xs
xsm
sm
md
lg

Dian Fossey ความรักเธอเปลี่ยนโลกให้กอริลลาภูเขา

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Dian Fossey และ  Digit
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 1985 (สองวันหลังวันคริสต์มาส) เพื่อนร่วมงานของ Dian Fossey วัย 53 ปี ได้พบศพของเธอในห้องนอนที่บ้านพักบนภูเขา Virunga ในประเทศ Rwanda สภาพศพแสดงว่ามีการต่อสู้กันและเธอกำลังจะใช้ปืนยิงฆาตกร เพราะบริเวณรอบศพมีเศษจานกระเบื้องแตกและโต๊ะล้มระเนระนาด ลักษณะการตายบ่งบอกว่าเธอตายทันทีโดยไม่ได้ทุรนทุราย เพราะกะโหลกศีรษะแตก ตำรวจยังได้พบอีกว่า ฆาตกรได้ยิงกุญแจห้องนอน เสียงปืนที่ดังอาจทำให้เธอตื่น แต่ก็ไม่ทันจะคว้าปืนมาป้องกันตัว ตำรวจได้พบว่าทรัพย์สินมีค่าของเธอทั้งเงินสด และกล้องถ่ายรูปทุกอย่างยังอยู่ครบ นั่นแสดงว่า ฆาตกรมิได้ต้องการเงินทองเลย และต้องการเพียงชีวิตของเธอเท่านั้น

ข่าวการตายของเธอได้แพร่สะพัดไปทั่วโลก เพราะเธอเป็นนักอนุรักษ์กอริลลาภูเขาผู้มีชื่อเสียง ศพของ Dian ถูกนำไปฝังที่ Karisoke อันเป็นสถานที่เธอใช้ฝังศพของบรรดากอริลลาภูเขาที่ถูกลอบฆ่า ส่วนเพื่อนๆ ได้จัดพิธีรำลึกถึงเธอที่ New York, Washington D.C. และ California

หลังจากที่เธอเสียชีวิต ลูกจ้างทุกคนในป่าอนุรักษ์ถูกนำตัวมาสอบสวน รวมถึงคนที่ชื่อ Rwelekana ซึ่งถูกเธอไล่ออกจากงาน ในเวลาต่อมา Rwelekana ได้ทำอัตวินิตบาตรกรรมในคุก ส่วนคนที่เหลือถูกปล่อยตัว เพราะตำรวจไม่สามารถหาฆาตกรตัวจริงได้ ดังนั้นจึงตั้งข้อหา Wayne McGuire ซึ่งเป็นหนุ่มวัย 35 ปี และเป็นผู้ช่วยคนสุดท้ายของ Dian ว่าเป็นฆาตกร แต่ McGuire รู้ตัวล่วงหน้าว่าตนกำลังจะเป็นแพะ จึงหลบหนีกลับอเมริกาก่อน เพราะไม่ศรัทธาและกลัวระบบความยุติธรรมของ Rwanda และเมื่ออเมริกาไม่มีสนธิสัญญาส่งนักโทษข้ามพรมแดนกับ Rwanda ดังนั้น McGuire จึงยังหนีการจับกุมอยู่ในอเมริกา เมื่อถึงวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.1986 ศาล Rwanda ได้ตัดสินประหารชีวิต McGuire โดยการยิงเป้า ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่ได้อยู่ในศาล

Dian Fossey เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ.1932 ที่ San Francisco ในสหรัฐอเมริกา บิดาเป็นคนขายประกันภัยและมารดามีอาชีพเป็นนางแบบ คนทั้งสองได้หย่ากันตั้งแต่ Dian มีอายุ 6 ขวบ เมื่อมารดาแต่งงานใหม่ เธอได้ปฏิเสธไม่ให้บิดาบังเกิดเกล้าของ Dian เข้ามาข้องเกี่ยวกับเธอเลย ส่วนบิดาเลี้ยงก็ไม่เคยยอมรับลูกเลี้ยง และไม่เคยให้ความอบอุ่นใดๆ ชีวิตของ Dian ในวัยเด็กจึงเป็นชีวิตที่อ้างว้าง เมื่อไม่มีคนให้ความสนใจ Dian จึงหันไปหาความสุขจากสัตว์ เช่น ม้า และปลาทองแทน

