นายกฯ นำทีมบินไปยโสธร ติดตามความคืบหน้านโยบายเร่งด่วน เยี่ยมกลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือ ชมสินค้าโอทอป ดูศักยภาพกักเก็บน้ำห้วยลิงโจน ด้านเสื้อแดงแห่รับ ขณะเดียวกัน ปัดตอบสื่อปมไฟใต้
วันนี้่ (29 มิ.ย.) ที่ จ.ยโสธร เมื่อเวลา 10.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะ อาทิ นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาฯ และนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ว่าที่ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส.ส.ยโสธร ลงพื้นที่ กลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือ ต.บากเรือ อ.มหาชนะชัย เพื่อเยี่ยมชม สินค้า OTOP ดาวเด่นของจังหวัด “จากดินสู่ดาว” และชมกระบวนการผลิต และแปรรูป ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ภายในโรงสี โดยเจ้าหน้าที่ได้กล่าวรายงานว่า โรงสีจะมีการสีข้าวอินทรีย์ได้จำนวน 400 ตันต่อปี ซึ่งจะขาดทุนประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นเราจึงต้องนำมาแปรรูปให้ได้ผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ เพิ่ม เช่น น้ำมันรำข้าว แคปซูลน้ำมันรำข้าว กากปุ๋ยอินทรีย์ โดยจะให้มีมูลค่าเพิ่มประมาณ 13.6 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้โรงสีสามารถยืนอยู่ได้ ทั้งนี้การปลูกข้าวที่ใช้สารเคมีจะมีต้นทุนที่สูงกว่าการปลูกข้าวแบบอินทรีย์
จากนั้นนายกฯได้ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ และจากที่ตนได้เดินทางไปต่างประเทศ เช่น ประเทศเบลเยียม ได้แสดงเจตนารมณ์มาว่าพร้อมที่จะรับซื้อข้าวไทยเพราะข้าวไทยเป็นที่ต้องการมากของตลาด ทั้งนี้ในอนาคตเราต้องเริ่มมามองว่าพื้นที่การปลูกข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์จะมีการยกระดับอย่างไร โดยปัญหาภัยแล้งผู้ว่าฯยโสธรจะนำมารายงานในที่ประชุม เพืี่อที่จะชวนกันหาทางออกถึงความพร้อมของพื้นที่ในการเพาะปลูก จากนั้นรัฐบาลจะดูว่าหากพื้นที่มีความพร้อมแล้ว จะมีการเติมเต็มให้อย่างไร เช่น เรื่องน้ำ เรื่องชลประทาน ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องภัยแล้งได้ เกษตรกรก็จะสามารถเพาะปลูกได้ดีขึ้น สำหรับการส่งออกทางคมนาคม เราต้องมาดูว่าจะส่งออกอย่างไรให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งเรื่องนี้เราต้องทำการบ้านเป็นรายพื้นที่
ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวกับพี่น้องประชาชนที่มาให้การต้อนรับว่า การที่เรามาลงพื้นที่ก็เพราะต้องการที่กำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ เพื่อส่งเสริมทำให้รายได้ของจังหวัดในภาพรวมดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรให้มีรายได้ดีขึ้น และพื้นที่ จ.ยโสธร ปลูกข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์อย่างมีคุณภาพ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ แต่ปัญหาที่พบขณะนี้คือไม่เพียงพอต่อการส่งออก จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งทำให้รัฐบาลลงพื้นที่นี้ จะไดพูดคุยว่ารัฐบาลจะทำงานร่วมกับภาครัฐประสานงานกับชุมชนและกลุ่มเกษตกรอย่างไรให้ส่งเสริมพื้นที่นี้เพาะปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ได้มากขึ้น ซึ่งทางภาครัฐจะร่วมกันบูรณาการนำงานวิจัยอื่นๆ เพื่อแปรรูปผลผลิตที่เกี่ยวกับข้าวมาให้ประชาชนสร้างมูลค่าเพิ่มสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนท้องถิ่นให้มากที่สุด
นายกฯ กล่าวต่อว่า พื้นที่นี้รัฐบาลทราบดีว่าประสบกับปัญหาภัยแล้ง ดังนั้นการทำนา การเกษตรต้องสู้กับการบริหารน้ำอย่างยั่งยืน ดังนั้นในการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดและการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาจังหวัดเพื่อให้วสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ จะหารือกันว่าพื้นทีไหนที่ประชาชนต้องการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์มากขึ้น โดยรัฐบาลจะประสานงานทำอย่างไรบูรณาการเชื่อมลุ่มน้ำมาใช้ในพื้นที่ที่ทำการเกษตร เพราะการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไม่ได้แก้เฉพาะปัญหาอุทกภัย แต่จะช่วยในภาคการเกษตรด้วย พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ต้นน้ำรัฐบาลต้องเสริมการ สร้างมูลค่าเพิ่มที่เกี่ยวกับข้าว เราจะนำข้าวหักปลายข้าว รำข้าวก่อให้เกิดรายได้ชุมชน เชื่อมโยงโอทอป จากนั้นจะทำอย่างไรให้มีการส่งสินค้าจากพื้นที่นี้ไปยังแหลมฉบัง หรือท่าเรือต่างๆ เพื่อส่งออกโดยลดต้นทุนมากที่สุด นั่นคือโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้าน เพื่อให้ประชาชนมีการขนส่งอย่างประหยัดรวดเร็ว และเราจะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนรวมถึงภาคเอกชนด้วย พร้อมกันนี้รัฐบาลจะส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้นายกฯและคณะจะเดินทางไปจังหวัดมุกดาหาร เพื่อตรวจเยี่ยมด่านศุลกากรมุกดาหาร และพักค้างคืนที่ จังหวัดมุกดาหาร โดยวันที่สองกำหนดการลงพื้นที่นายกฯและคณะจะเริ่มจากการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร จากนั้นจะเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด และการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดยโสธร ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ก่อนการเดินทาง นายกรัฐมนตรีไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด ถึงแม้จะมีการถามถึงเหตุระเบิดที่ จ.ยะลา จนมีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 8 ศพ ว่าจะมีความเกี่ยวโยงกับกระแสข่าวการเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของนายกรัฐมนตรีหรือไม่