แม้การเรียนในห้องเรียนจะสำคัญที่สุด แต่การเรียนนอกห้องก็เป็นช่วยสร้างความบรรยากาศใหม่ๆ และกระตุ้นความตื่นตัวในการเรียนได้ เหมือนเยาวชนจากแดนใต้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้วิทยาศาสตร์ “สานใจไทยสู่ใจใต้” ที่ได้ความรู้และแง่คิดใหม่ๆ จากกิจกรรมดังกล่าว
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ร่วมเกาะติดการเรียนรู้นอกห้องเรียนของน้องๆ จาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กว่า 240 คน ในค่าย “เปิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สานใจไทย สู่ใจใต้” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 เม.ย.56 ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คลอลงห้า ปทุมธานี โดยความร่วมมือขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กับบริษัท ทรู วิชั่นส์จำกัด และจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 19 แล้ว
ภายในค่ายนี้น้องๆ ได้ร่วมกิจกรรมวิทยาศาสตร์ อาทิ การฟังบรรยายและเยี่ยมชมนิทรรศการอาคารประหยัดพลังงาน กิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง “สะพานลุ้นระทึก” ที่สอนเรื่องแรงอัดและแรงดึง, จรวดขวดน้ำที่สอนเรื่องแรงดัน และเรือมหาสมบัติที่สอนเรื่องความหนาแน่นและการลอยตัว เป็นต้น โดยน้องๆ จะได้เรียนรู้ ได้สังเกต ตั้งสมมติฐาน ประดิษฐ์ ทดลอง เพื่อหวังสร้างความรู้และเข้าใจ เพิ่มประสบการณ์ผ่านกระบวนการเรียนรู้ และสร้างจิตสำนึกด้านวิทยาศาสตร์อย่างมีเหตุผล
น.ส.สุชานาถ สโมสร จากโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ จ.สตูล บอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า จากกิจกรรมจรวดขวดน้ำได้เรียนรู้เรื่องแรงดันของลม น้ำทำให้เกิดแรงดัน การที่เรานำน้ำใส่ขวดแล้วอัดแรงลมเข้าไป ทำให้จรวดพุ่งออกมาข้างหน้าได้ และได้แง่คิดอีกว่า ขวดน้ำที่เราทิ้งกัน โดยไม่เห็นคุณค่านั้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ประดิษฐ์ของเล่นหรืออุปกรณ์ต่างๆ ได้อีกมากมาย สามารถตกแต่งให้สวยงามได้
“การมาค่ายวิทยาศาสตร์ครั้งนี้สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ต่างจาก ห้องเรียนที่ไม่ได้ออกไปทดลองอะไรมากมาย ที่โรงเรียนมีครูแค่คนเดียวแต่สอนนักเรียนหลายคน ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง แต่ที่นี่เราได้มาเรียนรู้ไปพร้อมกับเพื่อนใหม่ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนต่างที่ ต่างจังหวัดยิ่งทำให้สนุกเพิ่มมากขึ้นด้วย หนูชอบเรียนแบบปฏิบัติมากกว่า เพราะสามารถพิสูจน์ความคิดเราได้เลยว่าเป็นจริงหรือไม่จริงอย่างไร” น.ส.สุชานาถกล่าว
ในส่วนของกิจกรรมสะพานลุ้นระทึกที่สอนเรื่องแรงอัดและแรงดึง เยาวชนในค่ายได้ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ 30 แผ่น เชือกและเทปกาวใสมาประดิษฐ์สะพานที่รับน้ำหนักได้มากที่สุดและยาวที่สุด พร้อมสร้างเสาสะพานและสะพานต้องเคลื่อนที่ได้ด้วย ทั้งนี้มีแรงที่กระทำต่อสะพานเป็นแรงอัดที่ทำให้วัตถุหดสั้นลง และแรงดึงที่สามารถยืดวัตถุให้ยาวขึ้นได้
