xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: เมื่อ “เคมบริดจ์”เปิดสอนหลักสูตร “คนเหล็กศึกษา”หวังรับมือจักรกลยึดครองโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถาบันการศึกษาชื่อก้องโลกอย่างมหาวิทยาลัย “เคมบริดจ์” แห่งสหราชอาณาจักรสร้างความฮือฮาครั้งใหญ่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังสื่อต่างประเทศหลายสำนักจากทุกมุมโลกต่างพร้อมใจนำเสนอรายงานข่าวที่ว่า มหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกและก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ.1209 แห่งนี้ เตรียมเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรใหม่ในปีหน้าที่มีชื่อว่า “Terminator studies” หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือหลักสูตร “คนเหล็กศึกษา”
หลักสูตร “คนเหล็กศึกษา”ของเคมบริดจ์เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลก
รายงานข่าวระบุว่า แผนการเปิดสอนหลักสูตร “Terminator studies” ของทางผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์มีขึ้น หลังมีเสียงเรียกร้องให้มีการศึกษาอย่างจริงจังต่อภัยคุกคามของพวกจักรกลและคอมพิวเตอร์ ที่มีต่อมวลมนุษยชาติ

โดยการจัดตั้งสาขาวิชาดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจ ได้เข้ามาเรียนรู้อย่างจริงจังถึงความเสี่ยงที่พวกหุ่นยนต์โคตรอัจฉริยะ หรือ “super-intelligent robots” และคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงทั้งหลาย อาจลุกขึ้นมาต่อกรหรือวางแผนทำลายมนุษย์ และยึดครองโลกในสักวันหนึ่ง

ทางมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เผยว่า หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตรสุดฮือฮาดังกล่าว คือ มาร์ติน จอห์น รีส หรือท่านลอร์ด รีสแห่งลัดโลว์ วัย 70 ปี ซึ่งเป็นราชบัณฑิตและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ระดับแถวหน้าของเมืองผู้ดีซึ่งเคยออกมาคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่เผ่าพันธุ์มนุษย์อาจถึงคราวต้องล่มสลายหายไปจากโลกภายใน ค.ศ. 2100
ทางเคมบริดจ์ชี้ โลกอาจถูกพวกจักรกลยึดครองในอนาคต
นอกจากนั้น ผู้ที่ลงทะเบียนเข้าศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว ยังจะได้มีโอกาสเรียนกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกอีกหลายรายรวมถึงศาสตราจารย์ฮิวจ์ ไพรซ์ ผู้เชี่ยวชาญปรัชญาของเคมบริดจ์ และยาน ทาลลินน์ โปรแกรมเมอร์ชื่อก้องชาวเอสโทเนียที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง โปรแกรม“Skype” อันโด่งดัง

อย่างไรก็ดี หลังข่าวการตั้งหลักสูตร “คนเหล็กศึกษา” ถูกเผยแพร่ออกไป กระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมจากทั่วโลกก็ได้พุ่งเป้าตรงดิ่งมายังมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์อย่างทันควัน จนทางผู้บริหารต้องออกโรงชี้แจงว่า ในความเป็นจริงแล้ว หลักสูตร “Terminator studies” ของทางเคมบริดจ์ ไม่ได้เน้นศึกษาภัยคุกคามของพวกจักรกลแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะมีการศึกษาอย่างรอบด้านถึงสิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ใน 4 ประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ภัยคุกคามจากพวกจักรกลอัจฉริยะ artificial intelligence, ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, ภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก รวมถึง ภัยคุกคามจากเทคโนโลยีชีวภาพ

ขณะเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ยังยืนยันว่า การเรียนการสอนในหลักสูตรดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ศูนย์การศึกษาว่าด้วย ความเสี่ยงต่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ (The Centre for the Study of Existential Risk : CSER) พร้อมยืนยันมนุษย์จำเป็นต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามจากสิ่งที่ไม่คาดฝันต่างๆ ที่อาจมิได้มีอยู่แต่ในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์อีกต่อไป
มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
อย่างไรก็ดีความเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการจัดตั้งหลักสูตรอันพิลึกพิลั่นแต่อย่างใด เนื่องจากตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา บรรดาสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลก ต่างเรียกเสียงฮือฮาด้วยการเสนอการเรียนการสอนในสาขาวิชาสุดแปลกมาแล้วมากมาย

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2010 “Durham University”มหาวิทยาลัยเก่าแก่ของอังกฤษที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ.1832 เคยเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีในสาขาวิชา “แฮร์รี พ็อตเตอร์ศึกษา” มาแล้ว โดยรวมไว้ในคณะศึกษาศาสตร์ ขณะที่มหาวิทยาลัย “Staffordshire ”ได้เปิดหลักสูตร “เดวิด เบ็คแฮมศึกษา” ในระดับปริญญาตรีสำหรับนักศึกษาด้านกีฬา การแพทย์และวัฒนธรรม ซึ่งจะมีการเรียนแบบเจาะลึกในทุกเรื่องราวของนักฟุตบอลชื่อดังรายนี้ ไม่เว้นแม้แต่ การศึกษาเรื่องทรงผมต่างๆของเบ็คแฮม และอิทธิพลของทรงพลนั้นๆ ต่อบริบททางสังคม

ด้านฝั่งอเมริกาก็ไม่น้อยหน้า เมื่อมหาวิทยาลัย “Rutgers”ในมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ของสหรัฐฯ เคยเปิดหลักสูตรประหลาดชื่อ “Politicizing Beyonce” ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ถึงผลงานของนักร้องซูเปอร์สตาร์ผิวสีชาวอเมริกัน “บียองเซ โนวล์ส คาร์เตอร์” ขณะที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์คลีย์ของสหรัฐฯ ก็เคยเปิดหลักสูตร “Simpsons and Philosophy” ที่นำเอาเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์การ์ตูนยอดฮิตอย่าง “เดอะ ซิมพ์สัน”มาศึกษาเปรียบเทียบในเชิงปรัชญากับผลงานของปรมาจารย์อย่างเพลโตและโฮเมอร์ เป็นต้น ส่วนทางมหาวิทยาลัยบัลติมอร์ได้เปิดสอนสาขาวิชา “Zombie studies” ในระดับปริญญาตรี เพื่อให้นักศึกษารู้เท่าทันภัยคุกคามของพวกซากศพคืนชีพ และเตรียมรับมือวันที่ซอมบี้ออกอาละวาด
ลอร์ด รีสแห่งลัดโลว์ ราชบัณฑิตและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ระดับแถวหน้าของเมืองผู้ดี
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับการผุดขึ้นมากมายของหลักสูตรหรือสาขาวิชาแปลกๆเหล่านี้ สะท้อนให้เราเห็นว่า เรื่องที่ดูไร้สาระในสายตาของใครหลายคน อาจมีแง่มุมที่เป็นประโยชน์แฝงเร้นอยู่ไม่มากก็น้อย และไม่แน่ว่าสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรา หรือสิ่งที่เคยมีอยู่แต่ในเฉพาะนิยายวิทยาศาสตร์และภาพยนตร์ อาจกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ของเราในอนาคตก็เป็นได้ และไม่แน่ว่าสักวันหนึ่ง สถาบันการศึกษาในเมืองไทยของเราก็อาจมีการเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรในทำนองนี้เช่นกัน
มหาวิทยาลัย “Staffordshire ”เปิดหลักสูตร “เดวิด เบ็คแฮมศึกษา”
มหาวิทยาลัย “Rutgers”ในมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ของสหรัฐฯ เคยเปิดหลักสูตร “Politicizing Beyonce”
กำลังโหลดความคิดเห็น