xs
xsm
sm
md
lg

ระวังสมองเป็นสนิม เหตุฝากความจำบน “มือถือ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ.เผยผู้สูงอายุไทยเสี่ยงป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมมากถึง 1 ใน 10 คาดในปี 2563 ยอดอาจพุ่ง 1.3 ล้านคน ย้ำเตือนคนไทยอย่าฝากความจำที่เทคโนโลยีแทนสมอง เช่น มือถือ เครื่องคิดเลข คาราโอเกะ โรคนี้อาจเยือนเร็ว เพราะสมองเป็นสนิม

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ยุทธ โพธารามิก ประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย และ ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ กรรมการเลขานุการ ร่วมแถลงข่าวว่า วันที่ 15 กุมภาพันธ์ นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELs) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงาน “สร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 5” ที่สวนสุขภาพ ในกระทรวงสาธารณสุข ฟรีตลอดงาน เพื่อรณรงค์กระตุ้นให้สังคมไทยรู้จักโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ และรู้จักโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากสมองฝ่อพบในคนไทยร้อยละ 30 เพื่อร่วมมือกันแก้ไขป้องกันหรือชะลอการป่วยเป็นโรคนี้ เนื่องจากไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นในอนาคต

ปัจจุบันทั่วโลกพบผู้สูงอายุเป็นโรคสมองเสื่อมไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน และอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านคนต่อปี ซึ่งโรคนี้เป็นกลุ่มอาการที่เซลล์ประสาทเสื่อม สูญเสียหน้าที่การทำงานอย่างเรื้อรังอายุยิ่งมากยิ่งพบมาก ทำให้ความจำเสื่อม มีพฤติกรรมและบุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิม ผลการสำรวจสุขภาพผู้สูงอายุไทยโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ล่าสุด ใน พ.ศ.2551-2552 พบผู้สูงอายุมีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมร้อยละ 12และข้อมูลจากสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) ได้ประมาณการว่า ในปี พ.ศ.2563 ไทยอาจมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุโดยรวมของประเทศ โดยโรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบในเขตชนบทมากกว่าในเมือง สาเหตุใหญ่ในไทยพบว่าประมาณร้อยละ 60 สัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดแข็ง ตีบ ตัน ทำเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่วนที่เหลือนั้นมักเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะการทำงานของต่อมไธรอยด์ผิดปกติ เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาทั้งตัวของผู้สูงอายุและผู้ดูแล เพราะทำให้เกิดความเครียด ความกังวล คุณภาพชีวิตที่ลดลง และมีผลถึงสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย

“ที่น่าเป็นห่วง คือ ในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่มีความเจริญของเครื่องมือเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างในชิ้นเดียว อาจทำให้เกิดผลเสียที่คาดไม่ถึงและไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยจำ ช่วยคิดแทนการใช้สมอง ที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน เช่นบันทึกเบอร์โทรศัพท์ในมือถือ ร้องเพลงตามคาราโอเกะ ใช้เครื่องคิดเลขในโทรศัพท์ หรือเครื่องคิดเลขคิดแทนการใช้สมองคำนวณ โดยเฉพาะใช้ตั้งแต่วัยเด็ก มีผลทำให้สมองขาดการใช้งาน เซลล์ประสาทขาดการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดปัญหาเสื่อมตามมา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สมองเป็นสนิม อาจทำให้เกิดโรคความจำเสื่อมได้เร็วขึ้น จึงต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ถูกต้อง” นพ.ชลน่าน กล่าว

สำหรับการป้องกัน หรือชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อม แนะนำให้ประชาชนฝึกการใช้สมองบ่อยๆ ตั้งแต่เด็ก เช่น หัดท่องสูตรคูณ ท่อง ก.ไก่ อ่านหนังสือ ฝึกร้องเพลงโดยการฟังและจำ ในวัยทำงานอาจท่องบทสวดมนต์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ส่วนในผู้สูงอายุควรหมั่นคิดคำนวณเลขบ่อยๆ เพื่อใช้งานเซลล์สมองทำงาน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3-5 ปีนี้ จะเร่งลดอัตราการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมรายใหม่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60-70 ปี ให้เหลือไม่เกินร้อยละ10 โดยมอบให้สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ พัฒนาระบบการดูแลและป้องกันอย่างครบวงจร และจะให้ อสม.ที่มี 1 ล้านกว่าคน ตรวจคัดกรองหาผู้ที่มีความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม เพื่อนำเข้าสู่ระบบการฟื้นฟู และชะลอการเสื่อมให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยลดภาระให้ครอบครัว

นพ.ยุทธ โพธารามิก ประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เป็นประเภทของโรคสมองเสื่อมที่พบได้มากที่สุด โดยปัจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่สามารถพัฒนาสู่โรคได้ คือ อายุที่เพิ่มขึ้น การถ่ายทอดทางพันธุกรรม มียีนเสี่ยง (APOE-e4) หรือแม้แต่โรคทางกายบางอย่าง เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ความดัน หรือ โรคไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมประเภทนี้ได้ ผู้ป่วยมักมีอาการก่อนอายุ 60 ปี แต่อาการยังไม่ปรากฎชัดเจน อาการจะหลงลืมอย่างมาก จำคนใกล้ชิดไม่ได้ จำทางกลับบ้านไม่ได้ ดูแลตนเองไม่ได้ กลุ่มที่เสี่ยงจะเป็นโรคสมองเสื่อมและพบก่อนอายุ 60 ปี ได้แก่ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ จากการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตกระฉับกระเฉง ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดิน จะทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น เพิ่มความสามารถในการเผาผลาญออกซิเจนให้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ชะลอความชราได้โดยผู้ที่ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3ครั้งจะลดความเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวได้ร้อยละ 60 

ทางด้านศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ กรรมการเลขานุการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าขณะนี้มูลนิธิอัลไซเมอร์ฯ ได้ร่วมทีเซลส์ พัฒนาโปแกรมการคัดกรองผู้เสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ สามารถใช้ทดสอบผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนเช่นไอแพด (iPad)และระบบแอนดรอยด์ (Android) ที่มีขนาดหน้าจอ 7 นิ้ว โดยตัวโปรแกรมสามารถใช้ได้ทั้งผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้สูงอายุเองให้ผลแม่นยำแอปพลิเคชันนี้จะสามารถรู้ความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์เบื้องต้นได้ และยืนยันตรวจของสุขภาพโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้ง โดยจะเปิดตัวโปรแกรมในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 และจะให้บริการประชาชน สามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของทางมูลนิธิได้จาก www.alz.or.th และเว็บไซด์ของทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ www.tcels.or.th โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในงานวันอัลไซเมอร์ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การให้ความรู้เรื่องโรคอัลไซเมอร์ บริการตรวจคัดกรองความจำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การเล่นเกมฝึกการใช้สมอง โปรแกรมคำนวณอายุสมอง นิทรรศการเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ทีมแพทย์ให้คำปรึกษา ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเบื้องต้นกิจกรรมสอนทำยาหม่อง นอกจากนี้ ยังมีสาธิตการเต้นป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ตลอดจนแบ่งกลุ่มเล่นกีฬาสี และบรรยายพิเศษให้ความรู้เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ผ่านภาพยนตร์ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียน สำรองที่นั่งได้ที่ 08-9454-8663 หรือ 0-2644-5499 ต่อ 134
กำลังโหลดความคิดเห็น