นักวิจัยเผยหนูอาจสูญเสียความกลัวแมวที่มีมาโดยกำเนิดหลังได้รับเชื้อปรสิตบางชนิด ผลงานทดลองพบเมื่อทำให้หนูติดเชื้อปรสิตแล้วพบว่าอาการกลัวแมวหายไป และแม้ว่าจะได้รับการรักษาจากการติดเชื้อแล้ว อาการไร้ความกลัวก็ยังคงอยู่
ทีมวิจัยที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวได้เผยแพร่ผลงานนี้ลงวารสารพลอสวัน (Plos One) พร้อมทั้งระบุว่า ปรสิตที่เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวชื่อ โทโซพลาสมากอนดี (Toxoplasma gondii) อาจทำให้หนูมีการเปลี่ยนแปลงทางสมองไปอย่างถาวร
บีบีซีนิวส์ที่รายงานผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า หนูที่ติดเชื้อดังกล่าวจะสูญเสียความกลัวโดยสัญชาตญาณที่มีต่อแมว และแม้ว่านักวิจัยจะรักษาอาการติดเชื้อแล้ว แต่อาการไร้ความกลัวยังคงอยู่
ทีมวิจัยคือ เวนดี อินแกรม (Wendy Ingram) และคณะจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ในเบิร์กลีย์ สหรัฐฯ โดยพวกเขาได้ประเมินว่าหนูมีปฏิกิริยาต่อฉี่ของแมวป่าแอฟริกา (bobcat) อย่างไร ซึ่งตามปกติแมวจะกำหนดอาณาเขตด้วยฉี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้หนูตรวจพบและเลี่ยงบริเวณที่นักล่าอาจซุ่มโจมตีอยู่
เมื่อนักวิจัยทดลองเปรียบเทยบพฤติกรรมระหว่างหนูที่ไม่ติดเชื้อทอกโซพลาสมากอนดี กับหนูที่ติดเชื้อ พวกเขาพบว่า หนูที่ไม่ติดเชื้อแสดงอาการไม่ชอบฉี่ของแมว แต่หนูที่ติดเชื้อกลับเดินไปทั่วบริเวณทดสอบอย่างไร้ความกลัว แต่เมื่อได้รับการรักษาอาการติดเชื้อจนหมดแล้ว พฤติกรรมดังกล่าวก็ยังคงอยู่
อินแกรมให้ความเห็นว่า ผลของการติดเชื้อเพียงชั่วคราวที่ได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการทางชีววิทยาของผู้ถูกอาศัยไปอย่างถาวร อาจมีนัยสำคัญต่อการรักษาโรคติดเชื้อ
สำหรับหนูหรือสัตว์ฟันแทะนั้นมักติดเชื้อจากการกินมูลของแมว ซึ่งเชื้อปรสิตจะแทรกเข้าไปในทุกส่วนของร่างกายผู้ถูกอาศัย โดยเฉพาะสมอง ซึ่งพวกมันจะสร้างเซลล์เกราะขึ้นมาได้ และการติดเชือ้นี้สามารถแพร่กระจายมาสู่มนุษย์ได้ โดยเพิ่งมีการประมาณว่ามีคนถึง 350,000 คนทั่วโลกสัมผัสกับเชื้อทอกโซพลาสโมซิส ซึ่งสามารถสร้างผลเสียร้ายแรงในคนท้อง และติดเชื้อได้ง่ายในคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
อินแกรมบอกทางบีบีซีนิวส์อีกว่า ผลการทดลองนี้ทำให้เราอาจต้องเปลี่ยนมุมมองปัจจุบันที่มีต่อโรคติดเชื้อ ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อเราติดเชื้อแบคทีเรีย เราก็จะไปพบแพทย์และรับยาปฏิชีวนะ ซึ่งการติดเชื้อก็ได้รับการรักษาแล้ว และเราก็คาดหวังว่าอาการของโรคก็จะหายไปด้วย แต่ตอนนี้เรามีตัวอย่างว่า แม้ไม่มีการทำลายร่างกายโดยปรสิตแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงสำคัญในระบบประสาทของหนูยังคงอยู่ แม้ไม่มีปรสิตแล้ว
งานต่อจากนี้ของทีมวิจัยคือการศึกษาแอนติบอดีที่ปรากฏอยู่ในเลือดของผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเผยให้เห็นถึงปรสิตและแบคทีเรียทั้งหมดที่คนๆ หนึ่งได้รับ และอาจจะมีบทบาทสำคัญในการแสดงอาการป่วยของโรค