xs
xsm
sm
md
lg

เชือด! ผู้ผลิต “ตราออริซานอล” ผสมยาลดอ้วนต้องห้ามในน้ำมันรำข้าว-จมูกข้าวแคปซูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระวัง! อย.ตรวจพบน้ำมันรำข้าว และจมูกข้าวชนิดแคปซูล “ตราออริซานอล” แอบใส่ยาลดความอ้วน เฟนฟลูรามีน ชี้เป็นยาเพิกถอนทะเบียนตั้งแต่ปี 2543 เพราะมีผลต่อภาวะความผิดปกติของลิ้นหัวใจ เผยสั่งงดผลิตและเร่งดำเนินคดีแล้ว
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากการส่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบรรจุแผงบริสเตอร์สีเงิน รวมบรรจุในกล่องกระดาษสีเขียว ฉลากระบุผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันรำข้าวและจมูกข้าวชนิดแคปซูล ออริซานอล เลขสารบบอาหารที่ 10-1-00653-3-0006 MFG 03/2012 EXP03/2014 น้ำหนักสุทธิ 44 กรัม (60 แคปซูล) ผลิตโดย บริษัท สยาม ไบโอเบสท์ จำกัด เลขที่ 304 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) ถนนลาดพร้าว แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร จัดจำหน่ายโดย บริษัท เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักส์ จำกัด เลขที่ 302 ถนนศรีวรา-ทาวน์อินทาวน์ แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310 มีการผสมยาลดความอ้วน เฟนฟลูรามีน (Fenfluramine) จึงจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามมาตรา 26(1) เป็นอาหารที่มีสิ่งน่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปน ฝ่าฝืนมาตรา 25(1) โทษตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ภญ.ศรีนวล กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทาง อย.อยู่ในระหว่างดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดพร้อมเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อคารมของผู้จำหน่าย โดยเฉพาะอ้างว่ารับประทานแล้วทำให้น้ำหนักลด เพราะอาหารไม่ใช่ยาจะลดความอ้วนไม่ได้ และมักพบการลักลอบใส่ยาลดความอ้วน ซึ่งมีผลข้างเคียงสูง หากไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์อาจทำให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะในกรณีนี้พบยาลดความอ้วน เฟนฟลูรามีน ซึ่งเป็นยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยา ตั้งแต่ปี 2543 เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่า ยาเฟนฟลูรามีน มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะความผิดปกติของลิ้นหัวใจ (Valvular heart Disease) อาจเกิดความเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

“หากต้องการลดความอ้วนควรเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ไม่รับประทานอาหารจุบจิบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเห็นการผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมาย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ” รองเลขาธิการ อย.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น