xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันวิทย์ฯ จัดงานวันสถาปนาครบรอบ 29 ปี พร้อมรับขวัญน้อง “แสนสุข+สุขใจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล จัดกิจกรรมครบรอบวันสถาปนา 29 ปี พร้อมรับขวัญ “น้องแสนสุข-สุขใจ” เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จทรงเปิดสถาบัน

วันนี้ (24 ก.ค.) ดร.วรเทพ มุธุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี เป็นประธานในพิธีไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หน้าสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ไหว้ศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัย พระพุทธภควัตศาสดามหาวิทยาลัยบูรพาภิมงคล และศาลท่านท้าวมงคลสิน เนื่องในวันครบรอบ 29 ปี วันสถาปนาสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล และเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถาบันวิทยาศสาสตร์ทางทะเล เมื่อวัน 24 กรกฎาคม 2527

พร้อมกันนี้ ได้มีพิธีรับมอบ และรับขวัญ “โลมาแสนสุข-สุขใจ” จากผศ.ดร.วิโรจน์ เรืองประเทืองสุข รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมด้วยอาจารย์เสถียร ปุรณะวิทย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกีฬา นันทนาการ ศิลปะ และวัฒนธรรม และอาจารย์ครรชิต ดอกไม้คลี่ ผู้อำนวยการกองกีฬาและนันทนาการ ที่มอบโลมาให้แก่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล เนื่องจากโลมาแสนสุข-สุขใจ เป็นมาสคอตที่ทางมหาวิทยาลัยบูรพา ใช้ในการแข่งขันกีฬาบุคลากร 2556 หรือบางแสนเกมส์ 32 ทีมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งหลังจากเลิกการแข่งขั้นแล้ว จึงนำมามอบให้แก่ทางสถาบันเพื่อให้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ เพราะเป็นเสมือนตัวแทนของทางมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา หรือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล หรือชื่อที่นิยมเรียกกันว่าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบางแสน เป็นสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งอยู่ในเนื้อที่ของมหาวิทยาลัย ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด

การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 2 ชั้น โดยภายนอกสถาบันมีการแสดงโครงกระดูกวาฬแกลบ ที่ตายในเขตน่านน้ำไทย ชั้นแรกแสดงสัตว์อาศัยบริเวณชายฝั่ง ที่มีปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง เช่น แมงดาทะเล ปลิงทะเล หอยเม่น ดาวทะเล ปูเสฉวน ดอกไม้ทะเล ต่อมา จึงเป็นส่วนของปลาในแนวปะการัง ซึ่งอาศัยอยู่อย่างเกื้อกูลกัน เช่น ปลาการ์ตูนกับดอกไม้ทะเล

ต่อมา เป็นส่วนของสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ปลาเศรษฐกิจ ปลาที่มีพิษ และปลาที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร และบ่อฉลาม โดยเฉพาะในส่วนของปลาที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร ถือได้ว่าเป็นจุดสนใจของสถาบันแห่งนี้มาตลอด เพราะมีการเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ในตู้กระจก มีความจุน้ำถึง 200 ตัน ความหนาของกระจกหนึ่งคืบ เช่น ปลาหมอทะเล ฉลามครีบดำ ซึ่งปัจจุบันได้สร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม สามารถจุน้ำได้ถึง 1,000 ตัน

ชั้นบนจะเป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล ช่วงแรกเป็นการแสดงนิทรรศการถาวร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจทางด้านการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และด้านวิทยาศาสตร์การประมง

ต่อมา เป็นการแสดงถึงเรื่องราวของอาณาจักรสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น แพลงก์ตอน ฟองน้ำ หมึก ต่อมา จึงเป็นส่วนของนิเวศวิทยาทางทะเลและสัตว์ทะเลที่มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทย จัดแสดงเครื่องมือประมง และเรือประมง เป็นต้น และพิพิธภัณฑ์เปลือกหอย




กำลังโหลดความคิดเห็น