น้ำใจของคนไทยมักหลั่งไหลมาในยามวิกฤตเสมอ เช่นเดียวกับวิกฤตคราบน้ำมันที่กำลังกลืนกินชายหาดสวยๆ ในอ่าวไทยอยู่ตอนนี้ ที่มีการระดมขอเศษเส้นผมไปช่วยขจัดคราบน้ำมันไปทั้งโลกออนไลน์ แต่ก็มีนักวิชาการหลายคนออกมาแย้ง
จากกรณีการรั่วของน้ำมันดิบ 50,000 ลิตรบริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบทางชายฝั่งมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อเข้าวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา น้ำมันส่วนหนึ่งถูกซัดไปที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ทำให้ชายหาดที่เคยสวยงามเปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำมันดำๆ สะเทือนจิตใจคนไทยจำนวนมาก
ในมุมของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กให้เหตุผลถึงการใช้เส้นผมกำจัดคราบน้ำมันว่า ใช้ได้เช่นเดียวกับวัสดุอื่นๆ เช่น กระดาษ ฟองน้ำหรือกาบมะพร้าว เป็นต้น แต่ต้องกำจัดให้เหมาะสม การจะนำไปใช้ที่อ่าวพร้าวต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ ส่วนพื้นที่อื่นที่มีการแพร่กระจายของฟิล์มน้ำมันเป็นวงกว้างจะกันได้ลำบาก
สำหรับอาสาสมัครที่อยากช่วย ดร.ธรณ์กล่าวว่าจะการประชุมกันของนักวิทยาศาสตร์ ได้ความเห็นว่าอยากให้ช่วยติดตามก้อนน้ำมันดินที่อาจแพร่กระจายไปตามชายหาดจากบ้านเพถึงแกลง จ.ระยอง ที่มีชายหาดยาว 20-30 กิโลเมตร เนื่องจากฟิล์มน้ำมันจะผสมกับทรายกลายเป็นน้ำมันดิน
อย่างไรก็ดี ในกรณีแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกของ บริษัท บริติช ปิโตรเลียม หรือบีพีระเบิดเมื่อปี 2010 มีการบริจาคผมและเส้นขนสุนัขไปช่วยกำจัดคราบน้ำมัน แต่หลังจากใช้ผมและขนสุนัขกว่า 2 ล้านกิโลกรัม ทางบีพีก็ประกาศยุติการใช้
ลอสแองเจลิสไทม์รายงานว่า เหตุที่บีพียุติการใช้เพราะทางบริษัทต้องรับผิดชอบในการทำตวามสะอาดโดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายอื่นๆ ตามมา แต่ปรากฏว่าบูมเส้นผมและขนสุนัขนั้นไม่ได้ดูดซับแค่น้ำมัน แต้ยังดูดซับน้ำในปริมาณมากและจมลงทะเลไม่นานหลังจากใช้งาน
อ่านเพิ่มเติม
บทความวิชาการ : ภาพรวมแนวทางจัดการน้ำมันรั่วไหล (Oil Spill) ลงสู่ทะเล
โคยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย