งานวิจัยใหม่สนับสนุนแนวคิดว่า ดาวอังคารเมื่อหลายพันล้านปีก่อนอาจเป็นสถานที่ก่อกำเนิดทางชีววิทยาที่เหมาะสมมากกว่าโลก โดยหลักฐานอ้างถึงโมเลกุลแรกสุดที่จำเป็นต่อการสร้างสิ่งมีชีวิตนั้นประกอบขึ้นมาได้อย่างไร
รายละเอียดของทฤษฎีดังกล่าวนำเสนอโดย ศ.สตีเฟน เบนเนอร์ (Prof.Steven Benner) จากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวสต์ไฮเมอร์ในเกนส์วิลล์ (Westheimer Institute of Science and Technology in Gainesville) สหรัฐฯ ภายในการประชุมวิชการโกลด์ชมิดท์ (Goldschmidt Meeting) ที่เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี อ้างตามรายงานของบีบีซีนิวส์
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ต่างสงสัยกันมานานแล้วว่า อะตอมแรกสุดรวมกันกลายเป็นองค์ประกอบโมเลกุลของสิ่งมีชีวิตอย่าง อาร์เอ็นเอ (RNA) ดีเอ็นเอ (DNA) และโปรตีนได้อย่างไร โดยโมเลกุลเหล่านั้นรวมกันกลายเป็นชิ้นส่วนพันธุกรรมที่มีความซับซ้อน มากกว่าสารเคมีอินทรีย์เหลวข้นพรีไบโอติก (pre-biotic) ในยุคกำเนิดโลก ที่เชื่อว่ามีอยู่บนโลกเมื่อกว่า 3 พันล้านปีก่อน และเชื่อว่าอาร์เอ็นเอน่าจะกำเนิดขึ้นมาก่อนโมเลกุลอื่นๆ
อ้างตามคำอธิบายของ ศ.เบนเนอร์ เมื่อเติมพลังงานความร้อนหรือแสงให้แก่โมเลกุลอินทรีย์ตั้งต้นในของเหลวข้นหรือ “ซุปก่อกำเนิดชีวิต” ไม่ปรากฏว่ากลายเป็นอาร์เอ็นเอ แต่ได้ทาร์หรือน้ำมันดินแทน ซึ่งอาร์เอ็นเอจำเป็นต้องมีแกนแบบเพื่อก่อตัวเป็นรูปร่าง ซึ่งต้องใช้อะตอมต้นแบบที่บริเวณผิวผลึกแร่ ซึ่งแร่ที่มีผลต่อการร่างแบบอาร์เอ็นเอมากที่สุดนั้น มีอยู่ในมหาสมุทรของโลกในยุคต้นๆ แต่มีอยู่บนดาวอังคารเหลือเฟือกว่าบนโลก และนี่น่าจะบ่งบอกว่าสิ่งมีชีวิตเริ่มต้นจากดาวอังคารก่อนจะย้ายมายังโลกโดยอุกกาบาต
แนวคิดเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตก่อกำเนิดมาจากดาวอังคารและถูกส่งยังโลกของเรานั้นเป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้ว ทว่าแนวคิดของ ศ.เบนเนอร์ ได้เพิ่มน้ำหนักให้แก่ข้อสนับสนุนว่าดาวอังคารเป็นจุดเริ่มของชีวมณฑล (biosphere) ระหว่างดวงดาว โดยภายในการประชุมที่ฟลอเรนซ์ เขาได้นำเสนอผลการทดลองที่บ่งชี้ว่า แร่ที่มีธาตุโบรอน (boron) และโมลิบดีนัม (molybdenum) เป็นกุญแจสำคัญในการประกอบอะตอมให้กลายเป็นโมเลกุลในรูปแบบมีชีวิต
เขายังเน้นว่า แร่โบรอนนั้นช่วยให้วงแหวนคาร์โบไฮเดรตก่อตัวขึ้นจากสารเคมีพรีไบโอติก แล้วโมลิบดีนัมก็ยึดเอาโมเลกลุตรงกลางนั้นแล้วจัดเรียงให้อยู่ในรูปของไรโบส (ribose) แล้วกลายเป็นอาร์เอ็นเอในที่สุด และตรงจุดนี้ได้เพิ่มปัญหาใหม่ว่า ชีวิตเริ่มต้นบนโลกได้อย่างไร เนื่องจากเชื่อว่าโลกในยุคแรกๆ นั้นไม่เอื้อต่อการก่อตัวของแร่โบรอนและแร่โมลิบดีนัมที่จำเป็นต่อการก่อเกิดสิ่งมีชีวิต โดยในยุคเริ่มต้นของโลกนั้นมีแร่โบรอนไม่มีเพียงพอที่จะสร้างอาร์เอ็นเอจาก “ของเหลวกำเนิดชีวิต” และแร่โมลิบดีนัมก็ไม่อยู่ในรูปแบบทางเคมีที่เหมาะสม
“มันจะเกิดขึ้นได้เมื่อโมลิดีนัมมีการรวมกับออกซิเจน (ออกซิไดส์) อย่างมากเท่านั้น จึงจะมีอิทธิพลพอต่อการก่อตัวของชีวิตในยุคต้นๆ ซึ่งรูปแบบของโมลิบดีนัมแบบนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้บนโลกในช่วงเวลาที่เพิ่งก่อกำเนิด เพราะเมื่อ 3 พันล้านปีก่อนนั้น พื้นผิวของโลกยังออกซิเจนเพียงเล็กน้อย แต่ที่ดาวอังคารมีอยู่มาก นี่เป็นอีกหนึ่งหลักฐานว่าสิ่งมีชีวิตมายังโลกโดยอุกกาบาตจากดาวอังคาร มากกว่าจะเริ่มต้นจากบนโลกเอง” ศ.เบนเนอร์ให้เหตุผล