xs
xsm
sm
md
lg

ลืมหมีขาวไปก่อน “โลกร้อน” จะทำลายสัตว์เขตร้อนก่อนใคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลาในแถบประการังที่ฮาวาย ทั้งนี้งานวิจัยของนักวิจัยจากฮาวายเผยว่าสัตว์เขตร้อนจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก่อนสัตว์ในเขตหนาว เนื่งจากอยู่ในพื้นที่มีความแตกต่างอุณหภูมิแคบกว่า ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเพียงเล็กน้อยกระทบต่อระบบนิเวศมหาศาล (ไลฟ์ไซน์)
เมื่อมีการรณรงค์ลด “โลกร้อน” ครั้งใด หมีขาวขนปุยมักถูกชูเป็นสัญลักษณ์ของกิจกรรม เพราะเป็นสัตว์ที่จะไร้บ้านอยู่และสูญพันธุ์หากน้ำแข็งขั้วโลกละลายหมด แต่งานวิจัยล่าสุดเผยว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า พืชและสัตว์เขตร้อน (รวมทั้งไทย) จะได้รับความเดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก่อนใคร

จากรายงานของไลฟ์ไซน์ระบุว่า งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ (Nature) เผยถึงความเลวร้ายที่พืชและสัตว์เขตร้อนจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ล่วงหน้าพื้นในเขตอาร์กติกและหมีที่จะเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น

อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่นักวิจัยได้ชี้ชัดเจนถึงปีที่แต่ละเมืองใหญ่ของโลกจะได้เห็นความวิปริตของภูมิอากาศกลายเป็นเรื่องปกติ เช่น เมืองนิวยอร์กซิตีจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงแบบผลิกฝ่ามือไปสู่อุณหภูมิที่ร้อนจัดกว่าเดิมในปี 2047 โดยช้าหรือเร็วกว่านั้น 5 ปี หากการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ยังเดินหน้าต่อไปเท่าเดิม

คามิโล โมรา (Camilo Mora) หัวหน้าทีมวิจัยและนักภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาย (University of Hawaii) ในมาโนอา ฮาวาย สหรัฐฯ กล่าวว่า วันที่หนาวเย็นในอนาคต ยังร้อนกว่าวันที่ระอุที่สุดในอดีตเมื่อ 150 ปีก่อน

คาดการณ์ภูมิอากาศของโลกในอนาคต ยังรวมถึงสภาพเป็นกรดของมหาสมุทร ลักษณะปริมาณฝนตก และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง

ทางด้าน แอบบี เฟรเซียร์ (Abby Frazier) ผู้ร่วมวิจัยและนักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาวายคาดหวังว่า การวิเคราะห์ของพวกเขาจะเป็นข้อความถึงทุกคนว่า ภูมิอากาศกำลังอยู่บนเส้นทางของการเปลี่ยนแปลง

คาดการณ์โลกร้อนนี้เป็นผลจากการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ร่วมกันระหว่างโมราและเพื่อนร่วมงาน ที่ใช้แบบจำลองภูมิอากาศ ซึ่งเป็นอิสระต่อกัน 39 แบบจำลอง และพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์จาก 12 ประเทศ

สำหรับการวิเคราะห์อภิมานนั้นไลฟ์ไซน์ระบุว่า เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติที่ปกติใช้ในวงการแพทย์ ซึ่งจะรวบรมงานวิจัยที่มีอยู่ และพิจารณาแนวโน้มของข้อมูล โดยบางครั้งก็ได้ผลที่น่าประหลาดใจ อย่างการดื่มวันละ 2 แก้วช่วยให้หัวใจแข็งแรง

ทั้งนี้ ทีมมหาวิทยาลัยฮาวายพิจารณาอุณหภูมิพื้นผิว พิจารณาว่าสัตว์ พืช และมนุษย์นั้นจะตอบสนองต่อรูปแบบภูมิอากาศแบบใหม่ ทั้งความเป็นกรดของมหาสมุทร ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนอย่างไร

ทีมวิจัยได้เสนอ 2 คาดการณ์ อย่างแรกคือกรณีที่การปลดปล่อยคาร์บอนไม่ลดลงภายในปี 2100 และอีกกรณีคือการปลดปล่อยคาร์บอนระดับโลกลดลง

ทั้งนี้ ทีมวิจัยระบุว่า เขตร้อนต้องเผชิญความเลวร้ายเนื่องจากอยู่ในภูมิอากาศที่ค่อนข้างคงที่ ไม่เหมือนเขตอาร์กติกที่อุณหภูมิระหว่างหน้าร้อนและหน้าหนาวแตกต่างกัยสุดขั้ว

ดังนั้น พืชและสัตว์เขตร้อนจึงชินกับถิ่นอาศัยที่มีสภาพเหมือนเดิมตลอดปี การเปลี่ยนแปลงเพิ่งเล็กน้อย เช่น อุณหภูมิสูงขึ้นหน่อยก็ทำให้ปริมาณฝนลดน้อยลง ซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศในเขตนี้อย่างรุนแรง

โมรากล่าวว่า ทีมของเขาไม่ได้ลดการประเมินความรุนแรงของภูมิอากาศในแถบขั้วโลก แต่พยายามชี้ให้เห็นว่าเราได้มองข้ามผลกระทบรุนแรงที่จะเกิดขึ้นแก่เขตร้อน แต่มีข้อมูลเพียงเล็กน้อยว่าสิ่งมีชีวิตเขตร้อนจะมีปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างไร

"มีหลักฐานที่ชัดว่า สิ่งมีชีวิตเขตร้อนอาศัยอยู่ในภูมิอากาศที่มีช่วงการเปลี่ยนแปลงแคบกว่าสิ่งมีชีวิตในเขตอบอุ่นและเขตหนาว แต่ปัญหาคือเราไม่มีรายบะเอียดเชิงสรีรวิทยาของสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตเขตร้อน จึงมีเหตุผลที่จะสงสัยว่าสิ่งมีชีวิตเขตร้อนอาจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศค่อนข้างง่าย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าอุณหภูมิเท่าไหร่จะทำให้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้สูญพันธุ์" แจ็ค วิลเลียมส์ (Jack Williams) จากมหาวิทยาลัยวิสคันซิน-เมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) ซึ่งไม่ได้ร่วมวิจัยให้ความเห็น

ด้าน ไรอัน ลองแมน (Ryan Longman) ผู้ร่วมวิจัยอีกคนจากมหาวิทยาลัยฮาวาย กล่าวว่าภายในปี 2050 ประชาชนระหว่าง 1-5 พันล้านคน จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และประเทศซึ่งได้รับผลกระทบส่วนใหญ่กลับเป็นประเทศที่มีความสามารถในการรับมือได้น้อย
แผนภาพแสดงปีที่แต่ละเมืองของประเทศต่างๆ จะเผชิญการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างสุดขั้ว โดยเขตร้อนคือพืนทีในแถบคาดกลาง (ไลฟ์ไซน์/เนเจอร์/Camilo Mora)






กำลังโหลดความคิดเห็น