xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์ชูนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าน้ำยางแก้วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ทีเซลส์กับตัวอย่างเครื่องสำอางจากสารสกัดน้ำยางพารา
ก.วิทย์ชูนวัตกรรมปลายน้ำเพิ่มมูลค่าน้ำยางพารา ทั้ง "ล้อตัน" ประหยัดพลังงานที่ใช้ปริมาณน้ำยางมาก เซรั่มและครีมหน้าขาวจากสารสกัดน้ำยางพารา และวัสดุจากยางพารา อาทิ วัสดุปูพื้น วัสดุตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ และยางปูพื้นรถยนต์ เป็นต้น

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวแก้วิกฤตน้ำยางด้วยการเพิ่มมูลค่านวัตกรรมปลายน้ำจากผลงานหน่วยงานในกระทรวง โดยการสร้างนวัตกรรมจะช่วยดึงน้ำยางดิบเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าน้ำยางต้นน้ำ พร้อมทั้งให้ตัวแทนจากหน่วยงานในสังกัดแนะนำนวัตกรรมจากน้ำยาง

"ประเทศไทยผลิตยางพาราได้ปีละ 3.5 ล้านตัน แต่ส่งออกประมาณ 90% ในรูปน้ำยางดิบ ซึ่งมีราคาต่ำ มีแปรรูปในประเทศประมาณ 300,000 ตัน ถ้าแก้ปัญหาด้วยรับซื้อก็ได้ราคาแพงต่างประเทศเขาก็ไม่ซื้อ เขาก็จะหันไปใช้ยางสังเคราะห์แทน" รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เผยข้อมูล

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยกตัวอย่าง "ล้อตัน" ประหยัดพลังงานผลงานวิจัยร่วมระหว่าง สวทช.และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้น้ำยางค่อนข้างมาก หากนำน้ำยางและยางแผ่นมาผลิตเป็นล้อตันเพิ่มจะช่วยเพิ่มการแปรรูปยางในประเทศจากปีละ 300,000 ตันเป็น 400,000 ตันได้ไม่ยาก

"น่าจะทำได้ ถ้ารัฐบาลออกนโยบายที่ทำให้มีการใช้ยางล้อที่ผลิตในประเทศมากขึ้น น่าจะทำให้ยางแห้งและยางแผ่นในออกจากระบบไปได้เยอะ ซึ่งการใช้งานก็เริ่มจากตลาดรถยนต์ที่ภาครัฐใช้กันเอง หรือยกระดับสู่การผลิตยางล้อให้ได้มาตรฐาน" ดร.ทวีศักดิ์กล่าว

ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ การถึงการเพิ่มมูลค่าน้ำยางจากการสกัดสารจากยางพาราเพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งปัจจุบันได้แปรรูปเป็นเจลล้างหน้า ครีมหน้าขาวและเซรั่มลดเลือนริ้วรอย

ทั้งนี้ นักวิจัยที่ทีเซลส์ให้การสนับสนุนได้สังเกตพบว่าต้นยางพาราที่โดนกรีดจะผลิตน้ำใสๆ ออกมารักษาบาดแผลต้นยาง จึงสนใจนำมาศึกษากลไกในระดับโมเลกุลเพื่อนำมาใช้ในการซ่อมแซมผิวของคนเรา

"ปกติน้ำยางส่วนที่ใสจะถูกแยกจากน้ำข้นที่นำไปผลิตเป็นล้อรถและผลิตภัณฑ์อื่นๆ และน้ำยางส่วนใสนี้จะถูกทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ แต่เมื่อนำมาสกัดเอาซีรั่มเพื่อสมเป็นผลิตภัณฑ์ไวเทนนิ่งจะมีมูลค่าถึงกิโลกรัมละ 100,000 บาท ตอนนี้ราคายังแพงอยู่ แต่เมื่อผลิตในระดับอุตสาหกรรมน่าจะถูกลง แต่อยากให้สวนยางผลิตน้ำยางที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ เพื่อมาสกัดเอาสารสำคัญดังกล่าว" ดร.นเรศกล่าว

ส่วน นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้ยกตัวอย่างโครงการนำร่อง ซึ่งจะช่วยดึงน้ำยางออกจากระบบ ทำให้มีความต้องการมากขึ้น และมูลค่าสูงขึ้น เช่น แผ่นยางปูพื้นสนามที่สามารถใช้แทนพื้นคอนกรีต แผ่นยางปูพื้นรถยนต์ และวัสดุสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

สำหรับแผ่นยางปูพื้นสนามนั้นใช้แผ่นยาง 8 กิโลกรัมผลิตแผ่นยางได้ 1 ตารางเมตร และมีมูลค่า 2,400 บาท หรือแผ่นกัญชงปูพื้นรถยนต์ที่ผสมยางพาราจะใช้ยาง 2.1 กิโลกรัมต่อแผ่นปู 1 ชุด ซึ่ง นายศุภชัยระบุว่าได้ส่งไปให้บริษัทรถยนต์ทดสอบ 1,000 ชุด ซึ่งหากทำได้จะตั้งเป้าการผลิตปีละ 100,000 ชุด ซึ่งจะทำให้มีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นอีก 210 ตัน และเพิ่มมูลค่ายางแผ่นได้ 20 เท่า

พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการ สนช.ยังให้ความเห็นอีกว่าสิ่งที่ไทยต้องสนับสนุนมากกว่าการปลูกยางพาราคือการสร้างอุตสาหกรรมยางพาราขึ้นมาให้ได้ ซึ่งจะทำได้นั้นทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ต้องร่วมกันสร้างสายโซ่มูลค่า (value chain) อย่างต่อเนื่อง







ตัวอย่างเครื่องสำอางจากสารสกัดน้ำยางพารา
แผ่นปูรถยนต์กัญชงผสมยางพารา
วัสดุจากยางพาราสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์
ยางล้อตันประหยัดพลังงาน
(ซ้ายไปขวา) นายศุภชัย หล่อโลหการ, นายพีระพันธ์ พาลุสุข, ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล และ ดร.นเรศ ดำรงชัย
กำลังโหลดความคิดเห็น