xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ไต้หวันพบวิธีตรวจแบคทีเรียต้นเหตุ “กุ้งตายด่วน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไบโอเทค - ไทย-ไต้หวัน ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิธีการตรวจแบคทีเรียสาเหตุกุ้งตายด่วน (EMS) และพร้อมตกลงเผยแพร่ข้อมูลวิธีการตรวจสู่สาธารณะเพื่อนำไปใช้ในการลดการระบาดของโรค

ปัญหากุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) หรือกุ้งอีเอ็มเอส เริ่มมีการระบาดครั้งแรกในประเทศจีน ในปี 2552 และมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วสู่ประเทศเวียดนามในปี 2553 ในมาเลเซียปี 2554 และไทยปี 2555 ตามลำดับ จากตัวอย่างกุ้งตายด่วนที่ทำการศึกษา พบว่ามีตัวอย่างที่มีโรคของตับและตับอ่อนวายฉับพลัน (Acute Hepatopancreatic Necrosis Disease: AHPND) เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังการปล่อยลูกกุ้งลงบ่อดินไม่เกิน 35 วัน

ในต้นปี 2556 พบว่าแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคนี้คือแบคทีเรียในกลุ่ม วิบริโอ พาราฮีโมไลทิคัส (Vibrio parahaemolyticus) ในขณะนั้นถึงแม้จะทราบสาเหตุของโรค แต่การควบคุมและป้องกันแบคทีเรียสาเหตุนี้เป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังขาดวิธีการตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรคที่มีความจำเพาะและรวดเร็ว ที่สามารถจะนำไปใช้ตรวจหาเชื้อก่อโรคในพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และคัดกรองลูกกุ้งก่อนปล่อยลงบ่อดินได้

คณะนักวิจัยไทย นำโดย ศ.ดร.ทิมโมที ฟลีเกล ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับคณะนักวิจัยไต้หวันนำโดย ศ.หลัว จู๋ฟาง (Prof. Chu Fang Lo) จากมหาวิทยาลัยไต้หวันเฉิงกง (National Cheng Kung University: NCKU) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิธีการตรวจแบคทีเรียสาเหตุกุ้งตายด่วนอีเอ็มเอสด้วยเทคนิคพีซีอาร์ (PCR) ซึ่งการตรวจแบคทีเรียก่อโรคได้นี้จะช่วยลดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของเชื้อก่อโรคอีเอ้มเอสลงได้ และลดความเสี่ยงในการระบาดของแบคทีเรียชนิดนี้ต่อไป

เมื่อคำนึงถึงผลกระทบของโรคระบาดนี้ต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในระดับโลก และความเร่งด่วนที่จะต้องควบคุมการระบาด ทางคณะนักวิจัยจึงได้เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ทั้งวิธีการ และลำดับเบสในการออกแบบไพรเมอร์สำหรับตรวจหาเชื้อดังกล่าวสู่สาธารณะ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำวิธีการไปใช้เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรคได้อย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ วิจัยนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง , มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ยังได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยในปี 2554 จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวทช. มหาวิทยาลัยมหิดล ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งปัตตานี ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท ซายอาคควาสยาม จำกัด และ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานในไต้หวัน ได้แก่ สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (Taiwan National Science Council), มหาวิทยาลัยไต้หวันเฉิงกง, มหาวิทยาลัยแห่งไต้หวัน (National Taiwan University; NTU) และ ยูนิเพรสซิเดนท์เอนเตอร์ไพรส์คอร์เปอเรชัน (Uni-president Enterprises Corporation)







กำลังโหลดความคิดเห็น