xs
xsm
sm
md
lg

พบค้างคาวผลไม้เป็นแหล่งซ่อนไวรัสถึงตายมากกว่าที่คิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ค้างคาวผลไม้สีน้ำตาลอ่อนพบได้ทั่วแอฟริกา
นักวิทยาศาสตร์พบค้างคาวผลไม้เป็นแหล่งซ่อนไวรัสอันตรายถึงตายมากกว่าที่คิด โดยพบว่ามีเชื้อเฮนิปาไวรัสที่ระบาดได้ในสัตว์และในคน รวมถึงพบโรคระบาดคล้ายโรคพิษสุนัขบ้าแพร่กระจายอยู่ในค้างคาวผลไม้สปีชีส์หนึ่งที่พบในแอฟริกา

รายงานการค้นพบดังกล่าวได้เผยแพร่ลงวารสารเนเจอร์ คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications) อย่างไรก็ดีทางบีบีซีนิวส์ระบุความเห็นของ ศ.เจมส์ วูด (Prof.James Wood) นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) อังกฤษว่า การค้นพบดังกล่าวยังไม่ใช่เหตุที่จะต้องตื่นตระหนกในตอนนี้ โดยไวรัสเหล่านั้นอาจจะยังอยู่ในค้างคาวไปอีกนาน แต่หน่วยควบคุมและดูแลทางด้านสาธารณสุขต้องเฝ้าระวังการสัมผัสติดต่อที่อาจส่งผลให้เกิดการส่งผ่านของเชื้อโรคได้

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบดีว่าค้างคาวเป็นแหล่งรวมไวรัส ที่บางชนิดสามารถแพร่ระบาดสู่สัตว์อื่นและมนุษย์ได้ โดยกำเนิดของโรคระบาดอย่างซาร์ส (Sars) และอีโบลา (Ebola) ก็สามารถตรวจย้อนกลับไปถึงต้นตอของโรคว่ามาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบินได้นี้ และค้างคาวยังถูกพาดพิงว่าเป็นสาเหตุในการระบาดของไวรัสเมิร์ส (Mers) ชนิดใหม่ที่ร้ายแรงถึงตาย

รายงานจากบีบีซีนิวส์โดย รีเบคคา มอเรลล์ (Rebecca Morelle) ระบุอีกว่า ในแอฟริกาค้างคาวผลไม้สีน้ำตาลอ่อน (straw-coloured fruit bat) หรือ ไอโดลอน เฮลวัม (Eidolon helvum) ซึ่งเป็นค้างคาวที่พบกระจายทั่วทวีปมากที่สุด ก็เป็นแหล่งรังโรคติดเชื้อหลายชนิด แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ทราบอาณาเขตที่แน่ชัดของค้างคาวชนิดนี้

เพื่อหาคำตอบดังกล่าว นักวิจัยได้ทดสอบค้างคาวกว่า 2,000 ตัวจาก 12 ประเทศในทวีปแอฟริกา พวกเขาพบว่าค้างคาวมากถึง 42% เป็นแหล่งรังโรคของเฮนิปาไวรัส ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายหากไวรัสดังกล่าวแพร่ระบาดสู่สัตว์อื่นและมนุษย์ โดยเฉพาะในรูปของเฮนดราไวรัส (Hendra virus)

ด้าน ศ.วูด อธิบายว่า ในออสเตรเลียไวรัสดังกล่าวได้ระบาดสู่ม้า และไวรัสก็ผ่านจากม้าเข้าสู่สัตวแพทย์ที่ดูแลม้าป่วย แล้วไวรัสดังกล่าวก็ได้คร่าชีวิตประชาชนในออสเตรเลียจำนวนหนึ่ง ส่วนที่มาเลเซียก็มีการระบาดครั้งใหญ่ในหมูเมื่อปี 1999 ซึ่งมีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู และคนงานในโรงฆ่าหมูเสียชีวิตไปกว่า 100 คน และพบว่า 1 ใน 3 ของค้างคาวผลไม้ติดเชื้อไวรัสค้างคาวลากอส (Lagos bat virus) ซึ่งคล้ายกับไวรัสพิษสุนัขบ้า

ทว่ายังไม่มีหลักฐานว่าไวรัสสองชนิดดังกล่าว (เฮนิปาไวรัสและไวรัสค้างคาวลากอส) ระบาดสู่คนในแอฟริกา แต่ ศ.วูด เสริมว่า การควบคุมโรคในบางพื้นที่ค่อนข้างแย่ และอาจจะกรณีที่มีการติดเชื้อแต่ไม่รับการตรวจ ซึ่งนักวิจัยในโครงการนี้กล่าวว่า การเฝ้าระวังโรคจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา

“สำหรับไวรัสค้างคาวลากอสนั้น ผมคิดว่ามีความเสี่ยงเฉพาะคนที่ล่าค้างคาว เพราะมันน่าจะส่งผ่านเชื้อจากการกัด แต่อาจต้องกังวลมากกว่าสำหรับเชื้อในตระกูลเฮนิปาไวรัส ซึ่งอาจจะมีการส่งผ่านเชื้อจากฉี่ และนั่นก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ที่ต้องพิจารณาสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้รังค้างคาว” ศ.วูดกล่าว

อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยกล่าวว่าการเคลื่อนย้ายค้างคาวหรือการกำจัดค้างคาวไม่ใช่ทางออก ซึ่งวิธีเหล่านั้นอาจทำให้ไวรัสระบาดไปได้ไกลมากขึ้น พร้อมเสริมว่าค้างคาวยังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ โดย ศ.วูด แนะว่า การสร้างความมั่นใจว่า ค้างคาวจะอาศัยอยู่แค่ในพื้นที่คุ้มครอง น่าปลอดภัยกว่าการเคลื่อนย้ายกลุ่มประชากรค้างคาว ซึ่งจะได้รับความเสี่ยงโดยตรง
 ค้างคาวอาศัยเกาะกลุ่มรวมกันได้เป็นล้านตัว และสามารถอาศัยอยู่ใกล้เมืองได้






กำลังโหลดความคิดเห็น