคนเอามือมาทาบที่ไหล่ด้านหลังของเรา เราจะรู้สึกวาบ เพราะกล้ามเนื้อเราจะตอบสนองและความที่มันตอบสนองให้เรารู้สึกได้ ดังนั้นเราก็อาจจะตีความหรือรู้สึกไปต่างๆ นานาได้ เพราะโดยพื้นฐาน การสัมผัสนี้มันทำให้เรารู้สึกอบอุ่น และความรู้สึกนี้ เรามักจะมีให้กับคู่รักของเรา มากกว่าที่ควรจะมีให้กับคนแปลกหน้า หรือแม้กระทั่งเพื่อนสนิท

แต่หากตัดความรู้สึกอบอุ่นแบบเชิงชาย-หญิงออกแล้ว ความรู้สึกนี้จะเป็นความรู้สึกของความไว้วางใจ และหากในหมู่นักการเมือง หรือชายโอบชาย เขาจะทำแบบนี้ เพื่อที่จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า คือ ไว้วางใจนะ เราไม่ใช่ศัตรูกัน

สิ่งที่แฝงมากับการกอดอย่างหนึ่งก็คือ อ็อกซิโตซิน (oxytocin) หรือ ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน ซึ่งเป็นสารเคมีหรือฮอร์โมนที่หลั่งมาจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง

อ็อกซิโตซิน เป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของสมองและสุขภาพ ทำให้จิตใจสงบ คลายเครียด กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ช่วยให้นอนหลับ ช่วยให้แผลหายเร็ว ช่วยลดอาการปวด ส่งเสริมให้มีจิตเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือผู้อื่น อีกทั้งยังเป็นสารสุขที่หลั่งออกมาพร้อมกับเอ็นดอร์ฟิน (endorphin) อีกด้วย

ฮฮร์โมนนี้มักจะเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะฝ่ายชายจะมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งถือเป็นฮอร์โมนแห่งเซ็กซ์และความก้าวร้าว แต่ฝ่ายหญิงจะเกิดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรักและเสน่หา พร้อมกับฮอร์โมนอ็อกซีโตซิน ซึ่งจะมีความรู้สึกผูกพันกับผู้ชายที่ตัวเองคบหาด้วย นำไปสู่แนวโน้มรักเดียวใจเดียว

ถึงได้มีคำกล่าวที่ว่า ยิ่งชายหญิงมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งแค่ไหน ความผูกพันก็มีมากขึ้นเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ค่านิยมเกี่ยวกับสังคมไทยในอดีตทำให้การกอดยังคงเป็นเรื่องที่น่าอาย และให้กันได้เฉพาะคนที่สนิทใจกันจริงๆ เท่านั้น ทั้งๆ ที่หลายต่อหลายครั้งการกอดไม่ได้กลายเป็นการส่งสัญญาณถึงความต้องการทางเพศ เพียงแต่ต้องการเยียวยาจิตใจทั้งจากความตื้นตันยินดี หรือจากความเจ็บปวดและผิดหวังเท่านั้น

พูดถึงการกอดทำให้นึกถึงเพื่อนสมัยมัธยมซึ่งสนิทกันมากในกลุ่ม เขาเป็นคนที่มีความสามารถ มีภาวะความเป็นผู้นำ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าห้อง ผมกับเขามักจะร่วมงานกลุ่มกันเป็นประจำจนเกิดความสนิทกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งเวลาที่ผมเสียใจมากที่สุดกับปัญหาบางอย่าง ผมก็รู้สึกดีขึ้นเมื่อได้กอดคอกันกับเพื่อนคนนี้

ปัจจุบันหลังจากพ้นวัยมัธยมปลาย ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปแสวงหาอนาคตในรั้วมหาวิทยาลัย ผมได้เจอเพื่อนคนนี้แค่ครั้งเดียวเองกระมัง หลังจากนั้นก็ขาดการติดต่อไปนานแล้ว ทราบมาว่าล่าสุดเขาอยู่ต่างจังหวัด ขณะที่ชีวิตผมก็ระหกระเหินอยู่กับการเรียน การทำงาน กิจกรรมทางการเมือง จนทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่าอยากมีเพื่อนสนิทมากกว่าแฟน

ทุกวันนี้เวลาเพื่อนที่สนิทกันในระดับหนึ่งเข้ามากอดผมเวลาเจอกัน หรือเวลาที่ผมได้กอดเพื่อนที่หายไปนานเมื่อยามที่ได้เจอหน้า ผมจะรู้สึกดี มีความสุขมาก แม้จะถูกคนรอบข้างแซวแบบตลกขบขันไปบ้าง แต่ผมก็ไม่ถือสา ทำนองว่าไหนๆ ก็รู้สึกมีความสุขแล้ว ยอมเป็นตัวตลกให้วันหนึ่งก็ได้ ไม่โกรธ

มีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งมักจะบ่นให้ฟังทางทวิตเตอร์อยู่บ่อยๆ ตั้งแต่เรียนมัธยม กระทั่งเป็นนิสิตนิสิตในปัจจุบัน ว่าเป็นคนชอบกอดเพื่อน โดยเฉพาะเพื่อนผู้หญิง แต่ไม่ใช่เรื่องชู้สาวหรือเรื่องอารมณ์ทางเพศ นานมาแล้วเขาเคยเล่าให้ฟังว่าเขาเคยกอดเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งแล้วรู้สึกดีมาก แต่ไม่ได้ถึงขั้นมีอะไรกัน ซึ่งผมเห็นน้องเขาไม่เคยมีอะไรกับใครถึงทุกวันนี้

เขาเคยตั้งคำถามไว้กับตัวเองว่า “ชอบกอดมันผิดตรงไหน?”

สำหรับผมกลับเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า นิยามความรักไม่มีผิดไม่มีถูกฉันใด การกอดไม่มีผิดไม่มีถูกฉันนั้น แม้ค่านิยมสังคมไทยจะไม่เปิดรับการแสดงออกแบบนั้นก็ตาม แต่ผมเชื่อว่าหากได้กอดใครสักคนนานๆ สักนาทีสองนาที แล้วฮอร์โมนแห่งความผูกพันเกิดขึ้นมา มันไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ใจเกิดขึ้นแน่นอน

ขึ้นอยู่กับว่าอีกฝ่ายจะเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการหรือไม่แค่นั้น...
กำลังโหลดความคิดเห็น