ตัวอย่างแรงกระทำต่อสะพาน เช่น ฐานตรงกลางสะพานได้รับแรงกดจากการรองรับน้ำหนักจนสะพานแอ่น หรือสะพานได้รับแรงดึงจากสายเคเบิลของสะพาน ซึ่งเราต้องคำนึงถึงทั้งสองแรงในการสร้างสะพาน เพื่อไม่ให้สะพานโก่ง แตกหักเสียหายได้ โดยอาจเพิ่มเทคนิคด้วยการเพิ่มความโค้งของสะพาน หรือสายเคเบิล เพื่อถ่ายเทและกระจายน้ำหนัก และในความเป็นจริงยังต้องคาดคะเนถึงกระแสลมที่อาจทำให้สะพานถล่มได้
ปัจจุบันมีการสร้างสะพานหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบฐานโค้ง แบบฐานตรง สะพานแขวน และสะพานแขวนเคเบิล-สเตย์ ซึ่งสะพานแต่ละแบบมีข้อแตกต่างกันตรงที่ ความยาวของสะพานระหว่างตอม่อ 2 จุดนั้น มีระยะไม่เท่ากัน สะพานสมัยใหม่ที่มีฐานตรง จะมีช่วงความยาวมากสุดได้ 60 เมตร ส่วนแบบฐานโค้ง มีช่วงความยาวได้ 240-300 เมตร และสะพานแขวน มีช่วงความยาวได้มากกว่าสะพานโค้งถึง 7 เท่า
เยาวชนในค่ายจะแบ่งกลุ่มกันทำกิจกรรม โดยแต่ละกลุ่มจะออกแบบสะพานจากอุปกรณ์ที่พี่ๆ เจ้าหน้าที่เตรียม ให้ออกแบบแตกต่างกันไป ซึ่ง น.ส.อัสนะ มายิ จากโรงเรียนร่มเกล้า จ.นราธิวาส บอกเล่าว่า เธอทำสะพานแบบฐานตรง โดยเอากระดาษหนังสือพิมพ์มาขย้ำเป็นก้อนเพื่อสร้างฐาน แล้วพันกระดาษเป็นสี่เหลี่ยมเป็นฐานเพื่อรองรับน้ำหนักใช้เทปกาวใสติดกันให้ มั่นคง ทดสอบด้วยดินสีขาวก้อนเล็กแบบที่ใช้ใส่ตู้ปลา ซึ่งสะพานรับน้ำหนักได้ประมาณ 17 ก้อน
“ก่อนทำสะพานหนูต้องวาดภาพวางแผน แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อน ได้คิดวิเคราะห์ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดี ต่างจากโรงเรียนที่สอนแค่ในตำรา ไม่มีการสอนแบบลงมือปฏิบัติเลยค่ะ” น.ส.อัสนะ
ตามต่อด้วยกิจกรรมเรือมหาสมบัติที่ให้น้องๆ ระดมความคิดประดิษฐ์เรือด้วยดินน้ำมัน และบรรทุกลูกแก้วได้มากที่สุดโดยไม่จมน้ำ โดยต้องอาศัยหลักความหนาแน่นและแรงลอยตัว โดยวัตถุใดยิ่งมีความหนาแน่นมาก ยิ่งหนักมาก และจะจมน้ำ น้องๆ จึงต้องออกแบบให้เรือมีความหนาแน่นใกล้เคียงกับน้ำบวกเพื่อให้อยู่ในภาวะ กึ่งจมกึ่งลอย ส่วนขนาดของเรือก็มีผลต่อระดับปริมาตรที่จมลงไปในน้ำ ยิ่งมีปริมาตรมาก ยิ่งต้องการขนาดเรือที่ใหญ่มาก เพื่อเพิ่มแรงลอยตัวให้วัตถุลอยน้ำได้ กิจกรรมนี้จะวัดว่ากลุ่มไหนจะสามารถประดิษฐ์เรือที่รองรับปริมาตรได้มากที่สุดโดยที่เรือไม่จม ด้วยการใส่ลูกแก้วเพื่อเพิ่มปริมาตรไปเรื่อยๆ
น.ส.นูรุสมีนี อาแว จากโรงเรียนท่าข้ามวิทยาคาร จ.ปัตตานี บอกว่าในตอนแรกได้วางแผนไว้ว่า จะออกแบบเรือที่มีลักษณะแบน และบางที่สุด แต่ต้องไม่ทะลุ แต่สุดท้ายก็ออกแบบเป็นทรงกลม เพราะนึกถึงกะลาที่ลอยน้ำได้ ผลคือรองรับลูกแก้วได้ 36 ลูก แต่กลุ่มที่ชนะสามารถเพิ่มลูกแก้วไปได้ถึง 65 ลูก โดยกลุ่มที่ชนะออกแบบเรือเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีผนังบางและใหญ่
