ไทยอาจยังไม่มีเทคโนโลยีปล่อยจรวดเป็นของตัวเอง แต่เยาวชนกลุ่มเล็กๆ ก็มีโอกาสได้เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อการป้องกันประเทศนี้และร่วมกันออกแบบจรวด พร้อมทั้งทดลองปล่อยในศูนย์ซ้อมยิงปืนใหญ่ของค่ายทหาร
ด้วยเห็นว่าเทคโนโลยีจรวดของไทยยังไม่ก้าวหน้ามากนัก และสงสัยว่าเทคโนโลยีด้านนี้ในไทยมีโอกาสที่จะก้าวหน้าไหม อีกทั้งสนใจงานด้านวิศวกรรมศาสตร์ น.ส.วาสนา บุญหมื่น โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ จึงสมัครเข้าค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป. กระทรวงกลาโหม
ค่ายดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 ส.ค.56 โดยมีการอบรมภาคทฤษฎีและสร้างจรวดประดิษฐ์ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และกิจกรรมทดสอบจรวดประดิษฐ์ ณ สนามฝึกยิงปืนใหญ่เขาพุโลน จ.ลพบุรี ซึ่งมีนักเรียนชั้น ม.5-6 จากทั่วประเทศรวม 100 คน
ผลจากการทดสอบจรวดประดิษฐ์ ณ สนามยิงปืนใหญ่เขาพุโลน จรวดประดิษฐ์ของทีม Black Hole ที่วาสนาเป็นสมาชิกทำสถิติพุ่งสูงสุดเมื่อแข่งขันกับทีมอื่นๆ คือ 373.1 เมตร โดยทางเจ้าหน้าที่ สทป.จะทำหน้าที่จุดชนวนแทนเยาวชนทุกกลุ่ม เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่อันตราย
สำหรับสมาชิกทีมเดียวกับวาสนาคนอื่นๆ คือ นายบัณฑิต หงสวัธน์ จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย นายต้นเพชร พงษ์วัฒนา จากโรงเรียนลาซาล กรุงเทพฯ น.ส.ภัทรกาญจน์ ประพันธ์ จากโรงเรียนสตรีนนทบุรี และ น.ส.ณิธกุล บุญจูง จากโรงเรียนขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ
วาสนาเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าได้ความรู้จากบุคลากรของ สทป.ที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศและเทคโนโลยีการสร้างจรวด รวมถึงความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีจรวดของต่างประเทศจาก ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมถึงเทคโนโลยีของไทยว่าไปถึงไหนแล้ว ซึ่งไทยยังเทียบกับต่างประเทศไม่ติด
ส่วนภัทรกาญจน์ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่น่าจะทำให้จรวดของพวกเขาพุ่งได้สูงกว่าทีมอื่นๆ คือการออกแบบหาที่ควบคุมทิศทาง ซึ่งพวกเขาทำได้ค่อนข้างดี และและยังได้ความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์และเคมีจากการเข้าข่ายในครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนต่อไปได้
ด้าน นายไพศาล อภิณหพัฒน์ นักวิจัย สทป. และพี่เลี้ยงค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ กล่าวถึงส่วนประกอบของจรวดประดิษฐ์ว่า ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนหัวจรวดซึ่งผลิตจากโฟมโพลียูรีเทน ที่ขึ้นรูปได้ง่าย ตัด กลึงได้ง่าย และมีน้ำหนักเบา 2.ลำจรวดที่แบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนที่บรรจุร่มชูชีพ และส่วนดินขับ 3.ส่วนครีบหางที่ทำหน้าที่บังคับทิศทาง
สำหรับดินขับนั้นเป็นผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งประกอบด้วย เชื้อเพลิงผสม ออกซิไดเซอร์หรือตัวให้ออกซิเจน และตัวประสานที่เปลี่ยนเชื้อเพลิงเหลวให้เป็นเชื้อเพลิงแข็ง โดยดินขับจะบรรจุที่ส่วนท้ายของจรวด แต่จะไม่ให้นักเรียนบรรจุเอง เนื่องจากเป็นวัตถุระเบิดที่อาจเป็นอันตรายได้ และจรวดประดิษฐ์ในค่ายจะใช้ดินขับ 100 กรัม
