ในขณะที่นโยบายจำนำข้าวส่งผลร้ายต่อการขายข้าวไทย แต่ในมุมของ “ศุภชัย หล่อโลหการ” ไม่ได้สะทกสะท้านต่อปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่เพียงเพราะเขาไม่ใช่ชาวนา แต่เขาคือเจ้าพ่อนวัตกรรมที่มองว่า ศักยภาพของไทยอยู่ที่ “ขายข้าวเป็นกรัม ไม่ขายเป็นเกวียน”
“ชาวนาไม่มีวันรวย เพราะกระบวนการผลิตมีแต่ความเสี่ยง ทั้งศัตรูพืช สภาพอากาศ และยังเป็นอาชีพที่ไม่มีความแตกต่าง เป็นการใช้แรงงาน ไม่เป็นนวัตกรรม ทุกคนสามารถทำนาได้และเป็นอาชีพที่ทำได้ตั้งแต่ลืมตา” คือ ความเห็นของ “ศุภชัย หล่อโลหการ” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) พร้อมทั้งเทียบเคียงกับธุรกิจขายไก่ระดับประเทศที่ทำทุกอย่างตั้งแต่ขายพันธุ์ไก่ อาหารไก่ ยารักษาไก่ แปรรูปอาหารไก่ ยกเว้นการเลี้ยงไก่ที่มีความเสี่ยงสูง
ศุภชัยเผยมุมมองของเขาแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์และสื่อมวลชนระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษว่า สิ่งที่ประเทศไทยควรจะทำคืออุตสาหกรรมแปรรูปข้าว ส่วนการปลูกข้าวนั้นควรให้เป็นอาชีพของประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนามและกัมพูชา และไทยควรมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการเพาะปลูก เช่น การเพาะปลูกเชิงอินทรีย์ หรือการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตตามที่ไทยต้องการเพื่อนำมาแปรรูป
พร้อมกันนี้ผู้อำนวยการ สนช.ยังได้ยกตัวอย่างการสร้างนวัตกรรมข้าว ตั้งแต่ระบบการผลิตข้าว ที่มีวิธีหลากหลายในการจำกัดมอด อาทิ ใช้คลื่นวิทยุ รมไนโตรเจนแทนสารเคมีเพื่อไม่ให้มีสารตกค้าง การแปรรูปเป็นอาหาร เช่น น้ำมันรำข้าวออริซานอลสูง น้ำสลัดไร้ไขมัน เครื่องดื่มให้พลังงานจากข้าว เป็นต้น การแปรรูปเป็นยาและอาหารเสริม อย่างนมข้าวอะมิโน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากข้าวหอมนิล รวมถึงการผลิตเป็นเครื่องสำอางอย่างแป้งพัฟจากแป้งข้าวเจ้า แป้งฝุ่นจากแป้งข้าวเจ้า หรือแม้กระทั่งครีมเคลือบเงาสำหรับอุปกรณ์ในรถยนต์
การสร้างนวัตกรรมข้าวโดยเฉพาะการแปรรูปเป็นเครื่องสำอางนั้นสามารถส้รางมุลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล อย่างเช่นปลายข้าวที่ขายกันที่กิโลกรัมละประมาณ 15 บาท เมื่อแปรรูปเป็นแป้งข้าวเจ้าจะได้ราคาเพิ่มเป็น 2 เท่า แต่หากผลิตเป็นแป้งเด็กทดแทนทัลคัมที่เป็นแร่ผลิตแป้งที่อาจก่อมะเร็ง จะเพิ่มมูลค่าเป็นกิโลกรัมละ 400 บาท และมูลค่ายิ่งสูงขึ้นเมื่อแปรรูปเป็นแป้งพัฟจากแป้งข้าวเจ้าซึ่งมีราคาถึงกิโลกรัมละ 300,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยถึงการสนับสนุนนวัตกรรมที่แปรรูปข้าวไปเป็นเซรั่มบำรุงผิว ซึ่งเกิดจากการหมักเชื้อราทำให้ได้สารสำคัญที่มีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื่นแก่ผลิตและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ซึ่งผู้ประกอบการไทยได้ร่วมมือกับผู้รับจ้างผลิตในญี่ปุ่นเพื่อผลิตเครื่องสำอางดังกล่าว และจะเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น พร้อมตั้งเป้าเป็นคู่แข่งเครื่องสำอางดังของญี่ปุ่นที่ใช้ยีสต์ในการหมัก โดยนวัตกรรมดังกล่าวจะเพิ่มมูลค่าของข้าวกล้องอินทรีย์ไทยให้มีมูลค่าสูงถึงกิโลกรัมละ 400,000 บาท
ทว่า ศุภชัยยอมรับว่าไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายจะประสบความสำเร็จในการแปรรูปข้าวเป็นนวัตกรรม จึงเป็นเหตุผลให้เขาพยายามสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมข้าวให้หลากหลาย เมื่อมีการสร้างนวัตกรรมมากขึ้น มีการเลียนแบบผลิตภัณฑ์ข้าวจากหลายผู้ผลิต หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นการกระจายตัวของนวัตกรรม ก็จะมีการดึงข้าวออกจากระบบที่ซื้อขายกันตามปกติ ทำให้ความต้องการข้าวมากขึ้นและราคาสูงขึ้นไปตามกลไกตลาด
“สนช.ไม่ได้สรุปผู้ประกอบการแค่รายเดียว แต่ในการสร้างนวัตกรรมสักอย่างนั้นต้องเริ่มจากบริษัทนำร่อง มีเขาประสบความสำเร็จแล้ว มีคนอยากเลียนแบบ อยากสร้างแป้งพัฟจากแป้งข้าวเจ้าขึ้นมาบ้าง หรือทำเครื่องดื่มให้พลังงานจากข้าวขึ้นมากหลากหลายเจ้า ลึกๆ แล้วเราดีใจ เพราะมีการกระจายตัวของนวัตกรรม ทำให้เกิดการแข่งขัน และมีความต้องการข้าวเพื่อไปแปรรูปมากขึ้น” ศุภชัยกล่าว
ทั้งนี้ สนช.ยังได้ริเริ่มจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมข้าวไทย” (Rice Innovation Center of Excellence: RICE) ซึ่งศุภชัยเผยว่าตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมข้าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มต้นจากการสร้างนวัตกรรมในประเทศไทยก่อน และเขายังระบุด้วยว่า ในภูมิภาคนี้ยังไม่มีใครที่สร้างนวัตกรรมข้าวเช่นเดียวกับไทย