วว.เปิดตัวพืชไทย “วงศ์ชาฤาษี” พันธุ์ใหม่ 6 ชนิด เตรียมเพาะขยายเป็นพันธุ์ไม้สวยงามทางเศรษฐกิจ สร้างอาชีพและอนุรักษ์พันธุ์ พร้อมวางแผนเก็บรักษาไว้ในรูปเมล็ดพันธุ์ในห้องอุณหภูมิต่ำที่ธนาคารเชื้อพันธุ์พืช ที่จะเปิดทำการปีหน้า อีกทั้งมีศึกษาคุณสมบัติทางยาต่อไปด้วย
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า นักวิจัยของสถาบันได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์ชาฤาษี (Family Gesneriaceae) 6 ชนิด ได้ แก่ เศวตแดนสรวง ข้าวตอกโยนก บุหงาการะเกตุ เนตรม่วง สุดดีดาว และมาลัยฟ้อนเล็บ ซึ่งทั้งหมดเป็นพรรณไม้สวยงาม และจะนำมาเพาะพันธุ์ทางเศรษฐกิจต่อไป
ด้าน ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ นักวิจัยฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว.และหัวหน้าโครงการวิจัยธนาคารเชื้อพันธุ์พืช ซึ่งเป็นผู้ออกสำรวจพืชในวงศ์ชาฤาษี กล่าวอธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เริ่มออกสำรวจพืชในวงศ์ชาฤาษีมาได้ประมาณ 5 ปี ซึ่งเป้าหมายแท้จริงไม่ใช่การค้นหาพืชพันธุ์ใหม่ แต่มีหน้าที่ในการรวบรวมพันธุ์พืชเพื่อป้องกันการสูญหาย โดยเก็บไว้ในรูปเชื้อพันธุ์คือเพาะในแปลงปลูก และเก็บไว้ในรูปของเมล็ดพันธุ์
“ตอนนี้เก็บเมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งไว้ในตู้เย็น แต่อนาคตจะมีห้องอุณหภูมิต่ำที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์พืชที่ลำตะคอง จ.นครราชสีมา ซึ่งภายในปี 2557 น่าจะเริ่มใช้งานได้” ดร.ปราโมทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชวงศ์ขิง วงศ์เทียนและวงศ์ชาฤาษีกล่าว
แนวทางในการขยายพันธุ์พืชทั้ง 6 ชนิดนั้น ดร.ปราโมทย์ แจงว่าจะเพาะขยายด้วยเมล็ด เนื่องจากฝักของพืชมีเมล็ดมากกว่า 500 ชนิด ซึ่งในธรรมชาติอาจมีโอกาสในการงอกได้เนื่องจากไปตกในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม แต่เชื่อว่าการปลูกทดลองน่าจะโอกาสเกิดเกินครึ่งหรือเกิดครบทั้งหมด และยังเป็นวิธีที่มีต้นทุนถูกกว่าการเพาะขยายด้วยเนื้อเยื่อ
สำหรับพืชในวงศ์ชาฤาษีนั้นเป็นพืชล้มลุกที่เจอเฉพาะฤดูฝน และส่วนใหญ่มีอายุสั้นเพียง 1 ปี เมื่อถึงฤดูแล้งจะเหี่ยวตายไป ยกเว้นเศวตแดนสรวงที่ทีมวิจัยพบว่าน่าจะอยู่ได้ถึง 10 ปี โดยเมื่อเหี่ยวเฉาไปแล้วจะมีหน่อใหม่ขึ้นมาทดแทน ลักษณะเด่นของพืชวงศ์นี้คือดอกมี 5 แฉก แบ่งเป็นด้านบน 2 แฉก และด้านล่าง 3 แฉก อาศัยในพื้นที่แล้ง และเกิดตามซอกหิน มีฝักสำหรับกระจายเมล็ด ซึ่งเมื่อฝักแห้งจะแตกและบิดเกลียว ทำให้ลมพัดกระจายไปได้ไกล
สำหรับที่มาของชื่อวงศ์นั้น ดร.ปราโมทย์ กล่าวว่า มีการนำใบของพืชวงศ์นี้มาตากแห้งเพื่อผลิตเป็นชา จึงเป็นไปได้ว่าพืชวงศ์นี้จะมีคุณสมบัติทางยา ซึ่งต้องศึกษาในเรื่องนี้ต่อไป แต่สำหรับพืช 6 ชนิดใหม่ที่ค้นพบนี้เป็นพืชที่นำออกมาจากป่า และยังไม่มีการตั้งชื่อเรียกสามัญ รวมถึงชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ ทั่วโลกมีพืชวงศ์ชาฤาษีประมาณ 3,900 ชนิด ซึ่งในการตรวจสอบว่าเป็นพืชชนิดใหม่หรือไม่นั้น นักวิจัยซึ่งมีข้อมูลและเอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับพืชวงศ์นี้ส่วนหนึ่งแล้ว จะเปรียบเทียบลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชที่เก็บตัวอย่างมาศึกษา หากไม่ซ้ำกับลักษณะที่มีอยู่เดิม ก็ถือเป็นพันธุ์ใหม่ และทำการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นภาษาละติน โดยตั้งชื่อได้หลายลักษณะ เช่น ตั้งชื่อตามผู้ค้นพบ หรือลักษณะเด่นของพืช เป็นต้น และปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีจัดหมวดหมู่พืชที่ตรวจสอบได้ถึงระดับดีเอ็นเอ