Dian ได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียน Lowell High School เมื่อเรียนจบ เพราะบิดาเลี้ยงต้องการให้เธอเป็นนักธุรกิจ เธอจึงเลือกเรียนวิชาธุรกิจที่ College of Marin ทั้งๆ ที่ไม่ชอบอาชีพนี้เลย ในช่วงพักฤดูร้อน เธอได้ไปทำงานไร่ในรัฐ Montana ประสบการณ์นี้ได้ทำให้เธอรู้สึกรักและผูกพันกับสัตว์อีก จึงย้ายไปเรียนชีววิทยาที่มหาวิทยาลัย California ที่ Davis ซึ่งการเปลี่ยนวิถีชีวิตของเธอได้ทำให้บิดาเลี้ยงโกรธมาก จึงปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ ทางการเงินแก่เธอ Dian จึงต้องหางานทำ เช่น เป็นพนักงานขายของ เป็นเลขานุการ และเป็นเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการเพื่อหาเงินมาเสียค่าเล่าเรียน และเมื่อเธอสอบฟิสิกส์กับเคมีตก จึงขอย้ายไปเรียนชีววิทยาต่อ San Jose State College และคิดจะทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สุขภาพผู้มีหน้าที่ป้องกันคนมิให้ประสบภัยจากอุบัติเหตุ

เมื่อายุ 31 ปี Dian ได้ลาพักร้อนเป็นเวลา 7 สัปดาห์ เพื่อเดินทางไป Kenya, Tanzania, Democratic Republic of Congo และ Zimbabwe เธอรู้สึกสนุกมาก เพราะได้เห็นสัตว์ป่ามากมาย ครั้นเมื่อเธอเดินทางไปที่ Olduvai Gorge ในประเทศ Tanzania เธอได้พบกับ Louis Leakey และภรรยาชื่อ Mary ซึ่งเป็นนักบรรพชีวินวิทยาชื่อเสียงโด่งดังด้านวิวัฒนาการของมนุษย์โบราณโดยการขุดหาฟอสซิล Leakey ได้เล่าให้ Dian ฟังเรื่องการวิจัยลิงซิมแพนซีของ Jane Goodall พร้อมกับเสนอให้ Dian สนใจวิจัยเรื่องกอริลลาภูเขา เพราะเขามีทุนวิจัยให้ทำ แต่ Dian ไม่รู้จักกอริลลาภูเขาเลย ดังนั้นเธอจึงเดินทางไป Uganda และได้เห็นกอริลลาภูเขาเป็นครั้งแรกในชีวิต จากที่นั่นเธอได้เดินทางต่อไปที่ Rhodesia แล้วบินกลับอเมริกา จากนั้นได้เขียนบทความ 3 เรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยของเธอในแอฟริกาเพื่อลงในนิตยสาร The Courier-Journal

เมื่อเธอได้พบกับ Leakey อีกครั้งหนึ่งที่ Louisville ในอเมริกา และ Leakey จำเธอได้ เธอรู้สึกดีใจมาก ดังนั้นเมื่อ Leakey เสนอให้ Dian ศึกษากอริลลาภูเขาเหมือนกับที่ Goodall ศึกษาวิถีชีวิตของซิมแพนซีใน Tanzania Dian จึงตอบตกลง แล้วเริ่มเรียนภาษา Swahili กับวิทยาไพรเมท (ศาสตร์ที่เกี่ยวกับลิง) เป็นเวลา 8 เดือน ซึ่งนานพอจะเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตของเธอในแอฟริกา
ภาพ Dian Fossey กับกอริลลาภูเขา ทำให้โลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกอริลลาภูเขา จากสัตว์ดุร้าย เป็นสัตว์ที่มีมุมอ่อนโยน
ก่อนปี ค.ศ.1847 คนอังกฤษไม่รู้จักกอริลลาเลย เพราะคิดว่ามันเป็นเพียงสัตว์ในนิทานที่นักเดินเรือแห่งเมือง Carthage ชื่อ Hanno เคยบันทึกเมื่อ 2,500 ปีก่อนว่า ได้พบเกาะที่มีคนป่าซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิง แต่มีขนเต็มตามตัว และล่ามที่เดินทางไปด้วยเรียก Gorillaé จึงได้จับมาสามตัว

