xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมดัน "ครีมหน้าขาว" จากยางพาราสู่ตลาดอินเดีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้ายไปขวา) ผศ.ดร.มนุพัศ โลหิตนาวี, ดร.นเรศ ดำรงชัย และ รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล
"ทีเซลส์" หนุน มอ.-มน. ผลิตเครื่องสำอางจากยางพาราอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมเตรียมรุกสู่ตลาดอินเดีย หวังเพิ่มมูลค่าน้ำยางดิบในระยะยาว

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ทีเซลส์) เผยว่าได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) พัฒนาการใช้ประโยชน์จากยางพาราด้วยเทคโนโลยีชีวภาพมานานหลายปี โดยมุ่งหวังน้ำทรัพยากรไทยไปใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่า

"จุดแข็งของ มอ.คือการผลิตสารสกัดจากยางพารา ส่วน มน.คือการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยมีจุดเด่นในเรื่องการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิผล ซึ่งเริ่มมีเอกชนทั้งในและต่างประเทศสนใจในเครื่องสำอางจากยางพารา" ดร.นเรศกล่าว

ก่อนนี้ ผอ.ทีเซลส์ระบุว่า ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาเครื่องสำอางจากสารสกัดน้ำยางพาราที่รู้จักกันในชื่อ "ครีมหน้าขาว" ซึ่งได้จดสิทธิบัตรในจีน สิงคโปร์ และไทย และกำลังยื่นจดสิทธิบัตรในอีกหลายประเทศ ซึ่งครีมหน้าขาวอยู่มีมูลค่าในตลาดในเอเชีย-แปซิฟิกกว่า 3 แสนล้านบาท โดยตลาดใหญ่อยู่ที่จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย

"โชคดีว่าแนวโน้มโลกหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับเครื่องสำอางจากยางพาราไทย แต่ต้องระวังในเรื่องภาพลักษณ์เกี่ยวกับการแพ้และการเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทำล้อรถยนต์ ถึงอย่างนั้นการทำตลาดและการสร้างแบรนด์ก็สามารถทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว" ดร.นเรศกล่าว

ล่าสุดมีการลงนามความร่วมมือระหว่างทีเซลส์ มอ. และ มน.ในการเสริมศักยภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาเครื่องสำอางจากยางพารา ซึ่งได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงหน้าขาว และเครื่องสำอางบำรุงหน้าใสไปแล้ว อนาคตทีเซลส์ยังเตรียมดันผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมและลดปัญหาผมร่วงจากยางพาราออกสู่ตลาด

ทางด้าน รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าทางมหาวิทยาลัยทำงานวิจัยยางพาราเป็นเรื่องหลักจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การวิจัยเรื่องการปลูกและลดต้นทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราในอุตสาหกรรม จนถึงการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

"สำหรับสารสกัดจากยางพาราเพื่อผลิตเครื่องสำอางนั้นเป็นส่วนของปลายน้ำ ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้จากน้ำที่แยกจากเนื้อยางไปแล้ว สารสกัดดังกล่าวไม่มีส่วนผสมของเนื้อยางเลย เป็นการเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งอย่างแท้จริง ถ้ามีการใช้เครื่องสำอางจากสารสกัดนี้จำนวนมากก็จะเพิ่มมูลค่าน้ำยางได้" รศ.ดร.ชูศักดิ์กล่าว

การร่วมกันในครั้งนี้ รศ.ดร.ชูศักดิ์มองว่า ทีเซลส์ซึ่งให้ทุนเพื่อนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ ส่วน มน.มีจุดแข็งในเรื่องการผลิตเครื่องสำอาง และ มอ.มีความสามารถในการผลิตสารสกัดจากยางพาราสำหรับตั้งต้นผลิตเครื่องสำอาง จะช่วยให้ทั้ง 3 ฝ่ายต่อยอดงานวิจัยได้อย่างครบถ้วน และแข็งขันกับต่างประเทศได้

ส่วน ผศ.ดร.มนุพัศ โลหิตนาวี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่าทาง มน. ทำงานวิจัยเรื่องเครื่องสำอางมานานมาก โดยมี รศ.ดร.เนติ วระนุช จากคณะเภสัชศาสตร์ เป็นผู้บุกเบิกมาตั้งแต่ต้นนับจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐฯ

"ผลิตแล้วใช้แค่ในคณะเภสัชก็คงไปได้ไม่ไกล การร่วมมือกับทีเซลส์ทำให้เราไปได้ไกลขึ้น และเมื่อมีโอกาสร่วมมือกับ มอ. ก็จะพัฒนาไปได้อีกเยอะ สำหรับ มน.แล้วการพิสูจน์ประสิทธิภสพและความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด" ผศ.ดร.มนุพัศกล่าว

พร้อมกันนี้ ดร.นเรศยังเผยด้วยว่ากำลังเจรจากับบริษัทเครื่องสำอางจากอินเดียในการนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงหน้าขาวสู่ตลาดอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สำรับครีมหน้าขาว นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศที่สนใจรับสารสกัดจากยางพาราไปผลิตเครื่องสำอางและที่สนใจสูตรเครื่องสำอาง

"ข้อจำกัดของต่างประเทศคือเขาไม่มีน้ำยาง ซึ่งเราถือเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวของโลกที่สามารถผลิตเครื่องสำอางจากน้ำยางพาราได้ เนื่องจากต้องใช้น้ำยางสด ถ้าเขาสนใจก็ต้องผลิตจากในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าน้ำยางดิบในอนาคต" ดร.นเรศกล่าว







*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น