ทีมนักวิทยาศาสตร์เผยการศึกษาความสามารถของนกแก้วสายพันธุ์หนึ่งจากอินโดนีเซีย ซึ่งปลดล็อคกลไกอันซับซ้อนของกล่องที่เก็บเม็ดมะม่วงหิมพานต์ได้ เผยให้เห็นอีกหนึ่งความฉลาดอันล้ำลึกของนก
อ้างตามรายงานของ Phys.org ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) อังกฤษ มหาวิทยาลัยเวียนนา (University of Vienna) ออสเตรีย และสถาบันมักซ์พลังก์ (Max Planck Institute) เยอรมนี ได้ศึกษานกกระตั้วกอฟฟิน (Goffin's cockatoos) นกแก้วสายพันธุ์หนึ่งของอินโดนีเซีย ซึ่งไม่ได้รับการฝึกฝนใดๆ แต่พบว่านกเหล่านี้สามารถไขล็อคกล่องที่มีความซับซ้อนได้อย่างง่ายดาย
นกกระตั้วดังกล่าวได้เจอกล่องปริศนาที่มีเม็ดมะม่วงหิมพานต์อยู่ในภายในกล่อง ซึ่งมองเห็นได้ผ่านช่องประตูใส แต่มีอุปกรณ์อินเตอร์ล็อคถึง 5 ชั้นที่เก็บรักษาอาหารของนกไว้ และแต่ละชั้นยังเป็นกลไกที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งการจะเอาเม็ดมะม่วงหิมพานต์ออกมาได้ นกกระตั้วต้องเริ่มจากดึงหมุดออกก่อน ตามด้วยไขน็อตและสลัก แล้วหมุนวงล้อ 90 องศา จากนั้นเลื่อนกลอนไปด้านข้าง จึงจะเปิดประตูกล่องได้
มีนกกระตั้วที่ “ปิปิน” (Pipin) ที่แก้ปัญหาได้โดยไม่มีตัวอื่นช่วยเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ส่วนที่เหลือทำสำเร็จหลังจากการช่วยเหลือด้วยการแสดงให้เห็นชุดล็อคนั้นมีส่วนที่เพิ่มเข้ามาหรือทำสำเร็จได้จากการสังเกตคู่หูที่มีทักษะแก้ล็อคได้ก่อน ซึ่งการศึกษาดังกล่าวทีมวิทยาศาสตร์ได้รายงานลงวารสารพลอสวัน (PLOS ONE)
นักวิทยาศาสตร์สนใจในกระบวนการเผชิญหน้ากับปัญหาของนกกระตั้ว และสงสัยว่าอะไรคือสิ่งที่นกเหล่านั้นรับรู้เมื่อได้แก้ปัญหาทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ พวกเขาพบว่านกกระตั้วทำงานอย่างมุ่งมั่นในการจัดลำดับอุปสรรค แม้ว่าผลตอบแทนจะเป็นแค่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ก็ตาม
ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังชี้ด้วยว่า ดูเหมือนนกกระตั้วจะแก้ปัญหาราวกับใช้กระบวนการรับรู้อย่างเป็นขั้นตอน ทันทีที่พวกมันพบวิธีแก้ปัญหาหนึ่งแล้ว ก็มีโอกาสน้อยที่พวกมันจะเจอเรื่องยากเหมือนอุปกรณ์เดิมอีก หลังจากนกกระตั้วเข้าใจถึงอุปสรรคต่อเนื่องทั้งหมดแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังสังเกตว่านกจะเรียนรู้โดยใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมหรือจะแสดงปฏิกิริยาต่อผลล็อคของแต่ละชั้น
ดร.อลิซ อูร์สเปิร์ก (Dr.Alice Auersperg) หัวหน้าทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการกอฟฟิน (Goffin Laboratory) มหาวิทยาลัยเวียนนา หลังจากแก้ปัญหาเริ่มต้นแล้ว พวกเขาได้สร้างสถานการณ์ให้นกแก้ไขใหม่ โดยมีการสลับลำดับของล็อค เอาออกหรือไม่ก็ทำให้พัง ซึ่งผลการวิเคราะห์เชิงสถิติพบว่า นกแสดงปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีที่เจอสถานการณ์ปัญหาใหม่
ด้าน ศ.อเล็กซ์ คาเซลนิก (Prof.Alex Kacelnik) จากภาควิชาสัตววิทยา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งร่วมในการศึกษาครั้งนี้ด้วยกล่าวว่า พวกเขายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า นกกระตั้วเข้าโครงสร้างกายภาพของปัญหาที่เจออย่างที่มนุษย์ผู้ใหญ่เข้าใจหรือไม่ แต่สิ่งที่พอจะสรุปได้จากพฤติกรรมคือ นกรับรู้ได้ไวถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างวัตถุ และเรียนรู้ที่จะเดินหน้าแก้ปัญหาอันยากลำบากเพื่อเป้าหมายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
ส่วน ดร.ออสกัสเต วอน บาเยิร์น (Dr.Auguste von Bayern) ผู้ร่วมศึกษาอีกคนจากออกซ์ฟอร์ด ให้ความเห็นว่า การแก้ปัญหาของนกกระตั้วนั้นได้แรงสนับสนุนจากลักษณะเฉพาะของสปีชีส์เอง อย่างเช่น ความขี้สงสัย เทคนิคการรับรู้จากการสำรวจ และความดื้อรั้น โดยพบว่าพวกมันสำรวจวัตถุไปรอบๆ ด้วยปาก ลิ้น และตีน การสำรวจแบบธรรมดาๆ อยากทำให้ไม่เคยเห้นว่า พวกมันสามารถไขล็อคได้ด้วย