สกายนิวส์ - เหล่านักวิจัยระบุคลื่นกระแทกของอุกกาบาตที่ระเบิดเหนือท้องฟ้ารัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โคจรรอบโลกถึง 2 รอบ หลังสถานีสังเกตการณ์ที่มีอยู่หลายสิบแห่งทั่วโลกสามารถตรวจจับแรงสั่นสะเทือนได้
มีประชาชนมากกว่า 1,000 คน ได้รับบาดเจ็บจากเหตุอุกกาบาตขนาด 10,000 ตัน เกิดระเบิดเผาไหม้เหนือเมืองเชเลียบินสค์ เขตสหพันธ์ไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แรงสั่นสะเทือนของอุกกาบาตเหล่านี้สามารถตรวจพบได้โดยสถานีตรวจจับคลื่นใต้เสียง 20 แห่งทั่วโลก ที่ตรวจวัดคลื่นอินฟราซาวด์ ด้วยระบบเซ็นเซอร์ไอเอ็มเอส ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายตรวจวัดผลกระทบจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ ภายใต้การควบคุมดูแลขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร "จีโอฟิสิกคัล รีเสิร์ช เลตเทอร์" เหล่านักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นครั้งแรกที่สถานีเหล่านั้นตรวจพบการเดินทางมาถึงของคลื่นกระแทกที่โคจรรอบโลกถึง 2 รอบ "มันก่อการกลับมาของคลื่นอินฟราซาวด์หลังจากโคจรรอบโลก เป็นระยะทางราว 85,000 กิโลเมตร เราตรวจพบคลื่นกระแทกโดยระบบเซ็นเซอร์ไอเอ็มเอสตามสถานีเฝ้าตรวจคลื่นใต้เสียง 20 แห่งทั่วโลก"
นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่า การระเบิดของอุกกาบาตดังกล่าว มีความรุนแรงเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นที น้ำหนักรวมกัน 460 กิโลตัน ขณะที่ระเบิดนิวเคลียร์ที่ถูกหย่อนถล่มเมืองฮิโรชิมา ของญี่ปุ่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มีความรุนแรงเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นทีน้ำหนัก 16 กิโลตันเท่านั้น
เหตุการณ์นี้นับเป็นการระเบิดครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่ระบบตรวจจับไอเอ็มเอส เคยตรวจวัดได้ ทั้งยังนับเป็นการระเบิดของลูกอุกกาบาตครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่การระเบิดของอุกกาบาต "ทังกัสก้า" เหนือท้องฟ้าในเขตไซบีเรีย เมื่อปี 1908 เป็นต้นมา
โดยเมื่อปี 1908 อุกกาบาตเกิดระเบิดเหนือพื้นที่ห่างไกลในเขตไซบีเรียของรัสเซีย แต่อานุภาพของมันเป็นผลให้กระจกบ้านเรือนที่ห่างจากจุดตกของอุกกาบาตในรัศมี 200 กิโลเมตรแตกกระจัดกระจาย ขณะที่ผู้คนที่อยู่ห่างไกลออกไปในรัศมี 2,000 ตารางกิโลเมตรก็สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ส่วนอุกกาบาต ซึ่งระเบิดเหนือท้องฟ้าเมืองเชเลียบินสค์ ของรัสเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีขนาดประมาณ 17 เมตร และมีน้ำหนักราว 10,000 ตัน โดยแรงระเบิดของมันทำให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่ได้รับอันตรายจากเศษกระจกที่แตกกระจาย เนื่องจากแรงระเบิดดังกล่าว