Francois – Marie Arouet คือ นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสผู้ใช้นามปากกาว่า Voltaire ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักคิด นักเขียน กวี นักเศรษฐศาสตร์ สายลับ นักปรัชญา และนักการเมืองระดับสุดยอด (คำชมเหล่านี้ บางครั้งก็เกินจริง) แต่โลกแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสตรีคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้เลย เธอชื่อ Emilie du Châtelet (ชาเตอเลต์) ผู้ช่วยปกป้อง Voltaire โดยให้ที่หลบซ่อนหลายต่อหลายครั้งในปราสาทของนาง เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกตำรวจจับกุมด้วยข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงว่า วรรณกรรมของ Voltaire ได้ยุยงให้สังคมฝรั่งเศสแตกแยกจนรัฐบาลไร้ความมั่นคง
ในช่วงเวลาที่คนทั้งสองใช้ชีวิตร่วมกันนั้น คนทั่วไปมักคิดว่าเธอกับ Voltaire ได้เสริมความสามารถของกันและกัน แต่ในสายตาของนักปรัชญาชื่อ Immanuel Kant เขากลับมีความเห็นว่า Emilie เป็นนักคิดที่ยิ่งใหญ่กว่า เขียนหนังสือได้ดีกว่า เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเป็นระบบยิ่งกว่า มีจิตใจโอบอ้อมอารีกว่า และเป็นนักคณิตศาสตร์ที่สามารถมากกว่า จนสังคมในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะทุกคนเชื่อว่าผู้ชายเก่งกว่าผู้หญิงในทุกๆ เรื่อง
ในหนังสือ Passionate Minds: The Great Enlightment Love Affair (ระหว่าง Châtelet กับ Voltaire) ที่ David Bodanis แต่ง และจัดพิมพ์โดย Little Brown ในปี 2006 Bodanis ได้กล่าวถึง Châtelet ว่าเป็นสาวสวยผู้มีตาสีน้ำตาล แพรวพราวด้วยเสน่ห์ มีฐานะร่ำรวยมาก บ้านของนางมี 30 ห้อง มีคนใช้ 17 คน และนางมีปณิธานแน่วแน่ว่าจะสร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่เพื่อทิ้งให้เป็นมรดกโลก
Emilie Châtelet เกิดที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1706 (รัชสมัยพระเจ้าเสือ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา) ณ เวลานั้น Isaac Newton มีอายุ 64 ปี, Jacob Bernoulli อายุ 60ปี, Daniel Fahrenheit ผู้กำหนดองศาฟาเรนไฮท์ อายุ 20 ปี, Voltaire อายุ 12 ปี, Anders Celsius ผู้กำหนดองศาเซลเซียส อายุ 5 ปี Benjamin Franklin เกิดในปีเดียวกันกับเธอและอีกหนึ่งปีต่อมา Leonhard Euler ก็ลืมตาดูโลก ส่วนบิดาของ Emilie เป็นเจ้าหน้าที่พิธีการทูตในราชสำนัก สำหรับมารดานั้นเป็นสุภาพสตรีที่เคร่งศาสนา จึงได้พยายามสอนและฝึกให้ Emilie เป็นสตรีที่สมบูรณ์แบบ