ถึงปี 1625 นักเดินเรือชาวอังกฤษชื่อ Andrew Batell ที่ไปสำรวจป่าใน Angola ได้รายงานการเห็น “อสุรกาย” ที่มีขนเต็มทั่วตัว ยกเว้นที่ใบหน้า กับมือ และสัตว์ยักษ์นี้ชอบนอนบนต้นไม้ โดยกินผลไม้เป็นอาหารหลัก

ลุถึงปี 1847 สาธุคุณ Thomas Savage ซึ่งเป็นมิชชันนารีประจำที่ Liberia ในแอฟริกาตะวันตก ขณะเดินทางถึง Gabon ได้ล้มป่วย จึงต้องเข้าพักที่บ้านสาธุคุณ J.L. Wilson เพื่อรักษาตัว และได้ส่งรายงานไปลงในนิตยสาร Boston Journal of Natural History ว่า เพื่อนคนหนึ่งได้นำกะโหลกของสัตว์คล้ายลิงมาให้ดู และบอกว่ามันเป็นสัตว์ดุร้าย แต่เมื่อ Savage เพ่งดูกะโหลกอย่างพินิจพิเคราะห์ เขาลงความเห็นว่ามันมิใช่ลิงเอป แต่เป็น primate ขนาดใหญ่ และแข็งแรงยิ่งกว่าคนทั่วไป

สาธุคุณ Thomas Savage ผู้นี้เคยเรียนแพทย์ที่ Yale Medical School เมื่อสำเร็จเป็นแพทย์ในปี 1833 ได้ตั้งใจจะอุทิศตัวเป็นมิชชันนารีในแอฟริกาตะวันตก เพราะผู้คนที่นั่นมีความต้องการแพทย์มาก Savage เองเป็นนักสะสมกระดูกของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ครั้นเมื่อได้เห็นกะโหลกที่ Wilson นำมาให้ จึงส่งรายงานการพบสัตว์ชนิดใหม่ไปให้เพื่อนชื่อ Jeffrey Wyman ที่อเมริกา กับ Richard Owen แห่ง Royal College of Surgeons ที่ลอนดอนรู้ว่า ชาวพื้นเมืองได้พบสัตว์ชนิดใหม่ที่ชอบอาศัยอยู่ตามภูเขา นอนบนคบไม้ และไม่ชอบปรากฏตัวให้คนเห็นบ่อย อีกทั้งมีนิสัยดุร้าย กะโหลกที่ได้มานี้ เป็นฝีมือของนายพรานที่ฆ่ามัน

แต่การจะบอกชนิดของสัตว์ Savage ต้องดูกะโหลกของสัตว์ทั้งตัวผู้และตัวเมีย เพื่อความสมบูรณ์ในการจะเขียนรายงานวิจัยที่จะส่งไปลงตีพิมพ์ในวารสาร จึงติดต่อกับหัวหน้าชาวพื้นเมืองให้จัดหาสิ่งที่ต้องการมาให้ ในที่สุดก็ได้กะโหลกตัวผู้ 2 กะโหลก และกะโหลกตัวเมีย 2 กะโหลก รวมถึงกระดูกเชิงกราน กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง และกระดูกแขน

การศึกษาเปรียบเทียบกระดูกอย่างละเอียดทำให้ Wyman และ Savage ซึ่งมีประสบการณ์วิจัยลิงชิมแพนซีมาก่อนรู้ว่า สัตว์ชนิดใหม่ชื่อ gorilla นี้มิใช่ลิงชิมแพนซีขนาดใหญ่ รายงานการพบกอริลลาได้ปรากฏในวารสาร Boston Journal of Natural History ฉบับเดือนธันวาคม 1847 โดย Wyman ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า gorilla troglodytes ในรายงานฉบับนั้น Savage ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนิสัย และที่อยู่อาศัยของกอริลลาด้วย ส่วน Wyman ได้วิเคราะห์ให้เห็นความแตกต่างระหว่างกอริลลากับลิงเอปอื่นๆ

