xs
xsm
sm
md
lg

เพาะ “ถั่วงอก” ในขวดน้ำดื่มกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเพาะถั่วงอกไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป เพียงแค่มีขวดน้ำพลาสติกใบเดียวก็ใช้เป็นอุปกรณ์เพาะถั่วงอกไว้กินได้แล้ว ซึ่งหลายคนที่ติดตามกระแสปลูกผักในเมือง อาจจะเพาะถั่วงอกด้วยวิธีนี้จนเชี่ยวชาญแล้ว แต่เราจะมารีวิวกันอีกรอบ

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมสำหรับการเพาะถั่วงอก คือ ขวดน้ำดื่มพลาสติก คัตเตอร์ หัวแร้งไฟฟ้า ตะแกรงไนลอนหรือตะแกรงเกล็ดปลา และน้ำสะอาด เมื่อได้อุปกรณ์ทั้งหมดแล้วนำมาเจาะรูด้วยหัวแร้งไฟฟ้าเพื่อเป็นรูระบายน้ำ โดยเจาะที่ด้านข้างเพียงด้านเดียวของขวด 2 แถวๆ ละ 5 รู (เว้นระยะจากก้นขวดประมาณ 2 นิ้ว เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับแช่เมล็ดถั่ว) และเจาะที่ฝาปิดขวดอีก 3 รู จากนั้นใช้ตัตเตอร์ตัดขวดด้านตรงข้ามที่เจาะรู เพื่อเป็นช่องสำหรับรดน้ำ

เมื่อได้อุปกรณ์พร้อมแล้วก็มาถึงขั้นตอนเตรียมความพร้อมเมล็ดถั่วเขียว โดยเติมเมล็ดถั่วเขียวลงในขวดที่เตรียมไว้ประมาณ 1 ใน 4 ของความสูงของขวด (ไม่ให้เกินระดับที่ตัดเปิดช่องรดน้ำและรูระบายน้ำที่เจาะไว้) จากนั้นเติมน้ำอุ่นซึ่งผสมน้ำร้อน 1 ส่วน ต่อน้ำธรรมดา 3 ส่วน แล้วแช่เมล็ดถั่วทิ้งไว้ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้เมล็ดถั่วพองตัว

หลังจากแช่เมล็ดถั่วแล้ว นำไปล้างน้ำ 1-2 ครั้ง จากนั้นกระจายเมล็ดถั่วให้ทั่วขวดและวางในแนวนอน แล้วใช้ตะแกรงไนลอน หรือตะแกรงเกล็ดปลา หรืออุปกรณ์ชวยพรางแสงอื่นๆ หุ้มขวด จากนั้นรดน้ำทุกๆ 6 ชั่วโมง จนผ่านไป 60 ชั่วโมงก็จะได้ถั่วงอกไว้รับประทาน

การเพาะถั่วงอกในขวดน้ำพลาสติกนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงานถนนสายวิทยาศาสตร์รับวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2557 ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่าง 9-11 ม.ค.57 โดยเป็นกิจกรรมร่วมฉลองปีสากลแห่งเกษตรกรรมแบบครอบครัว (International Year for Family Farming) ในปี 2557 ที่กำหนดขึ้นโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมในกิจกรรมจะได้รับอุปกรณ์เพาะถั่วงอกพร้อมเมล็ดถั่วกลับบ้าน

รายละเอียดเพิ่มเติม ที่

http://www.facebook.com/nsmfamilyfarming






ทั้งนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้เยาวชนได้ร่วมสนุกอีกกว่า 50 สถานี สำหรับเยาวชน และโรงเรียนที่สนใจสามารถมาเที่ยวชมงานถนนสายวิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถนนพระรามที่ 6 ได้ตั้งแต่วันที่ 9-11 ม.ค.57 เปิดให้เที่ยวชมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ 9.00-17.00 น.โดยสามารถเดินทางได้ทั้งรถโดยสารประจำทางสาย 8, 44, 67, 97, ปอ.44, ปอ.157, ปอ.171, ปอ.509, ปอ.538 ตลอดจนรถไฟฟ้าบีทีเอส

หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร. 0 2577 9999







กำลังโหลดความคิดเห็น