แม้ลมหนาวจะเริ่มคลายตัวจากคนไทยแล้ว แต่หลายพื้นที่ของโลกยังประสบภัยหนาวแสนสาหัส โดยเฉพาะพื้นที่ได้รับอิทธิพลของมวลอากาศจากขั้วโลกเหนือ หรือ “โพลาร์วอร์เทกซ์” ที่มีอุณหภูมิติดลบไปหลายสิบองศาเซลเซียส เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เราสรุปได้หรือไม่ว่า เราไม่ได้ประสบภาวะโลกร้อน?
“ไม่” คือคำตอบ โดยรายงานของไลฟ์ไซน์อธิบายว่า สิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจคือ “สภาพอากาศ” ไม่ใช่ “ภูมิอากาศ” และการเกิดพายุเพียงลูกเดียวไม่ใช่หลักฐานแย้งเรื่องโลกร้อน (global warming) ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ สทอภ.พยายามอธิบายแก่ผู้สื่อข่าวและสังคมอยู่บ่อยครั้ง
“เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจว่า สภาพอากาศก็เหมือนการแข่งฟุตบอลสักเกม ส่วนภูมิอากาศก็เหมือนประวัติการแข่งขันลีกฟุตบอลระดับชาติ” ไลฟ์ไซน์ระบุความเห็นของ ไมค์ เนลสัน (Mike Nelson) นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโสประจำสถานีโทรทัศน์ KMGH ในเดนเวอร์ สหรัฐฯ ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก
แม้ว่าตอนนี้สหรัฐฯ และแคนาดาจะเผชิญอากาศหนาวเหน็บยิ่งกว่าตู้แช่แข็งจากอิทธิพลของมวลอากาศจากขั้วโลกเหนือ (Polar Vortex) แต่ข้อมูลที่บันทึกโดยสำนักบริการสภาพอากาศระดับชาติ (National Weather Service) ของสหรัฐฯ ตั้งแต่กลางศตวรรษ 1800 เผยว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิในช่วงหน้าหนาวของประเทศโดยเฉลี่ยนั้นอุ่นขึ้น
ตัวอย่างที่ชี้ว่าอากาศอุ่นขึ้น เช่น ทะเลสาบในมิดเวสต์นั้นแข็งตัวช้ากว่าปกติ และแผ่นน้ำแข็งยังบางกว่าที่เคย ทำให้การตกปลาบนแผ่นน้ำแข็งเป็นเรื่องอันตรายมากขึ้น หรือฤดูใบไม้ผลิก็มาเยือนสหรัฐฯ เร็วกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนเกือบครึ่งเดือน ต้นไม้และดอกไม้ก็ผลิบานเร็วขึ้น ขณะที่นกและแมลงก็มาเร็วกว่าปกติด้วย เป็นต้น
ด้าน มาร์แชล เชเพิร์ด (Marshall Shepherd) ประธานสมาคมอุตุนิยมวิทยาก็ระบุในบล็อกตัวเองว่า สภาพอากาศเย็นหรือเหน็บหนาวเป็นวัน เป็นสัปดาห์ หรือฤดูกาล ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ยังมีหลักฐานว่าโลกร้อนได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอากาศในอาร์กติกและที่อื่นในโลก ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดพายุฤดูหนาวถล่มสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ขั้วโลกยังทำให้น้ำแข็งที่ปกคลุมอาร์กติกหดลง ซึ่งทำให้น้ำแข็งเหล่านั้นเหลือเล็กลงและบางลง ยิ่งมีน้ำแข็งน้อยยิ่งหมายถึงความร้อนในช่วงฤดูร้อนจากดวงอาทิตย์จะถูกเก็บในมหาสมุทร แทนที่จะถูกสะท้อนออกไปสู่บรรยากาศ
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่น้ำแข็งอาร์กติกซึ่งหดเล็กลงส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศคือการผลักอากาศหนาวลงใต้ เมื่อความร้อนในมหาสมุทรที่ถูกเก็บไว้หลุดรอดออกมาในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ก็ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบลมในชั้นบรรยากาศที่เรียกว่า “โพลาร์วอร์เท็กซ์” หรือ มวลอากาศจากขั้วโลกเหนือ พ่นอากาศเย็นจัดของอาร์กติกสู่อเมริกาเหนือและยุโรป
ท้ายสุดแล้วก็มีเพียงฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ และเพียงไม่กี่วันก่อนปีใหม่ทางออสเตรเลียก็ตั้งต้นสู่ความร้อนที่เป็นประวัติกาลอีกครั้ง โดยเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมาก็นับเป็นปีที่ร้อนที่สุดของออสเตรเลียเท่าที่มีการบันทึกไว้ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาออสเตรเลียร้อนถึง 51 องศาเซลเซียส และมีการเตือนเรื่องปัญหาไฟป่าในควีนสแลนด์และเวสเทิร์นออสเตรเลีย
ส่วนกรณีเรือวิจัยที่ติดอยู่บนแผ่นน้ำแข็งทวีปแอนตาร์กติกาทางขั้วโลกใต้เมื่อช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมา จากการติดน้ำแข็งที่พัดมาจากพายุไซโคลนที่รุนแรงก็ยังไม่ใช่สิ่งที่จะปฏิเสธภาวะโลกร้อน โดยไลฟ์ไซน์ระบุว่า ตามความเห็นของนักวิทยาศาสตร์นั้น อากาศที่ร้อนกว่าจะอุ้มความชื้นไว้ ซึ่งทำให้เกิดหิมะและน้ำแข็งในทะเลมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของลักษณะพายุในทวีปน้ำแข็งนั้นยังเสริมให้เกิดทะเลน้ำแข็งมากขึ้น ทว่าน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาก็ยังหดลดลงตามที่มีการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้