ในเบื้องต้น การค้นพบกอริลลาของ Wyman และ Savage เป็นเรื่องน่าสนใจเฉพาะในวงการชีววิทยาเท่านั้น แต่อีก 10 ปีต่อมา ซากศพแห้งของตัวกอริลลาเริ่มปรากฏในยุโรป และสังคมเริ่มต้องการจะรู้เกี่ยวกับชีวิตของกอริลลานี้มากขึ้น ยิ่งเมื่อ Charles Darwin ตีพิมพ์หนังสือชื่อ On the Origin of Species ในปี 1859 คนทั่วไปก็เริ่มกระหายจะเห็นกอริลลาเป็นๆ มากขึ้น

แต่ก็ประสบปัญหาอีก เพราะกอริลลาไม่สามารถดำรงชีพในสวนสัตว์ได้ และมักล้มตายด้วยโรคหัวใจ สวนสัตว์แห่งลอนดอนจึงออกประกาศไม่ซื้อกอริลลาเป็นๆ อีกเลย จนกระทั่งปี 1932

ถึงช่วงต้นปี 1967 Dian ได้รับวีซ่าเข้าประเทศ Congo ซึ่งเพิ่งได้รับเอกราชตั้งแต่ปี 1960 ทว่าประเทศมีความวุ่นวายเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารและการสังหารหมู่ Dian ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับกองทัพจึงขออนุญาตลาไปทำวิจัยที่ Uganda แต่รัฐบาล Uganda แนะให้ไปทำวิจัยที่ Rwanda แทน โดยเฉพาะที่ภูเขา Virunga ซึ่งตั้งอยู่ที่พรมแดนระหว่าง Rwanda, Congo และ Uganda โดยให้เหตุผลว่าเป็นที่ๆ ปลอดภัยที่สุด

Dian จึงนำกล้องถ่ายรูป กล้องส่องทางไกล ฯลฯ เพื่อใช้สะกดรอยกอริลลา ในป่าดิบชื้นที่อยู่ระหว่างภูเขาไฟสองลูกที่ระดับสูง 3,000 เมตร ในวันที่ 24 กันยายน ค.ศ.1967 Dian ได้เปิดศูนย์วิจัย Karisoke Research Center ซึ่งมีพื้นที่สำรวจ 25 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีเธอเป็นทั้งผู้อำนวยการ และเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด คนพื้นเมืองแถบนั้นจึงขนานนามเธอว่า “ผู้หญิงที่อยู่คนเดียวบนภูเขา” และต้องการศึกษากอริลลา

ลุถึงเดือนธันวาคม ค.ศ.1968 Dian ได้เดินทางไป Nairobi และแวะเยี่ยม Goodall ที่ Gombe Stream Research Center ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยซิมแพนซีที่มี Goodall เป็นผู้อำนวยการเพื่อทัศนศึกษาการวิจัยที่นั่น
ร่างของ Dian Fossey ถูกฝังอยู่ข้าง Digit กอริลลาที่เธอรัก
สำหรับกอริลลาภูเขาที่ Dian จะศึกษาเป็นกอริลลาที่ไม่เคยสัมผัสคนอย่างใกล้ชิดมาก่อน นอกจากพวกลอบฆ่า ดังนั้น Dian จึงต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าใกล้ตัวมันได้ เพราะสถานีวิจัยอยู่บนภูเขา อากาศหนาว และบรรยากาศมืดครึ้ม ฝนที่ตกบ่อยทำให้พื้นดินเป็นโคลน การเดินทางจึงลำบาก เวลาเธอจะไปสังเกตกอริลลา เธอต้องบุกป่าด้วยขวาน

เธอได้พบว่ากอริลลาภูเขาชอบอยู่เป็นฝูง และมีหัวหน้าซึ่งจะต่อสู้กับหัวหน้าฝูงตัวอื่น เวลาถูกคุกคามเพื่อให้ฝูงของมันดำรงสภาพได้ กอริลลามักไม่ต่อสู้เพื่อแย่งชิงอาหาร อาณาเขต ในการมีเพศสัมพันธ์ หัวหน้าฝูงอาจมีตัวเมียหลายตัวเป็นคู่ครอง และเมื่อหัวหน้าเสียชีวิต ฝูงก็อาจแตกสลาย

เมื่ออายุ 11-13 ปี ขนบนหลังของกอริลลาตัวผู้จะเปลี่ยนจากดำเป็นสีเทาหรือสีเงิน ดังนั้นมันจึงมีชื่อเรียกว่า silverback กอริลลาอาจมีอายุยืนถึง 60 ปี ส่วนสูง 165 เซนติเมตร และหนักประมาณ 160 กิโลกรัม ช่วงแขนที่วัดจากปลายนิ้วข้างหนึ่งถึงอีกข้างหนึ่งอาจยาวถึง 2 เมตร มันชอบกินใบไม้ และกิ่งไม้เป็นอาหารหลัก

พฤติกรรมที่นับว่าเป็นเอกลักษณ์สิ่งสำคัญของกอริลลาคือการชอบทุบหน้าอกตนเอง และก่อนทุบมันจะยืน 2 ขาก่อน แต่ลำตัวจะไม่ตัวตรง เพราะขาจะงอเล็กน้อย ส่วนหัวและลำตัวนั้นจะค่อมไปข้างหน้าเล็กน้อย แล้วมันจะใช้อุ้งมือทุบที่หน้าอกอย่างรุนแรงจนมีเสียงดังไกลเป็นกิโลเมตร แม้กระทั่งลูกกอริลลาหรือกอริลลาตัวเมียก็ทุบหน้าอกเช่นกัน โดยมันจะแสดงพฤติกรรมนี้เมื่อเห็นคน หรือเมื่อเห็นกอริลลาฝูงอื่น หรือเมื่อได้ยินเสียงแปลกปลอม และบางครั้งลูกกอริลลาก็ตีอกในทำนองเล่นสนุกๆ และเมื่อการชกอกสิ้นสุด มันจะยืนนิ่งๆ ประมาณ 10 วินาทีหรือกว่านั้นเพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนองจากคนหรือจากกอริลลาตัวอื่นๆ

ในความเป็นจริงชะนี อุรังอุตัง และชิมแพนซี ก็ตีอกเช่นกัน และ Dian ก็ได้พบว่า กอริลลาก็มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับคนเวลามีความรู้สึกรุนแรง โดยเธอให้เหตุผลว่า คนเวลาดูกีฬาตามปกติมักตื่นเต้น และควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยจะได้ เพราะการได้เห็นความสามารถของนักกีฬา ได้กระตุ้นความรู้สึกสมหวัง หรือผิดหวัง แต่ตนลงไปเล่นเองไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็หยุดดูไม่ได้ ความเครียดที่เกิดขึ้นจึงต้องถูกระบายออกโดยการตะโกน ตบมือ กระทืบเท้า กระโดดขึ้นสูง หรืออาจปาสิ่งของ และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้กอริลลาแสดงออกซึ่งอากัปกริยาต่างๆ คล้ายคน และนั่นก็หมายถึงการฆ่ากันอย่างทารุณด้วย โดยกอริลลาตัวผู้อาจฆ่าลูกอ่อนของตัวเมีย ซึ่งตนต้องการสมสู่ด้วยเวลาต้องการแพร่พันธุ์ โดย Dian ได้เห็นการฆ่าลูกกอริลลาว่าได้เกิดขึ้น 6 ครั้งจากทารกที่คลอด 38 ตัว ในช่วงเวลา 15 ปี

กอริลลาตัวเมียมักคลอดลูกทุก 3.5 ถึง 4.5 ปี และเมื่อคลอดแล้ว ตลอดเวลา 6 เดือนแรก ลูกจะอยู่ใกล้แม่ตลอดเวลา และดูดนมจนกระทั่งอายุเกือบ 2 ปี อีกทั้งนอนอยู่ใกล้แม่จนอายุ 3 ปี ด้วยเหตุนี้ ถ้าแม่ถูกฆ่าตาย ลูกที่ยังดูแลตัวเองไม่ได้ก็จะตายด้วย กอริลลาตัวเมียรักลูกมาก ถ้าลูกของมันถูกพรากมันจะต่อสู้ด้วยชีวิต

