xs
xsm
sm
md
lg

"รศ.ดร.บรรจบ ศรีภา"ผู้บุกเบิกวิจัยกลไกโรคพยาธิใบไม้ตับเชิงลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.บรรจบ ศรีภา
"รศ.ดร.บรรจบ ศรีภา" นักวิทย์ดีเด่นปี 56 ค้นพบกลไกทางอิมมูโนพยาธิวิทยาทำให้เกิดการอักเสบรอบท่อน้ำดีที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็งท่อน้ำดี พร้อมจัดตั้ง “ละว้าโมเดล” โครงการต้นแบบควบคุมและป้องกันพยาธิใบไม้ตับแบบบูรณาการในพื้นที่ระบาด หลังพบชาวบ้านลุ่มน้ำชีบางพื้นที่ติดพยาธิมากถึง 60%

การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี จากข้อมูลการศึกษา พบว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีในตับสูงถึงปีละประมาณ 28,000 ราย ซึ่งพบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 45 - 55 ปี

รศ.ดร.บรรจบ ศรีภา หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการวิจัยและการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพิ่งได้รับรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" ประจำปี 2556 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยกลไกการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับเชิงลึก

เขาเปิดเผยว่า โรคพยาธิใบไม้ตับเกิดจากการไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนในพื้นที่ ที่ยังคงนิยมรับประทานอาหารประเภทปลาน้ำจืดที่มีตัวอ่อนพยาธิในระยะติดต่อแบบดิบๆ หรือปรุงไม่สุก เช่น ก้อยปลา ปลาส้ม ปลาดิบ เป็นต้น โดยประเทศไทย ลาวและเวียดนามตอนใต้ เป็นแหล่งระบาดของพยาธิใบไม้ตับชนิด โอพิสธอร์ชิส วิเวอร์รินี (Opisthorchis viverrini)

พยาธิดังกล่าวมีรูปร่างแบนคล้ายใบไม้ ส่วนหัวและท้ายเรียวมน ความยาวลำตัว 7-12 มม. และกว้าง 2-3 มม. จากรายงานการสำรวจล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัดมีอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับเฉลี่ย 16.6%

อย่างไรก็ตามอัตราการติดพยาธิก็ขึ้นกับแหล่งน้ำ เช่น จ.ขอนแก่นบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำชีที่มีนิเวศวิทยาเหมาะกับวงจรชีวิตของพยาธิใบไม้ตับ พบว่ามีอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับสูงกว่า 60% รวมถึงความเข้าใจผิดของประชาชนในเรื่องการกินยาถ่ายพยาธิ และความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการดื่มเหล้าขาวแกล้มปลาดิบสามารถฆ่าพยาธิได้ แต่ผลการวิจัยกลับพบว่าผู้ที่กินก้อยปลาแกล้มเหล้าขาวติดพยาธิมากกว่าผู้ที่กินก้อยปลาอย่างเดียวเนื่องจากเหล้าขาวจะทำให้พยาธิชนิดนี้มีการแตกตัวและเดินทางเข้าไปในท่อน้ำดีเร็วขึ้น

“ชาวอีสานส่วนใหญ่เป็นมะเร็งท่อน้ำดีที่เกิดร่วมกับการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ จากการศึกษาพบว่าชาวบ้านในพื้นที่มองข้ามอันตรายที่มาจากพยาธิ สาเหตุมาจากการกินปลาดิบอย่างปลาขาวนา ซึ่งเป็นปลาพื้นบ้านที่มีพยาธิใบไม้ตับระยะติดต่อ ที่เรียกว่า "เมตาเซอร์คาเรีย" (metacercaria) อยู่ในเนื้อปลา ในแหล่งน้ำบางแห่งมีปลาขาวนาติดพยาธิใบไม้ตับกว่า 70% หากเรากินปลาดิบเหล่านี้เข้าไปจะติดพยาธิทันที" รศ.ดร.บรรจบระบุ

พร้อมทั้งเผยถึงความเชื่อผิดๆ ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองกินยาขับถ่ายพยาธิไปแล้วพยาธิจะตายและหมดไป จากนั้นจึงกินปลาดิบต่อ ซึ่งความคิดนี้ถือว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะการกินยาถ่ายพยาธิบ่อยๆ จะมีผลไปกระตุ้นให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดีเร็วขึ้น เนื่องจากหลังกินยาถ่ายพยาธิแล้วชาวบ้านยังกลับไปกินปลาสุกๆ ดิบๆ อีกวนเวียนอยู่เช่นนี้ ทำให้เกิดการอักเสบซ้ำซ้อน อันเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีนั่นเอง

รศ.ดร.บรรจบ ได้ทำการศึกษาและค้นพบกลไกทางอิมมูโนพยาธิวิทยา (immunopathology) การอักเสบรอบท่อน้ำดีจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ โดยพบว่าสารคัดหลั่งจากตัวพยาธิสามารถแทรกซึมเข้าไปในเซลล์เยื่อบุท่อน้ำดี แล้วกระตุ้นให้เกิดการหลั่ง "สารซัยโตไคน์" การอักเสบหลายชนิดโดยเฉพาะอินเทอร์ลูกิน 6 (Interleukin 6) นำไปสู่การอักเสบและการสร้างสารอนุมูลอิสระไปทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ของเซลล์เยื่อบุท่อน้ำดี ทำให้ยีนที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติ

ขณะเดียวกันจากการศึกษายังพบว่าสารคัดหลั่งออกมาจากตัวพยาธิ ยังสามารถกระตุ้นทำให้เซลล์เยื่อบุท่อน้ำดีแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น หากเซลล์เยื่อบุท่อน้ำดีที่มียีนถูกทำลายเพิ่มจำนวนมากขึ้นท้ายสุดก็จะนำไปสู่การเกิดมะเร็งท่อน้ำดี และหากมีการติดเชื้อซ้ำบ่อยๆ ยิ่งทำให้มีการอักเสบและทำลายสารพันธุกรรมมากขึ้น ยิ่งจะนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้เร็วขึ้น

จากการลงพื้นที่ชุมชนมากว่า 10 ปี ในพื้นที่ 5 อำเภอ ของ จ.ขอนแก่น ได้แก่ อ.ชนบท อ.มัญจาคีรี อ.บ้านไผ่ อ.บ้านแฮด และ อ.พระยืน พบว่าชาวบ้านอีสานยังมีอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับที่สูง ทำให้รองศาสตราจารย์ ดร.บรรจบ ศรีภา และคณะวิจัย เกิดแนวคิดจัดตั้งโครงการต้นแบบ “ละว้าโมเดล” ขึ้น เพื่อศึกษาหาแนวทางในการควบคุมและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับแบบบูรณาการวิถีนิเวศสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และแหล่งทุนนานาชาติ

โครงการดังกล่าวศึกษาเชื่อมโยงแบบครบวงจรทั้งวงจรพยาธิ พาหะ ระบบนิเวศ และ คน แบบชุมชนมีส่วนร่วม ในหมู่บ้านรอบแก่งละว้าที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับสูง เพื่อให้ชุมชนดังกล่าวตระหนักถึงภัยร้ายจากพยาธิใบไม้ตับ ผลของโครงการกว่า 5 ปี ทำให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจโรคนี้มากขึ้น มีอัตราการติดพยาธิน้อยลง

"ที่สำคัญอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในปลาขาวนาจากแก่งละว้าลดลงจากสูงสุด 70% เหลือเพียงน้อยกว่า 1% ในปัจจุบัน “ละว้าโมเดล” เป็นโครงการที่เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง อสม. ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือมาศึกษาดูงานด้านการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับสม่ำเสมอ" รศ.ดร.บรรจบกล่าว

นอกจากนี้ รศ.ดร.บรรจบ และคณะวิจัยยังได้ประดิษฐ์ “เครื่องเตรียมบล๊อกเนื้อเยื่อชนิดหลายตัวอย่าง" (Tissue arrayer) ขึ้น เพื่อใช้ในการเตรียมเนื้อเยื่อทางพยาธิวิทยา ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มีราคาถูก ใช้งานง่าย โดยสามารถศึกษาการแสดงออกของยีนหรือโปรตีนในเนื้อเยื่อมะเร็งท่อน้ำดีหรือเนื้อเยื่ออื่นๆได้คราวละมากๆ สูงสุดถึง 306 ตัวอย่างในครั้งเดียว ทำให้ร่นระยะเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสารเคมีในการศึกษาพยาธิวิทยาในเนื้อเยื่อมะเร็ง

คณะวิจัยยังได้พัฒนาเซลล์เพาะเลี้ยงมะเร็งท่อน้ำดีจากผู้ป่วยในภาคอีสาน และพัฒนา "โมโนโคลนอลแอนติบอดี" ต่อโปรตีนชนิดต่างๆ ของพยาธิใบไม้ตับเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคนิคการวินิจฉัยอย่างง่ายและแม่นยำในระดับชุมชนด้วย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.บรรจบ อยากเห็นประชาชนชาวอีสานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ผมได้ศึกษาวิจัยด้านนี้เรื่องเดียวมานานอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ การจะทำงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จนั้น คนที่ทำงานวิจัยต้องทำด้วยใจ ต้องโฟกัสเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เราถนัดและหากจะมีประโยชน์ต่อชุมชนต่อสังคมได้ก็จะถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุด ผมเป็นคนอีสานอยากเห็นคนในพื้นที่ตระหนักถึงความรุนแรง และพิษภัยของพยาธิใบไม้ตับที่จะนำไปสู่โรคร้ายอย่างมะเร็งท่อน้ำดี ที่ยังคุกคามสุขภาพของคนอีสาน ผมและทีมงานจึงมุ่งมั่นทำวิจัยเรื่องนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนมากที่สุด”

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.บรรจบ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันทีมวิจัยของตนยังได้ศึกษาวิจัยหาแนวทางการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งระยะแรกโดยเฉพาะการทำงานวิจัยในการตรวจสารบ่งชี้ชีวภาพ (Biomarker) เพื่อคัดกรองผู้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งในพื้นที่การระบาดของพยาธิดังกล่าว พร้อมกับขยายแนวทาง “ละว้าโมเดล” ในการควบคุมป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับแบบบูรณาการแนวใหม่นี้ ไปใช้ในพื้นที่ระบาดอื่นๆ ในภาคอีสานและภาคเหนือ เพื่อจะนำไปสู่การควบคุมและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับในชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น