ส่วนความยาวของจรวดนั้นตามทฤษฎีกำหนดให้ความยาวเป็น 10 เท่า ของเส้นผ่านศูนย์ของท่อที่ใช้ผลิตเป็นลำจรวด ซึ่งในค่ายครั้งนี้ใช้ท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3/4 นิ้ว แต่ในทางปฏิบัติสามารถเพิ่มความยาวของท่อตามความเหมาะสม นอกจากนี้ร่มชูชีพจะทำหน้าที่
ปัจจัยที่ทำให้จรวดพุ่งสูงหรือไม่นั้น ไพศาลอธิบายว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ลักษณะหัวจรวดว่าโค้งมนเหมาะสมหรือไม่ ความยาวของลำจรวด และลักษณะครีบหาง ซึ่งตามทฤษฎีทั่วไปลักษณะครีบจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมธรรมดา แต่อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบได้
หลังจากการแข่งขันยิงจรวดที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของค่าย ไพศาลได้สรุปข้อควรแก้ไขของจรวดทั้งหมด โดยพบว่าส่วนใหญ่ร่มชูชีพไม่กาง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเพราะเชือกถูกความร้อนเสียดสีและขาดก่อนจรวดจะแยกเป็น 2 ท่อน หรือผ้าใบร่มไหม้ไปเสียก่อน และยังพบอีกว่าข้อต่อระหว่างท่อนจรวดนั้นยึดกันไม่ดี จรวดจึงแยกส่วนก่อนจะเผาไหม้หมด นอกจากนี้บางทีมยังพบว่าจรวดไม่พุ่งเลย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีการรั่วของดินขับ ซึ่งทั้งหมดเป็นโจทย์ที่ทีมวิจัยต้อวกลับไปแก้ไข
พร้อมกันนี้ นักวิจัย สทป. ยังได้เปรียบเทียบจรวดประดิษฐ์กับบั้งไฟว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร สำหรับบั้งไฟนั้นเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านและใช้ดินประสิวเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งอันตรายกว่า ขณะที่ "ดินขับ" ของทีม สทป.นั้นผ่านการวิจัยค้นคว้ามา แต่ก็สามารถนำความรู้เกี่ยวกับดินขับไปประยุกต์ใช้กับบั้งไฟได้
หลายคนอาจสงสัยว่าเจ้าหน้าที่วัดความสูงที่จรวดพุ่งขึ้นไปได้อย่างไร? ในส่วนนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้ขึ้นไปสังเกตการวัดความสูงของจรวดที่ฐานวัดสูงจากระดับฐานปล่อยจรวด 42 เมตร ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ใช้กล้อง 2 ชุดเพื่อบันทึก ได้แก่ กล้องที่ควบคุมด้วยคนที่จะส่งตามการพุ่งของจรวดไปจนถึงจุดสูงสุด แล้วนำค่าที่วัดได้มาคำนวณ และกล้องติดตามการเคลื่อนที่ของจรวดที่ื่อมระบบคอมพิวเตอร์วัดความสูงในการพุ่งของจรวด
ทางด้าน พลโท ดร.ฐิตินันท์ ธัญญสิริ ผู้อำนวยการ สทป.กล่าวว่าค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์นี้ได้รับความสนใจจากเยานและมีผู้สมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยค่ายนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และจะจัดต่อไปอีก พร้อมทั้งให้ข้อมูลระหว่างกล่าวปิดงานว่าทีมวิจัยของสถาบันสามารถยิงจรวดขึ้นไปได้สูง 60 กิโลเมตร
"สำหรับการสร้างขีปนาวุธนั้นอาจถูกเข้าใจผิด เราไม่อยากให้คิดว่าเป็นการสร้างอาวุธไปฆ่าใคร โดยแนวความคิดในการสร้างอาวุธของเราเอง และไม่ต้องไปซื้อใครนั้น ถือเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ" พลโท ดร.ฐิตินันท์กล่าว