Dian มีความคิดว่า คนกับกอริลลาภูเขามีอะไรหลายอย่างคล้ายคลึงกัน ดังนั้นเธอจึงรับนิสิตอเมริกันมาทำวิจัยระดับปริญญาเอกกับเธอหลายคน เพื่อศึกษาดูว่ากอริลลาตัวผู้ดูแลลูกของมันบ้างหรือไม่ และถ้ามันดูแลจริง โอกาสการรอดชีวิตของลูกกอริลลาจะเป็นเช่นไร ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จะช่วยให้เธอสามารถปกป้องกอริลลาภูเขาได้มากที่สุด

เพราะกอริลลามีหน้าตาเหมือนๆ กัน ดังนั้น Dian จึงถ่ายภาพและพยายามทำความรู้จักแต่ละตัว จนสามารถเห็นความแตกต่างระหว่างกันได้ และเธอต้องคลาน เดินฝ่าเถาวัลย์ หนาม เพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมต่างๆ อย่างละเอียด ทั้งพฤติกรรมทางเพศ การต่อสู้ การเลือกคู่ การดำรงชีวิต การแต่งตัว การเล่น การดูแลกันและกัน เธอแนะว่านักท่องเที่ยวเวลาพบกอริลลาอย่าวิ่งหนี ให้หลบสายตาลงต่ำ แล้วมันจะปล่อยให้เราอยู่อย่างปลอดภัย เรายอมให้มันจับเนื้อต้องตัวได้ แต่อย่าไปจับตัวมัน เพราะนั่นเป็นการข่มขู่ และไม่ควรพยายามทำให้มันประหลาดใจ หรือตกใจอย่างทันทีทันใด อนึ่ง เวลาจะเข้าใกล้ให้คราญเพลงเบาๆ เป็นสัญญาณบอกว่า เรากำลังมาหามัน เวลาอยู่ใกล้ อย่าหายใจรดหน้ามันและอย่าเคลื่อนไหวอย่างทันทีทันใด เพราะจะทำให้มันตกใจ กอริลลาตัวเล็กๆ ชอบหยิบสิ่งของโดยพลการ ถ้าเราทำไม่เห็น มันก็จะคืน

Dian ไม่ต้องการให้คนจับเนื้อจับตัวกอริลลา เพราะเชื้อโรคสามารถถ่ายจากคนสู่กอริลลาได้ และเมื่อมันไม่มีภูมิต้านทาน มันจึงอาจตายได้ ดังนั้นเธอจึงคิดว่า การทัศนศึกษาของนักท่องเที่ยวเพื่อเฝ้าดูสัตว์ในธรรมชาติเป็นพฤติกรรมที่ผิดธรรมชาติ เพราะนักท่องเที่ยวทำให้ชีวิตและจิตใจของกอริลลาไม่สงบสุข

การศึกษากอริลลาภูเขาของเธอทำให้เธอได้รับทุนวิจัยจาก National Geographic Society และมูลนิธิ Wilkie

ในปี 1977 เมื่อกอริลลาภูเขาที่ชื่อ Digit ถูกฆ่า หัว และมือของมันถูกตัด เพื่อนำไปขายในราคา 20 ดอลลาร์ Dian รู้สึกเสียใจมาก เพราะเธอรัก Digit มาก เธอจึงได้สืบหาคนฆ่าจนพบ และจับตัวขังคุก จากนั้น Dian ได้จัดตั้งกองทุน Digit Fund เพื่อหาทุนต่อสู้พวกลอบฆ่า และนี่ก็คือปณิธานของเธอว่าจะอนุรักษ์กอริลลาทุกวิถีทาง และไม่คำนึงถึงการตีพิมพ์ผลงานที่เกี่ยวกับกอริลลาเลย