Emilie เรียนหนังสือเก่งตั้งแต่เด็ก เธอรู้ภาษาละติน อิตาเลียน และอังกฤษดีจนสามารถเข้าใจบทประพันธ์ของ Virgil และ Milton ได้อย่างซาบซึ้ง ซึ่งความสามารถเช่นนี้ทำให้บิดามารดาของเธอรู้สึกกังวล เพราะสังคมฝรั่งเศสในสมัยนั้นไม่ต้องการเห็นผู้หญิงเก่ง และถ้าสตรีใดเก่งจริง เธอก็ต้องไม่แสดงออก เพราะจะทำให้ผู้ชายวิ่งหนีจนไม่มีใครปรารถนาจะแต่งงานด้วย สำหรับแม่ของ Emilie เองก็พร่ำบอกเธอว่า ไม่มีชายคนใด สนใจจะมีภรรยาที่นั่งอ่านหนังสือทั้งวันและทุกวัน แต่บิดาเมื่อรู้ว่า Emilie มิใช่เด็กผู้หญิงธรรมดา จึงจัดครูมาสอนหนังสือให้เธอที่บ้าน (สมัยนั้นผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนในมหาวิทยาลัย) Emilie จึงได้เรียนคณิตศาสตร์ของ Newton, Leibniz, Descartes และ Bernoulli ครั้นเมื่อเธอเรียนวิชาฟันดาบ ฝีมือของเธอก็ทำให้ผู้ชายหลายคนพรั่นพรึง และเวลาเล่นไพ่ (ซึ่งเป็นเกมที่สตรีไฮโซในสมัยนั้นนิยมเล่น) เธอใช้ความจำที่เยี่ยมยอดกับทฤษฎีความเป็นไปได้ในการเล่นจนทำให้สตรีคนอื่นๆ ต้องถอนใจ และกระพริบขนตาเวลาแพ้พนันเธอ และเมื่อเธอเล่นชนะ เธอก็จะใช้เงินพนันที่ได้ซื้อเสื้อผ้าสวยๆ และหนังสือ
Emilie ไม่ประสงค์จะแต่งงานขณะมีอายุยังน้อย แต่เมื่อเธออายุ 19 ปี (นับว่ามากในสมัยนั้น) เธอถูกหว่านล้อมให้แต่งงานกับขุนนางหนุ่มวัย 34 ปี ชื่อ Florent – Claude du Châtelet ที่เป็นที่หมายปองของสตรีทุกคนในฝรั่งเศส การสมรสทำให้เธอได้ตำแหน่ง marquise (มาร์กีส์ เทียบเท่าตำแหน่ง duchess) du Châtelet และมีบุตรชาย 2 คนกับบุตรสาว 1 คน ในช่วงเวลา 8 ปีที่เธอใช้ชีวิตสมรสกับสามี แต่เธอมิได้มีความสุขในชีวิตสมรสเลย เพราะคุณชายสามีต้องออกพื้นที่บ่อย จึงไม่ค่อยมีเวลาอยู่บ้าน ในที่สุดเมื่อคนทั้งสองพบว่าไม่มีอะไรที่จะสนใจร่วมกันอีก จึงตัดสินใจอยู่แยกกัน แต่ก็ยังเป็นเพื่อนกัน (เธอเป็นคนทันสมัยมาก)
ตำแหน่งมาร์กีส์ทำให้ Châtelet ได้มีโอกาสพบปะผู้คนชั้นสูงมากมาย และได้ผูกพันกับผู้ชายหลายคน เช่น Marquis de Quebraint และ Duc de Richelieu ซึ่งได้ทำให้เธอตกเป็นเป้าของการนินทา แต่ Châtelet ไม่แคร์ เพราะเธอต้องการและตั้งใจจะใช้ชีวิตของเธอ โดยไม่เสแสร้ง หรือปิดบังใครๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร
ในที่สุดเมื่อเธอได้พบนักประพันธ์และนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของฝรั่งเศสผู้ใช้นามแฝงในการประพันธ์ว่า Voltaire ในปี 1733 ความฉลาดปราดเปรื่องและความสวยที่พิเศษเหนือสตรีทั่วไปได้ทำให้ Voltaire ตกหลุมรัก Châtelet วัย 27 ปีอย่างหัวปักหัวปำ และเธอก็หลงรักหนุ่มยากจนผู้หลงตัวเอง และไม่เคยไว้ใจใคร อย่างสุดหัวใจเช่นกัน
Voltaire เป็นนักคิดผู้มีพรสวรรค์ด้านการเขียนหนังสือและมีความรู้วิทยาศาสตร์บ้าง เขาเป็นนักเขียนแนวเสียดสีสังคมด้วยสำนวนเฉียบคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาชอบเปรียบเปรยชาวไฮโซว่าเป็นพวกที่ใช้ชีวิตแบบไร้จุดหมาย