“กิจกรรมในค่ายนี้ทำให้ได้เรียนรู้อย่างสนุก อุปกรณ์ครบ ต่างจากที่โรงเรียนที่ไม่มีห้องปฏิบัติการทดลอง เราเรียนด้วยตำราอย่างเดียวก็มองไม่เห็นภาพ ทำให้เข้าใจยากค่ะ” น.ส.นูรุสมีนีเล่าประสบการณ์
ด้านกิจกรรมแสงและเงาน้องๆ ได้เรียนรู้เรื่องแหล่งกำเนิดแสง ชนิดของวัตถุ และการใช้นาฬิกาแดด จากข้อมูลพื้นฐานว่าเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้า เงาของวัตถุจะเคลื่อนไปพร้อมกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ จึงมีการทดลองทำนาฬิกาแดด โดยมี น.ส.สุชานาถ สโมสร จากโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ จ.สงขลา เล่าถึงกิจกรรมว่า ต้องมีไม้ลูกโป่งที่ตัดความยาวเท่ากับตำแหน่งมุมตามตารางที่กำหนดให้
“สมมติว่าเราอยู่ที่สงขลา ตารางกำหนดให้ไม้ลูกโป่งยาว 35 ซม. โดยประมาณให้เราบวกเพิ่มไปอีก 5 ซม.แล้วค่อยตัด เสร็จแล้วนำแผ่นประดาษกลมๆ ที่มีตัวเลขบอกเวลามาสวมใส่ไม้ลูกโป่ง แล้วหันหน้ายื่นไม้ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 35 องศา ให้ตัวเลข 12 อยู่ใต้ไม้ลูกโป่ง จากนั้นจะเกิดเงาทาบบนตัวเลขซึ่งก็คือเวลาในขณะนั้น กิจกรรมในค่ายสอนให้เราเรียนรู้อย่างสนุกสนาน การได้ลงมือปฎิบัติทำให้เข้าใจมากกว่าการเรียนแบบปกติที่หนูเคยเรียน อยากให้โรงเรียนหนูเน้นการสอนแบบนี้บ้างค่ะ” น.ส.สุชานาถ
ด้าน ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวถึงการจัดกิจกรรมดังกล่าวว่า เพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ สามารถนำไปแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบเป็นกระบวนการ เช่น การสื่อสารอย่างเป็นระบบจะช่วยให้เข้าใจกันมากขึ้น และปัญหาต่างๆ ก็ลดลง ส่วนเสียงตอบรับจากการจัดกิจกรรมหลายๆ รุ่นที่ผ่านมาค่อนข้างดีมาก และมีความต้องการให้เปิดรับในจำนวนมากขึ้น แต่ด้วยขีดจำกัดด้านสถานที่และงบประมาณ ในอนาคตอาจจะจัดจำนวนรุ่นให้มากขึ้นหากมีงบประมาณเพิ่มขึ้น
ส่วน อ.มยุรี มะสมาน จากโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ จ.สงขลา หนึ่งในอาจารย์พี่เลี้ยงของนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรมนี้ช่วยเปิดโอกาสการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างกรุงเทพฯ และ5 จังหวัดชายแดนใต้ได้มาก เพราะทางใต้จะค่อนข้างเคร่งครัด การได้มาเปิดการเรียนรู้ใหม่ทำให้เด็กๆ สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
"เด็กที่มาทำกิจกรรมก็มีอายุตั้งแต่ 15-18 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้และย่างเข้าสู่การวางแผนของชีวิต ต้องตัดสินใจหลายอย่างและวิทยาศาสตร์มีส่วนเข้ามาช่วยให้เด็กได้คิดอย่าง เป็นระบบ เช่น เส้นทางการเรียนต่อมหาวิทยาลัย หรืออย่าเชื่อในเรื่องของศาสนา ทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์มากเกินไป" อ.มยุรีกล่าว