ในปี ค.ศ.1981-1983 เธอได้รับเชิญไปบรรยายงานวิจัยเรื่อง กอริลลาภูเขาที่มหาวิทยาลัย Cornell และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Cambridge ในฐานะผู้ที่รู้เรื่องกอริลลาภูเขาดีที่สุดในโลก นอกจากนี้ เธอยังได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ Gorillas in the Mist ซึ่งเป็นหนังสือขายดีมาก และหนังสือนี้ได้ทำให้ Nikolaas Timbergens เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาชีววิทยาปี 1973 เอ่ยชมว่า เป็นหนังสือที่อ่านดีที่สุดเล่มหนึ่งในชีวิตของเขา

แม้ใน Rwanda จะถือว่าการลอบฆ่ากอริลลาเป็นเรื่องผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1920 แต่กฏหมายนี้ไม่สามารถบังคับใครได้มาก เพราะเจ้าหน้าที่อนุรักษ์มีเงินเดือนค่อนข้างน้อยจึงมักรับสินบนจากบรรดานายพรานที่ล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย และปล่อยให้พรานเหล่านี้ลอบฆ่ากอริลลา โดยเจ้าหน้าที่จะเอาหูไปนาตาไปไร่

ในความพยายามต่อสู้ Dian ได้จ้างคนมาทำลายกับดักกอริลลา และเวลาเธอจับพวกลอบฆ่าได้ ก็จะพยายามฟ้องให้ศาลจำคุก อีกทั้งยังได้จัดตั้งโครงการ Mountain Gorilla Project เพื่อคุ้มครองกอริลลาไม่ให้ถูกลอบฆ่า และไม่ให้เป็นโรค นอกจากนี้เธอยังพยายามขยายบริเวณป่าสงวนจากที่สูง 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลมาเป็นที่ 2,500 เมตรด้วย เพื่อให้กอริลลาสามารถใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยในบริเวณที่กว้างขวางขึ้น และต่อต้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กอริลลาของทางการ
โปสเตอร์สนับสนุนการอนุรักษ์กอริลลาภูเขาของมูลนิธิ Dian Fossey Gorilla Fund International
วิธีการของเธอจึงขัดแย้งกับโครงการ African Wildlife Foundation ของ Jean Pierre der Becke ชาวเบลเยี่ยมที่สนับสนุนให้รัฐบาล Rwanda ส่งเสริมการนำนักทัศนาจรมาเยี่ยมชมกอริลลาภูเขาอย่างใกล้ชิด เพราะจะทำให้ประเทศมีรายได้มหาศาลประมาณ 60% ของรายได้ทั้งหมดโดยมีไกด์ 1 คนต่อนักทัศนาจร 6 คน ให้เข้าเยี่ยมชมนาน 1 ชั่วโมง และในวันหนึ่งมี 4 ครั้ง โดยคิดค่าดูคนละ 50 ดอลลาร์

หลังจากที่ Dian เสียชีวิตไปแล้ว มูลนิธิ Digit ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Dian Fossey Gorilla Fund International ที่มีจุดมุ่งหมายจะติดตามและคุ้มครองกอริลลาทุกตัวที่ Karisoke Research Center

ในปี 2005 สมาคม National Geographic Society ได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ No One Loved Gorilla More โดยมี Camilla de la Bedoyere เป็นผู้เรียบเรียงเกี่ยวกับชีวิตของ Dian Fossey

นอกจากนี้ฮอลลีวู้ดก็ยังได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Gorilla in The Mist: The Study of Dian Fossey ที่นำแสดงโดย Sigourney Weaver ออกฉาย ซึ่งได้บรรยายชีวิตของ Fossey อย่างละเอียด (ยกเว้นชีวิตส่วนตัวที่เธอเคยมีคนรักชื่อ Alexie Forrester และ Bob Campbell และตั้งครรภ์กับ Campbell แต่เธอทำแท้ง เพราะไม่ต้องการให้ชีวิตคู่ของเธอพรากเธอจากกอริลลาภูเขาที่เธอรู้จัก)

ค.ศ.2009 เป็นปีที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีกอริลลา เพราะมีรายงานว่า สัตว์ประเภทเอป 50% กำลังจะสูญพันธุ์ ทั้งๆ ที่โลกได้พยายามอนุรักษ์ แต่จำนวนกอริลลาก็ลดลงๆ เพราะถูกล่า เป็นโรค ตายเอง และอุบัติเหตุ