ฝรั่งเศสในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 (ก็เหมือนบางประเทศในสมัยนี้) ที่นักเขียนไม่มีเสรีภาพในการเขียน ถ้าบทความใดที่เขียนมีเนื้อหากระทบกระทั่งผู้มีอำนาจ ผู้เขียนจะถูกจับขังทันที และนี่ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Voltaire บ่อย มีครั้งหนึ่งที่เขาถูกส่งเข้าคุก Bastille ที่ลือชื่อเป็นเวลานานถึง 11 เดือน และขณะถูกคุมขังเขาได้เขียนบทละครและมหากาพย์มากมาย ครั้นเมื่อออกจากคุก Voltaire ได้วิวาทกับขุนนางคนหนึ่งอย่างรุนแรงเนื่องจากบทความของเขา จนขุนนางคนนั้นได้ว่าจ้างอันธพาลมาทำร้าย และได้ขอให้ศาลออกหมายจับ Voltaire การต่อรองระหว่าง Voltaire กับขุนนางทำให้ Voltaire ต้องหลบหนีออกนอกประเทศไปอังกฤษ ขณะอยู่ที่นั่น Voltaire ได้รับความชื่นชมเป็นอย่างยิ่งเพราะสังคมอังกฤษยกย่องและให้เสรีภาพแก่นักเขียนมาก ขณะอยู่ที่ลอนดอน Voltaire ได้เข้าร่วมในพิธีศพของ Newton ที่มหาวิหาร Westminster ด้วย
แม้ Voltaire จะนิยมชมชอบในความคิดของคนอังกฤษ โดยเฉพาะของนักปรัชญาชื่อ John Locke ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชน แต่ Voltaire ก็ไม่ชอบสภาพดินฟ้าอากาศ และอาหารของคนอังกฤษเลย เขารู้สึกอยากกลับฝรั่งเศสมาก และรู้ว่าแม้สังคมฝรั่งเศสจะมีข้อบกพร่องมากมาย แต่เขาก็ตระหนักว่าจุดศูนย์กลางแห่งอำนาจโลกอยู่ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ดังนั้น หลังจากที่ได้จากบ้านเกิดไปนาน 3 ปี Voltaire จึงเดินทางกลับปารีส และได้พบเนื้อคู่ วิญญาณคู่ผู้มีนามว่า Emilie du Châtelet ในจดหมายที่เขียนถึงเพื่อนสนิท เขาได้บรรยายว่า เธอคือนางในฝันของเขา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอทำดูสง่างาม มีรสนิยม อีกทั้งมารยาท และความสุภาพของเธอก็ล้วนไม่มีที่ติ เขาจึงรู้สึกรักเธออย่างถอนตัวไม่ขึ้น
แต่ Voltaire ก็ยังไม่หมดเคราะห์กรรม เพราะเขาได้เขียนบทความชื่อ Letters Concerning the English Nation ซึ่งแสดงความศรัทธาในแนวคิดเรื่องการปกครอง และวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ ซึ่งได้ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสหลายคนไม่พอใจมาก เพราะรู้ว่า Voltaire กำลังกระแนะกระแหนระบบการปกครองของฝรั่งเศส เพื่อนของ Voltaire ได้บอกให้ Voltaire หนีตำรวจอีกครั้งหนึ่งเพื่อความปลอดภัย Voltaire จึงหนีไปหลบซ่อนที่ปราสาทของสามีนาง Châtelet ที่เมืองซีรีย์ (Cirey) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส และอยู่ใกล้พรมแดนของแคว้น ลอร์แรน (Lorraine) ซึ่งเป็นแคว้นอิสระ เพราะจะเป็นการง่ายสำหรับ Voltaire จะได้หนีออกนอกประเทศทัน ถ้าตำรวจประชิดตัว ต่อมาอีกไม่นาน Châtelet ก็ตามมา
