xs
xsm
sm
md
lg

อุปกรณ์ยกอัตโนมัติเคลื่อนย้ายคนแก่-ผู้พิการฝีมือเด็กไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.กรณพัฒน์ ยันต์โกเศศ และ อุปกรณ์ยกอัตโนมัติ Home-Auto Lifting System
เพราะการเดินทางของผู้ป่วย ผู้พิการหรือผู้สูงวัยที่เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้เป็นเรื่องลำบาก โอกาสในการออกไปพบปะผู้คนภายนอกจึงมีน้อย ทีมนักศึกษาธรรมศาสตร์จึงพัฒนาอุปกรณ์ยกอัตโนมัติที่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักได้ถึง 120 กิโลกรัม โดยใช้ผู้ช่วยเหลือเพียงคนเดียว

อุปกรณ์ยกอัตโนมัติ Home-Auto Lifting System เป็นผลงานของทีมนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งออกแบบให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวช่วงขาได้ลำบาก และรองรับน้ำหนักได้ถึง 120 กิโลกรัม โดยให้ใช้ได้ทั้งในบ้านและรถยนต์เพื่อนำผู้ป่วยออกจากบ้าน

น.ส.กรณพัฒน์ ยันต์โกเศศ นักศึกษาปี 4 ภาควิชาเครื่องกล สมาชิกทีมผู้พัฒนา อธิบายว่าอุปกรณ์จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนฐาน และ ส่วนชุดยก โดยส่วนฐานมี 2 แบบคือ ฐานที่ใช้กับล้อรถยนต์ที่ออกแบบให้ปรับตามความกว้าง-ยาวของขนาดล้อแต่ละแบบได้ ทำให้ปรับใช้ชุดยกกับรถยนต์ได้หลายคัน ต่างจากชุดยกที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งต้องติดตั้งที่ใช้ได้กับรถยนต์เฉพาะคันเท่านั้น และฐานสำหรับใช้ภายในบ้าน โดยชุดยกสามารถถอดไปใช้กับฐานทั้งสองแบบ
อุปกรณ์ควบคุมการขึ้น-ลงของชุดยก ที่ควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรล





ในส่วนของชุดยกซึ่งมีอุปกรณ์รองรับผู้ป่วยนั้น ทีมพัฒนาออกแบบให้หมุนได้อิสระและควบคุมการยกขึ้น-ยกลงด้วยรีโมตคอนโทรล ซึ่งการพัฒนาอุปกรณ์ชุดนี้ทีมนักศึกษาได้ใช้ต้นแบบจากอุปกรณ์ประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากต่างประเทศและติดตั้งตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ เป็นต้นแบบในการพัฒนา และแก้จุดด้อยของเครื่องเหล่านั้นที่มีน้ำหนักมากและไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ขณะที้ชุดยกของทีมนักศึกษามีน้ำหนักเพียง 15 กิโลกรัม และผลิตขึ้นจากเหล็กไร้สนิม

ทางด้าน ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ (CED2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงข้อจำกัดของการต่อยอดสิ่งแระดิษฐ์เหล่านี้สู่เชิงพาณิชย์ว่า ผู้ประกอบการมักไม่สนใจลงทุนผลิตอุปกรณ์เหล่านี้เอง ทางศูนย์จึงมีแนวคิดที่จะตั้งบริษัท โดยร่วมมือกับอีกหลายมหาวิทยาลัยที่มีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ เพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณ์ชย์ โดยมีห้องปฏิบัติการของนักศึกษาเป็นหน่วยวิจัยและพัฒนา
ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ
คลิปอธิบายการใช้งาน





แนวคิดในการตั้งบริษัทดังกล่าว ผศ.ดร.บรรยงค์ อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ไม่ต้องการแสวงกำไร แต่ต้องการให้คนที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้ เข้าถึงได้ในราคาไม่สูงไม่มาก ภายใต้วิสัยทัศน์ “ทั่วถึง เข้าถึง ยั่งยืน” ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการรับใช้สังคมตามแนวคิดของมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ผลงานยกอัตโนมัติดังกล่าวยังได้รับรางวัลอันดับ 2 ประเภทการนำเสนอดีเด่น ผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ในการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในงานประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe ที่จัดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับงานประชุมวิชาการ i-CREATe นั้นเป็นโครงการความร่วมมือไทย-สิงคโปร์ ตามประราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อนำเสนอผลงานวิชาการและการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ รวมถึงประกวดสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้อง โดยปีนี้ ไทยโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และศูนย์เทคโนโลยีบำบัดโรค ช่วยเหลือและฟื้นฟูสมรรถภาพสิงคโปร์ (START) ร่วมกับหน่วยงานของเกาหลีใต้เพื่อจัดงานประชุมปีที่ 7 ขึ้นที่เกาหลีใต้







กำลังโหลดความคิดเห็น