สำหรับ Farley Mowat ซึ่งได้เรียบเรียงหนังสือ “Woman in the Mists” ที่จัดพิมพ์โดย Warner Books ในปี 1987 ซึ่งได้เล่าประวัติและผลงานของ Dian Fossey อย่างละเอียด เขาให้เหตุผลว่า เธอมิได้ถูกยิงโดยพวกลอบฆ่าสัตว์ในเขตหวงห้าม เพราะพวกลอบฆ่าสัตว์เป็นคนยากจน ดังจะเห็นได้จากบรรดาของมีค่าต่างๆ ในห้องพักของ Dian ก็ยังอยู่ครบ และ Mowat คิดว่า คนที่ฆ่าคือคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายอนุรักษ์กอริลลาภูเขาของเธอ เพราะเธอไม่ประสงค์จะหาเงินจากกอริลลาภูเขาโดยการทำธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กับนักทัศนาจร นอกจากนี้เธอก็ยังมีข้อมูลด้านร้ายของชาว Rwanda ที่ชอบฆ่าสัตว์สงวนด้วย ดังนั้น เธอจึงมีปัญหากับชาว Rwanda ทั้งประเทศเป็นจำนวนมาก เธอเคยให้สัมภาษณ์สื่อเมืองนอกว่า เธออนุรักษ์กอริลลาภูเขาเพื่อคนขาวเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อคนดำ เพราะคนดำชอบลอบฆ่ามัน และเวลาเธอจับคนผิวดำที่เป็นฆาตกรกอริลลาได้ เธอจะสั่งให้โบยฆาตกรคนนั้นเพื่อให้เข็ดหลาบ ในบางครั้งเธอจะสั่งเผาบ้านหรือจับลูกของฆาตกรมาเป็นค่าไถ่ การลงโทษที่รุนแรงเช่นนี้ Mowat สงสัยว่า เธอคงเป็นโรคจิต เพราะเธอชอบเหยียดผิว ขี้เมา และเห็นกอริลลาภูเขาสำคัญกว่าคน

ด้วยนิสัยโผงผางและไม่แคร์สังคม ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นวันใด เธอจะแต่งตัวชุดเดิมๆ คือใส่ยีนส์ เธอไม่ชอบให้ใครขัดใจ จึงมักมีความเห็นขัดแย้งกับผู้อำนวยการชื่อ Laurent Habiyaremye บ่อย เพราะผู้อำนวยการชอบให้นักท่องเที่ยว และนักทัศนาจรเดินชมกอริลลาภูเขาอย่างใกล้ชิด แต่ Dian ไม่ต้องการเช่นนั้น และไม่ชอบให้นักท่องเที่ยวมาเดินเหยียบย่ำบนสนามหญ้าที่ศูนย์วิจัยด้วย เพราะเธอต้องการให้บริเวณอาศัยของกอริลลาภูเขาปลอดขยะ สวย และดูเรียบร้อย ความคิดเห็นที่แตกต่างนี้ ทำให้ผู้อำนวยการไม่พอใจมากที่หญิงผิวขาวคนหนึ่งมาวางอำนาจในประเทศ Rwanda ส่วนตัว Dian เองก็ไม่เคยไว้วางใจผู้อำนวยการและคนรอบข้างเลย

เมื่อ Dian มี “ศัตรู” มากมายทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ดังนั้น Mowat จึงคิดว่า นี่คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราไม่รู้และไม่มีวันรู้แน่ชัดว่า ใครฆ่าเธอ

ณ วันนี้ ชาว Rwanda เห็นความสำคัญของกอริลลา และทุกครั้งที่มีกอริลลาเกิดใหม่จะมีการตั้งชื่อ แล้วเชิญแขกผู้ใหญ่และบุคคลที่มีชื่อเสียงมาฉลอง ซึ่งนับเป็นอีเวนต์แห่งชาติที่ทุกคนยินดี

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นผลพวงที่ได้จากความรักของผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ Dian Fossey ที่มีต่อกอริลลาภูเขานั่นเอง

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน- ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น