คนทั้งสองได้ทำงานวิชาการร่วมกันอย่างใกล้ชิด Châtelet ได้แปลงห้องพักต่างๆ ในปราสาทโดยได้จัดบางห้องเป็นห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ สร้างห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีหนังสือประมาณ 20,000 เล่ม สร้างโรงละครสำหรับใช้แสดงละครที่ Voltaire เขียนบท นอกจากนี้เธอก็ยังจัดห้องพักสำหรับสามีให้อยู่แยกจากเธอ จัดห้องสำหรับลูกๆ และจัดห้องพักสำหรับแขกอีกหลายห้องด้วย
ในยามว่าง Voltaire จะแนะนำให้ Châtelet อ่านผลงานของ Descartes และ Newton ที่บรรดาสมาชิกของ French Academy of Sciences กำลังสนใจ
ตัว Voltaire พักอยู่ที่ห้องอีกทางซีกหนึ่งของปราสาท ด้าน Châtelet มีห้องปฏิบัติการและห้องพักอยู่อีกซีกหนึ่ง ในห้องทำงานของเธอมีภาพวาดโดยจิตรกรชื่อ Jean – Antoine Watteau ประดับ ในเวลาเช้าเธอจะเขียนหนังสือจนถึงเวลาเย็น และไม่ต้องการให้ใครมารบกวน เมื่อถึงเวลาค่ำบุคลิกของเธอจะเปลี่ยน เธอจะกลายเป็นคนร่าเริง ร้องเพลง และเล่นละครภาษาฝรั่งเศสที่มี Voltaire เป็นคนเขียนบท เสียงหวานใสของเธอทำให้บรรยากาศดี แต่เวลาสนทนาวิทยาศาสตร์ คนทั้งสองจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกัน
ในเบื้องต้น Châtelet สนใจผลงานของ Leibniz แต่ต่อมา เธอหันไปสนใจผลงานของ Newton จากนั้นได้เริ่มแปลหนังสือชื่อ Principia Mathematica ของ Newton เป็นภาษาฝรั่งเศส เพราะเธอต้องการให้คนฝรั่งเศสเข้าใจความคิดของ Newton และเธอได้เพิ่มคำอธิบายในบางตอนเพื่อให้ตำราอ่านเข้าใจดีขึ้น และให้นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสยอมรับทฤษฎีของ Newton มากขึ้น (คนฝรั่งเศสในสมัยนั้นไม่นิยมรับทุกอย่างที่เป็นของต่างชาติ) ดังนั้น Châtelet จึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้ฝรั่งเศสและยุโรปรู้จัก Newton โดยการแปลตำรา Principia จากภาษาละตินเป็นภาษาฝรั่งเศสเป็นคนแรก และคนที่อ่านหนังสือที่เธอแปลต่างก็กล่าวว่า อ่านแล้วเข้าใจดียิ่งกว่าให้ Newton เขียนอธิบายเอง ผลงานของเธอทำให้ผู้อ่านเข้าใจที่มาของรูปทรงสัณฐานของโลก วงโคจรของดาวหาง และความสัมพันธ์ระหว่างโลก-ดวงจันทร์-ดวงอาทิตย์ รวมถึงทฤษฎีน้ำขึ้นน้ำลงด้วย
ในปี 1738 สถาบัน French Academy of Sciences ได้จัดให้มีการประกวดบทความวิทยาศาสตร์เรื่อง ธรรมชาติของไฟ เมื่อเธอกับ Voltaire มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ตรงกัน ทั้งสองจึงตัดสินใจส่งบทความประกวดแยกกัน โดย Châtelet ใช้ชื่อปลอม ปรากฎว่าทั้งคู่ไม่ได้รับรางวัลเพราะผู้ชนะเลิศชื่อ Leonhard Euler แต่คณะกรรมการประกวดก็รู้สึกประทับใจในความลึกซึ้งของบทความที่ Voltaire กับ Châtelet เขียน จึงนำบทความทั้งสองลงพิมพ์ต่อจากบทความของ Euler
ช่วงเวลาที่ Châtelet ใช้ชีวิตร่วมกับ Voltaire นั้น เธอผลิตผลงานได้มาก ถ้าไม่มีแขกมาเยี่ยม เธอกับ Voltaire จะทำงานร่วมกันเป็นเวลานาน และนอนเพียงวันละ 3 ชั่วโมง ส่วนสามีในกฎหมายนั้น เมื่อเห็นภรรยาในกฎหมายมีความสุข (ในการทำงาน) กับชายอื่น (Voltaire) เขาก็มีความสุข จึงใช้เวลาอยู่กับลูกๆ
