xs
xsm
sm
md
lg

“แอนท์-โรเนาต์” ส่งรังมดขึ้นสู่อวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพขยายของมด <I> เตตระมอเรียม ซีสไปตัม (Tetramorium caespitum) </I> สปีชีส์ที่ถูกเลือกส่งขึ้นไปในอวกาศ (NASA/Bioserve)
ฝูงมดในรังเหล่านั้นไม่ใช่มดธรรมดาอีกต่อไป เมื่อเที่ยวบินขนส่งอวกาศพาณิชย์ได้ขนรังมดที่มีแมลงจิ๋ว 6 ขากว่า 800 ชีวิตขึ้นสู่สถานีอวกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองของนักเรียนที่หวังจะเห็นการสร้างอาณาจักรของมดในวงโคจร

ตามที่สเปซด็อทคอมรายงาน “แอนท์-โรเนาต์” (ant-ronauts) น่าจะเป็นชื่อเรียกที่เหมาะสมสำหรับฝูงมดกว่า 800 ตัวที่ถูกส่งขึ้นไปกับยานซิกนัส (Cygnus) ของบริษัทออร์บิทัลไซนส์คอร์เปอเรชัน บริษัทเอกชนที่ทำสัญญากับองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ในการขนส่งเสบียงและสัมภาระสู่สถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อ 9 ม.ค.2014 และเพิ่งไปถึงเป้าหมายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา

ทารา รัตทรีย์ (Tara Ruttley) นักวิทยาศาสตร์นาซาผู้ประสานงานโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ กล่าวว่า การส่งฝูงมดเหล่านั้นสู่วงโคจรเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองของนักเรียน ซึ่งทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักเรียนคาดหวังที่จะเห็นพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวของแมลงดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปเมื่ออยู่ในที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำ

“จะมีกล้องไว้จับตาดูมด และทั้งภาพทั้งวิดีโอจะถูกส่งสัญญาณกลับลงมาให้นักเรียนบนพื้นโลก และนักเรียนเหล่านั้นก็จะได้การทดลองทางการศึกษาที่จัดขึ้นไม่เหมือนห้องเรียนไหนในประเทศนี้” รัตทรีย์ กล่าวถึงการทดลองส่งมดขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งมีการบันทึกภาพชีวิตมดเหล่านั้นส่งกลับลงมาให้นักเรียนในอเมริกาที่เป็นเจ้าของโครงการได้ศึกษา

การศึกษามดในวงโคจรนี้จะศึกษาผลกระทบของภาวะไร้น้ำหนักต่อวิถีที่กลุ่มมดเคลื่อนไหวเพื่อออกหาอาหาร ซึ่ง สเตฟานี คันทรีแมน (Stefanie Countryman) จากศูนย์วิจัยไบโอเซิร์ฟ (BioServe) มหาวิทยาลัยโคโรราโดโบลเดอร์ (University of Colorado Boulder) ที่ออกแบบการทดลองกล่าว ว่าการศึกษาก่อนหน้านีเผยให้เห็นว่า มดแต่ละตัวในกลุ่มจะออกไปสำรวจพื้นที่เล็กๆ โดยเดินเป็นวงกลมแบบสุ่ม

เพื่อหามดที่สมบูรณ์แบบสำหรับการท่องอวกาศ สเปซด็อทคอมระบุว่า ทีมวิทยาศาสตร์ในโครงการได้เลือกมดสปีชีส์ เตตระมอเรียม ซีสไปตัม (Tetramorium caespitum) เพื่อส่งขึ้นสู่อวกาศ โดยบางส่วนถูกจับมาจากโบลเดอร์ โคโรราโด ขณะที่ส่วนหนึ่งเก็บมาจากนอร์ธคาโรไลนา และฐานปล่อยจรวดของนาซาที่สำนักอำนวยการบินวัลลอปส์ (Wallops Flight Facility) บนเกาะวัลลอปส์ เวอร์จิเนีย

คันทรีแมน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของไบโอเซิร์ฟ และผู้อำนวยการโครงการศึกษา อธิบายว่าเมื่อความหนาแน่นของอาหารมดลดลง มดแต่ละตัวจะออกไปค้นหาโดยการเดินออกไปเป็นเส้นตรง ทำให้ครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น ซึ่งการทดลองในวงโคจรนั้นต้องการวิเคราะห์ว่า มดในความโน้มถ่วงต่ำนั้นจะรวมตัวเป็นกลุ่มเหมือนบนโลกหรือไม่ โดยมีการทดลองควบคุมที่ภาคพื้นในห้องเรียนระดับประถม-มัธยมศึกษาทั่วโลก






ขณะที่นาซาจะวิเคราะห์ผลการทดลองดังกล่าวว่า มดรวมกลุ่มกันอย่างชาญฉลาดได้อย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงคณิตศาสตร์ที่ดีขึ้น เพื่อวางเส้นทางสำหรับรถบรรทุก และวางตารางสายการบิน ท่ามกลางปัญหาในโลกจริงอันซับซ้อน ส่วนรัตทรีย์กล่าวว่า การทดลองนี้จะให้บทเรียนเกี่ยวกับการปรับตัวของสัตว์ในสภาพแรงโน้มถ่วงที่แตกต่างออกไป เพื่อนำไปปรับใช้กับทุกสิ่งมีชีวิตที่ถูกส่งขึ้นสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำ

“เราทั้งหมดเป็นสิ่งมีชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีแรงโน้มถ่วง เรามนุษย์ทั้งหลาย มนุษย์อวกาศ เราขึ้นไปบนนั้น เราปรับตัว เมื่อเรากลับบ้าน เราก็ปรับตัวอีกครั้งให้เข้ากับโลก” รัตทรีย์ กล่าว พร้อมทั้งย้อนถึงกรณีของแมงมุมกระโดดที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งยังคงกระโดดกลับหลังเมื่อกลับลงมายังโลก แต่ที่สุดแมงมุมเหล่านั้นก็ปรับตัวใหม่เพื่อใช้ชีวิตกับแรงโน้มถ่วงอีกครั้ง
รังมดที่ถูกบรรจุเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับขนส่งทางอวกาศ ซึ่งตอนนี้รังมดไปถึงสถานีอวกาศเรียบร้อยแล้ว (CU Boulder)
มดที่อยู่ในอุปกรณ์เพื่อศึกษาพฤติกรรมในอวกาศ






กำลังโหลดความคิดเห็น