สำหรับชาฤาษีทั้ง 6 ชนิดนี้ ทีมวิจัยได้เปรียบเทียบข้อมูลจากเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ซึ่งมีพืชในวงศ์เดียวกับ และพบว่าไม่ซ้ำ จึงได้ตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการไทยฟอเรสต์บูลเลติน (Thai Forest Bulletin) ซึ่งเป็นวารสารที่ได้รับการยอมรับระดับโลก เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพบด้วยว่าชาฤาษีชนิดใหม่เกือบทั้งหมดอยู่ในระบบนิเวศที่ค่อนข้างเปรอะบางซึ่งง่ายต่อการถูกคุกคาม เช่น มาลัยฟ้อนเล็บ และสุดดีดาว ซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่ซึ่งมีการระเบิดหิน ในอนาคตจึงอาจต้องเสนอเป็นพืชกลุ่มหายากหรือพืชถูกคุกคามที่ต้องขึ้นบัญชี
***
รายละเอียดของพืชวงศ์ชาฤาษีชนิดใหม่ ดังนี้
เศวตแดนสรวง หรือชื่อวิทยาศาสตร์ พาราโยเอีย มิดเดิลโทนี (Parabowa middletonii) เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ขึ้นบนเกาะหิน ลำต้นตั้งตรง สูง 10-30 เซ็นติเมตร ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ชิดติดกันบริเวณส่วนปลายของลำต้น ดอกสีขาวบานช่วงต้นเดือน ส.ค.-ต.ค. ค้นพบทางภาคเหนือ ในเขต จ.น่าน ขึ้นบนหินปูนในร่มรำไร ที่ความสูง 1,000-1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ข้าวตอกโยนก หรือชื่อวิทยาศาสตร์ ไมโครชิริตา อัลบิฟลอรา (Microchirita albiflora) เป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นฉ่ำน้ำ สีเขียวอ่อน ใบเรียงตรงข้าม ดอกสีขาวบานช่วงต้นเดือน ส.ค.-ปลายเดือน ต.ค.ค้นพบทางภาคเหนือ ในเขต อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ความสูง 500-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล
บุหงาการะเกตุ หรือ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ไมโครชิริตา คาราเกติ (Microchirita karaketii) ไม้ล้มลุกปีเดียว สูงได้ถึง 60 ซม.ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกเกิดบนใบ ดอกสีขาวมีแต้มสีม่วงและสีเหลือง บานช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ค้นพบทางภาคเหนือ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว) พบตามป่าผลัดใบแบบผสม ตามภูเขาหินปูน ที่ความสูง 530-750 ม.จากระดับน้ำทะเล
เนตรม่วง ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ไมโครชิริตา พัวร์พูเรีย (Microchirita purpurea) ไม้ล้มลุกปีเดียว สูง 0.25-1 ม.ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกเกิดบนใบ ดอกสีม่วงบานช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ค้นพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ในเขตจังหวัดจันทบุรี (อำเภอแก่งหางแมว) พบตามหน้าผาหินปูนแบบเปิดหรือบริเวณปากถ้ำ
สุดดีดาว ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ไมโครชิริตา สุดดีอิ (Microchirita suddeei) เป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ตั้งตรง สูงได้ถึง 40 ซม.ใบเรียงตรงข้าม แผ่นใบบาง รูปไข่ ช่อดอกเกิดบนใบที่รอยต่อของก้านใบกับแผ่นใบ ดอกสีขาวนวลหรือสีมาวงอ่อนบานช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ค้นพบทางภาคเหนือ ในเขต อ.ร้องกวาง จ.แพร่ และ อ.งาว อ.แจ้ห่ม และอ.บ้านสา จ.ลำปาง พบตามหินปูนในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบแบบผสม ที่ความสูง 200-600 เมตร จากระดับน้ำทะเล
มาลัยฟ้อนเล็บ ไมโครชิริตา วูดี (Microchirita woodii) เป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นสูงได้ถึง 50 เซนติเมตร ใบเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปไข่ ช่อดอกเกิดบนใบ ดอกสีเหลืองอ่อนมีแต้มสีน้ำตาลแดง บานช่วงต้นเดือน ส.ค.ถึงปลายเดือน ต.ค. ค้นพบทางภาคเหนือ ในเขต อ.เมือง จ.น่าน ขึ้นตามเขาหินปูน ในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