ปลายปีนี้ “ไอซอน” ดาวหางแห่งศตวรรษจะผ่านมาเยือน และคาดว่าคนบนโลกจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ โดยคาดว่าจะสุกสว่างราวกับดวงจันทร์เลยทีเดียว เพื่อต้อนรับการมาเยือนของดาวหางเรามีเทคนิคจำลองดาวหางมาฝาก
เนื่องจากดาวหางจัดเป็นน้ำแข็งโสโครกในอวกาศที่มีส่วนประกอบเป็นเศษหิน เศษฝุ่น น้ำ สารอินทรีย์และก๊าซแอมโมเนีย ดังนั้นอุปกรณ์สำหรับจำลองดาวหางจึงประกอบด้วยเศษทราย เศษหิน แอมโมเนีย น้ำแข็งแห้ง น้ำ และซีอิ๊วเพื่อแทนสารประกอบอินทรีย์ ถังพลาสติกพร้อมถึงดำ ถุงมือหนาและแว่นตาเพื่อป้องกันอันตรายจากการทดลอง
วิธีทำ
- ผสมเศษหิน ทราย น้ำ แอมโมเนีย และซีอิ๊ว จากนั้นคนให้เข้ากัน
- ผสมน้ำแข็งแห้งลงไป แล้วบีบอัดให้ส่วนผสมเป็นก้อนเดียวกัน
- นำก้อนดาวหางจำลองออกจากถุงดำ (กรณีดาวหางไม่จับตัวเป็นก้อน ให้เติมน้ำเพิ่มเล็กน้อย)
ได้ก้อนดาวหางจำลอง ที่มีไอพวยพุ่งแทนลักษณะของหางดาวหาง ซึ่งเกิดลมสุริยะเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้ดาวหางที่ปกติเป็นเพียงก้อนน้ำแข็งโสโครกโคจรในอวกาศปรากฏหางเป็นทางยาว
คำเตือน!
- ระวัง! ละอองน้ำแข็งแห้งและไอแอมโมเนียเข้าตา ดังนั้น สวมแว่นตาป้องกันไว้ตลอดเวลา
- สวมถุงมือหนาระหว่างทดลอง เพื่อป้องกันอันตรายจากน้ำแข็งแห้งที่มีอุณหภูมิติดลบ และทำให้ผิวหนังไหม้ได้
สำหรับใครที่สนใจเทคนิคการจำลองดาวหางนี้ยังติดตามได้ในบูธสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งจัดแสดงในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 6-21 ส.ค.56 ณ ศูนย์นิทรรศการและการกระชุมไบเทค บางนา