xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้กรณีน้ำมันรั่วไม่ต้องตระหนกตุนน้ำปลา 2 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เมื่อ 1 ส.ค.
นักวิชาการชี้ไม่ต้องตระหนกกรณีน้ำมันรั่วจนตุนน้ำปลานาน 2 ปี ชี้อาหารทะเลแถบจันทบุรี ชลบุรีไม่น่าจะได้รับผลกระทบ อีกทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกำลังเก็บตัวอย่าง และอาหารที่ผ่านการตรวจ อย.จะไม่ยอมให้มีสารปนเปื้อนจนเกินกำหนดอยู่แล้ว

จากกรณีข่าวลือในโลกออนไลน์อ้างอาจารย์ด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล แจ้งเตือนให้งดอาหารทะเลจากภาคตะวันออกเป็นเวลา 6 เดือน โดยเฉพาะหอยที่หากินหน้าดินให้งดบริโภคนาน 1 ปี พร้อมแนะให้ตุนน้ำปลาไว้บริโภคเพียงพอ 2 ปี เนื่องจากน้ำปลาต้องผ่านการหมักนาน 12-18 เดือน

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ตรวจสอบข่าวดังกล่าว โดยแหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยมหิดลแจ้งว่า ไม่มีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเตือนเรื่องดังกล่าวตามข่าวลือ อย่างไรก็ดี ทีมข่าวได้ตรวจสอบเพิ่มไปยังนักวิชาการท่านอื่นๆ ว่าอาหารทะเลมีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีจากกรณีน้ำมันรั่วในอ่าวไทยจนต้องงดบริโภคตามที่ลือกันจริงหรือไม่

รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องงดอาหารทะเลจากภาคตะวันออกทั้งหมด โดยแถบชลบุรี จันทบุรีน่าจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่รู้แหล่งที่มาของอาหารทะเลก็ไม่ควรบริโภค อีกทั้งกรมประมงก็มีระบบติดตามและประเมินความปลอดภัยอยู่แล้ว (*แก้ไข)

"ตอนนี้นักวิชาการพยายามตรวจสอบสิ่งมีชีวิตระดับต่างๆ อยู่แล้ว เข้าใจว่าตอนนี้คนกลัวปัญหาระยะยาว ซึ่งแถวๆ จันทบุรี ชลบุรีไม่น่ามีปัญหา แต่คนคงกลัวตรงระยองที่มีการรั่วไหลของน้ำมัน ประเด็นคือสัตว์น้ำมีการสะสมสารพิษตามลำดับขั้น ก็ต้องตรวจดูว่าในอาหารที่เรากินมีสารพิษเกินหรือไม่ แล้วเราก็ควรซื้อของที่มีที่มาที่ไป ตอนนี้แถวเสม็ดอาจขายอาหารทะเลไม่ได้ ก็เห็นใจ แต่คงไม่ร้ายแรงขนาดนั้น" รศ.ดร.เผดิมศักดิ์กล่าว

ส่วนกรณีการตุนน้ำปลานั้น รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ชี้แจงว่า ในขั้นตอนผลิตน้ำปลามีการตรวจสอบตามมาตรฐานขององค์การอาหารละยา (อย.) อยู่แล้ว และมีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานของโรงงาน หากมีสารพิษเกินมาตรฐานยอมไม่ผ่านการตรวจจาก อย.อยู่แล้ว และไม่ต้องตุนน้ำปลาถึง 2 ปี

ด้าน ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า น้ำมันที่รั่วไม่ได้เยอะมาก ต่างจากกรณีอ่าวเม็กซิโก การงดอาหารทะเลและตุนน้ำปลาถึง 2 ปีก็เป็นเรื่องที่ตระหนกเกินไป ผลกระทบไม่น่าจะเป็นวงกว้างขนาดนั้น น่าจะเป็นเรื่องท่องเที่ยวมากกว่าที่ได้รับผลกระทบ ส่วนการทำประมงนั้นเขาออกไปกลางทะเลไกลชายฝั่งอยู่แล้ว

"ตอนนี้หน่วยงานราชการ ทั้งกรมควบคุมมลพิษ และกรมประมงกำลังตรวจสอบตัวอย่างอาหารทะเล อยากให้รอผลตรวจจากทางราชการที่เพิ่งเก็บตัวอย่างไปตรวจดีกว่า คงรออีกไม่กี่วัน น่าจะได้ทราบกัน" ผศ.ดร.สุชนา ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ไม่ต้องตุนน้ำปลาถึง. 2 ปี เพราะในการผลิตมีการตรวจสอบระดับสารพิษอยู่แล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น