ในตำราที่ Châtelet แปลมีผลงานหนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญมาก คือเรื่องพลังงาน ซึ่งเธอได้พบว่า Newton คิดผิด เพราะเมื่อ Voltaire เดินทางกลับจากฮอลแลนด์ เขาได้เล่าให้เธอฟังว่า คนที่นั่นได้ทดลองปล่อยลูกตุ้มทองเหลืองให้ตกลงบนดินเหนียว และพบว่าลูกตุ้มที่มีความเร็วเป็น 2 เท่าจะจมในดินเหนียวได้ลึก 4 เท่าของเดิมซึ่งไม่ตรงกับที่ Newton คิด เพราะ Newton คิดว่า พลังงาน (E) สามารถหาค่าได้จากการเอามวล (m) ของวัตถุคูณกับความเร็ว (v) นั่นคือ E = mV ดังนั้น ถ้า V เพิ่ม 2 เท่า พลังงานก็จะเพิ่ม 2 เท่าด้วย แต่จากการทดลองพลังงานที่มีและหายไปนั้นมีค่าเป็น 4 เท่า ดังนั้น Châtelet จึงคิดว่าสูตรของพลังงานควรเป็น E = mV2
ณ วันนี้ สิ่งที่ Newton เรียกพลังงาน เราเรียกโมเมนตัม และสิ่งที่ Châtelet เรียกพลังงาน เราเรียกพลังงานจลน์ E= ½ (mV2)
ดังนั้น Châtelet จึงเป็นคนแรกที่รู้ว่า Newton คิดไม่ถูกต้อง และประเด็นสำคัญที่ทำให้คนอังกฤษหลายคนรู้สึกเสียหน้า คือ เธอเป็นผู้หญิงและเป็นคนต่างชาติด้วย
ในปี 1748 Châtelet ได้ตกหลุมรักใหม่กับ Jean Francois Marquis de Saint – Lambert (เดอ แซงต์-ลองแบต์) กวีหนุ่มผู้มีอายุอ่อนกว่าเธอหลายปี ทั้งนี้เพราะเธอรู้สึกเหงามาก เวลา Voltaire ไม่อยู่ จนต้องหันไปหาความสุขโดยเล่นการพนันและได้พบ Saint-Lambert แต่ความรักครั้งนี้เป็นการรักเขาข้างเดียว ดังนั้นเมื่อเธอมีครรภ์กับ Lambert Voltaire ได้พยายามปกปิดเรื่องทั้งหมดจากสามีตัวจริง โดยบอกว่า เด็กในครรภ์คือลูกของ Voltaire
การมีครรภ์ในวัย 42 ปีที่นับว่าค่อนข้างมากนี้ กับการทำงานหนักตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม ทุกวันโดยไม่กินอาหารเย็น และไม่พบปะใครเพื่อแปล Principia Mathematica ให้จบได้ทำให้สุขภาพของ Châtelet ทรุดหนัก และเธอก็ได้ให้กำเนิดบุตรสาว แต่เมื่อถึงวันที่ 10 กันยายน ปี 1749 Châtelet วัย 43 ปีก็จากโลกไปอย่างเงียบๆ โดยมี Voltaire เฝ้าดูจนสิ้นลมหายใจ ส่วนลูกสาวของเธอก็เสียชีวิตในอีก 2 วันต่อมา
หลังจากที่เธอจากไปแล้ว เมื่อถึงรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เมื่อมีการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ลูกๆ ของเธอได้เสียชีวิตหมด บางคนถูกตัดศีรษะด้วยกิโยติน บางคนตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ จนวันนี้โลกไม่มีคนที่เป็นทายาทของ Emilie du Châtelet เหลืออยู่เลย
อ่านเพิ่มเติมจาก La Dame D’ Esprit: A Biography of the Marquis Du Châtelet โดย Judith P. Zinsser จัดพิมพ์โดย Viking ในปี 2006
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน- ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์