นักวิจัยพบหลักฐานที่ชี้ว่า “โลกร้อน” เป็นตัวการสำคัญทำ “แมมมอธ” สูญพันธุ์ ไม่ใช่มนุษย์อย่างที่เคยตกเป็นจำเลย โดยการวิเคราะห์ดีเอ็นเอเผยว่าจำนวนช้างขนยาวเริ่มลดจำนวนลงเมื่อโลกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเร็วกว่าที่เคยเข้าใจ และยังชี้อีกว่าประชากรแมมอธในยุโรปตายเกลี้ยงเมื่อ 30,000 ปีก่อน
บีบีซีนิวส์ระบุว่างานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ลงวารสารโพรซีดิงสออฟเดอะรอยัลโซไซตีบี (Proceedings of the Royal Society B) ซึ่งในความเห็นของนักวิจัยจำนวนมากแมมมอธเป็นสัตว์ที่ทรหด เป็นสปีชีส์ที่มีอยู่เหลือเฝืออยู่บนโลก และเคยรุ่งเรืองอยู่ในยุคของตัวเอง ทว่างานวิจัยที่นำทีมโดย ดร.เลิฟ ดาเลน (Dr.Love Dalen) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสวีเดน (Swedish Museum of Natural History) ได้เขย่าความเชื่อดังกล่าว
ดร.ดาเลนทำงานร่วมกับทีมวิจัยในลอนดอนเพื่อวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากแมมอธ 300 ตัวอย่าง ที่เก็บรวบรวมโดยทีมวิจัยของพวกเขาเอง และทีมวิจัยอื่นๆ ที่ศึกษาแมมอธมาก่อนพวกเขา โดยการศึกษาดีเอ็นเอแมมอธทำให้พวกเขาสืบค้นไปถึงจำนวนประชากรในช่วงเวลาที่แมมมอธนั้นๆ มีชีวิตอยู่ ยิ่งตัวอย่างมีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำ ยิ่งแสดงว่าช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่นั้นมีประชากรต่ำ
สิ่งที่ทีมวิจัยพบคือช้างชนิดนี้เริ่มเข้าสู่การสูญพันธุ์เมื่อเกือบๆ 120,000 ปีก่อน เมื่อโลกร้อนขึ้นช่วงหนึ่ง เชื่อว่าจำนวนประชากรแมมมอธลดลงจากหลายล้านตัวเหลือปริมาณหลักหมื่น แต่จำนวนประชากรก็ฟื้นขึ้นเมื่อโลกเริ่มเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกยุค ส่วนการลดลงของประชากรที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ในท้ายที่สุดนั้นเริ่มเมื่อ 20,000 ปีก่อนซึ่งเป็นจุดสูงสุดของยุคน้ำแข็ง แทนที่จะเป็นเมื่อ 14,000 ปีก่อนที่โลกเริ่มต้นร้อนขึ้นอีกครั้งอย่างที่เคยเข้าใจ
ทีมวิจัยพิเคราะห์ว่าช่วงเวลาดังกล่าวที่โลกเป็นยุคน้ำแข็งเต็มที่นั้น หญ้าซึ่งเป็นอาหารของแมมมอธก็เริ่มขาดแคลน และการลดจำนวนลงก็เร่งเร็วขึ้นเมื่อยุคน้ำแข็งสิ้นสุด ซึ่งอาจเป็นเพราะทุ่งหญ้าที่แมมมอธใช้เพื่อการเจริญเติบโตนั้นถูกแทนที่ด้วยป่าทางตอนใต้ ส่วนทางตอนเหนือก็ถูกแทนที่ด้วยทุ่งหญ้าทุนดรา
ทั้งนี้ เหตุผลที่ทำให้แมมอธตายไปหมดนั้นยังเป็นข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์อย่างเผ็ดร้อน บางส่วนโต้แย้งว่ามนุษย์ล่าแมมมอธไปจนหมดสิ้น ขณะที่บางส่วนเถียงว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเป็นปัจจัยหลักของการสูญพันธุ์ แต่คำวิจารณ์ค้านการสูญพันธุ์โต้แย้งว่าโลกร้อนเกิดขึ้นก่อนที่ช้างชนิดนี้จะสูญพันธุ์ นั่นจึงไม่น่าเป็นเหตุผลว่าภูมิอากาศเป็นปัจจัยหลัก
หากแต่งานวิจัยวิจัยนี้เผยให้เห็นว่าแมมมอธเกือบจะสูญพันธุ์ไปหมดระหว่างยุคน้ำแข็ง และดึงแนวคิดว่าเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้แมมมอธตายหมดสิ้นกลับมาอีกครั้ง โดยผลวิจัยดังกล่าวมีน้ำหนักเพิ่มจากการจำลองทางคอมพิวเตอร์ของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเดอแรม (Durham University) เมื่อปี 2010 ที่แสดงถึงสภาพของช่วงเวลาดังกล่าว
ขณะที่แมมมอธเริ่มลดจำนวนลง สัตว์อื่นซึ่งรวมทั้งมนุษย์ด้วยก็เริ่มมีพลวัตมากขึ้นหลังจากยุคน้ำแข็ง และมีการแข่งขันกับสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่น ซึ่ง ศ.อัลเดรน ลิสเตอร์ (Prof.Adrian Lister) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ในลอนดอน อังกฤษ กล่าวว่าการล่าสัตว์ก็อาจเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก
“ระหว่างปลายยุคน้ำแข็ง เมื่อประมาณ 50,000-20,000 ปีก่อน มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรแมมมอธอย่างมากมาย ประชากรแมมมอธในยุโรปถูกแทนที่ด้วยคลื่อนการอพยพจากทางตะวันออก แต่เมื่อ 20,000 ปีก่อนระหว่างนั้นประชากรแมมมอธก็ลดลงมหาศาล และเข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์ เริ่มจากประชากรบนแผ่นดินใหญ่ก่อนเมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว แล้วสุดท้ายก็มีการสูญพันธุ์ที่เกาะในอาร์กติก รูปแบบการสูญพันธุ์ดังกล่าวสอดคล้องพอดีกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศตามธรรมชาติ ส่วนมนุษย์จะมีบทบาทใดๆ หรือไม่นั้น ยังต้องรอพิสูจน์” ศ.ลิสเตอร์กล่าว